ปัดตก 435 ล้าน! กสทช. ยัน "เอกชน" ซื้อเองให้บริหารหารายได้เอง

กีฬา
18 ก.ค. 67
09:36
570
Logo Thai PBS
ปัดตก 435 ล้าน! กสทช. ยัน "เอกชน" ซื้อเองให้บริหารหารายได้เอง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อีกเพียงสัปดาห์เดียว มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 จะเปิดฉากขึ้น บริษัทเอกชนโปรโมตแล้วว่าจะมีถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีบางช่อง แต่มีข้อสังเกตว่าเหตุใดการกีฬาแห่งประเทศไทยจึงเสนอขอเงินสนับสนุน จากกองทุน ของ กสทช. แต่ล่าสุดบอร์ด กสทช.ไม่อนุมัติ

วันนี้ (18 ก.ค.2567) ภาพของ หยู บัลลังก์ จอมเตะดาวรุ่ง เทควันโดทีมชาติไทย ยืนคู่กับหอไอเฟล พร้อมกับสัญลักษณ์โอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 หรือจะเป็นดาวเด่น อย่าง เทสนิส ภานิภัค บนป้ายอิเล็กทรอนิกส์ รายงานสภาพการจราจร หรือ ภาพของ บาส เดชาพล นักกีฬาแบดมินตัน ที่อยู่บนอาคารห้างสรรพสินค้ากลางกรุง เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการโปรโมตทำการตลาดของเอกชนผู้ถือลิขสิทธิ์ในไทย และยังจับมือกับฟรีทีวีบางช่องเตรียมถ่ายทอดสดตลอดการแข่งขัน

ก่อนหน้านี้มีการแถลงข่าวบริษัทแพลนบี อีเลฟเว่น ผู้ร่วมบริหารสิทธิการถ่ายทอดสดการแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 และสิทธิบริหารงานทางการตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ร่วมกับ เดนท์สุ อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล มาแล้ว

นำมาสู่มติอย่างเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ของ บอร์ด กสทช. เมื่อวานนี้ (17 ก.ค.) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดไม่เห็นชอบในการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 17 ตามที่การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ขอรับการสนับสนุน จากกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กองทุน กทปส. จำนวน 435 ล้านบาท

เนื่องจากเห็นว่า การซื้อลิขลิทธิ์ถ่ายทอดครั้งนี้ ได้มีเอกชนได้ไปซื้อสิทธิมาแล้ว ก็เป็นเรื่องที่เอกชนผู้ได้ลิขสิทธิ์ จะนำสิทธิไปบริหารจัดการทางด้านการตลาดเพื่อหารายได้เอง แต่เอกชนก็ต้องปฏิบัติตามกฎ Must Have ที่ต้องนำมาถ่ายทอดสดออกฟรีทีวีด้วย และชี้แจงเหตุผล คือ การไม่อนุมัติเงิน กทปส.ต้องไม่กระทบการถ่ายทอด ตามกฎ Must Have และกฎ Must Carry

เพราะข้อเท็จจริงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า บริษัท แพลน บี ได้ร่วมกันดำเนินการกับผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน จำนวน 4 ช่อง และได้มีการขายสิทธิในการออกอากาศให้กับ 2 ค่ายมือถือ เพื่อนำไปออกอากาศในกล่อง IPTV แล้ว 2 ค่ายนี้ก็ส่งหนังสือขออนุญาตออกอากาศกับ กสทช.แล้ว ดังนั้น ประชาชนมีทางเลือกเข้าถึงได้

ในทางตรงข้าม ถ้าอนุมัติเงินจะเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดที่ดำเนินอยู่แล้ว เพราะจะบังคับให้ต้องออกอากาศทุกช่องทีวี ทุกช่องทาง ขณะเดียวกับ กองทุน กทปส.ที่ผู้รับใบอนุญาตทุกรายมีหน้าที่ส่งเงินกองทุน แต่นำไปสนับสนุนเฉพาะบางช่องของ กกท.จะเอื้อประโยชน์ให้เอกชน และไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบกิจการทั้งระบบ

ที่สำคัญ การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกม และการแข่งขันพาราลิมปิกเกม เป็นหน้าที่และภารกิจหลักของ กกท. และกองทุนพัฒนาการกีฬาฯ ที่กำหนดไว้ชัดเจน ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 และถ้าจะอ้างว่าไม่กำหนดในแผนงาน กกท. หรือ กองทุนพัฒนาการกีฬาฯ ฟังไม่ขึ้น เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะจัดทุก ๆ 4 ปี

มีรายงานด้วยว่าการขอเงินสนับสนุนครั้งนี้ กกท.ขอในครั้งแรก 800 ล้านบาท ต่อมาได้ลดวงเงินเหลือ 435 ล้านบาท ทำให้บอร์ดบางคนมีความสงสัยถึงวงเงินที่ลดลง ซึ่งทาง กกท. ได้ชี้แจงว่า จากการเจรจากับเอกชนในหลายภาคส่วนรวมถึงช่องทีวีเห็นว่าจะสามารถออกเงินได้ส่วนหนึ่ง และขอให้ภาครัฐสนับสนุนเหลือวงเงิน 435 ล้านบาท เนื่องจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ของ กกท.ขาดสภาพคล่อง มีงบประมาณไม่เพียงพอ

อ่านข่าวอื่น :

ย้อนอดีต "ความภาคภูมิใจ" ทัพนักกีฬาไทยคว้าชัย "โอลิมปิก"

เรื่องน่ารู้ "ปารีสเกมส์ 2024" ฝรั่งเศสเจ้าภาพโอลิมปิก ครั้งที่ 3 ในรอบ 100 ปี

Paris 2024 ศตวรรษแห่งการเฉลิมฉลอง "โอลิมปิก" ครั้งที่ 33

ข่าวที่เกี่ยวข้อง