ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กมธ.วิสามัญฯไม่ตัดนิรโทษกรรม ม.112 - สรุป 3 แนวทางให้สภาฯพิจารณา สิ้น ก.ค.นี้

การเมือง
18 ก.ค. 67
18:46
840
Logo Thai PBS
กมธ.วิสามัญฯไม่ตัดนิรโทษกรรม ม.112  - สรุป 3 แนวทางให้สภาฯพิจารณา สิ้น ก.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กมธ.วิสามัญ ศึกษาการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เตรียมสรุปรายงานส่งที่ประชุมสภาฯ พิจารณาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ยังไม่ตัดการนิรโทษ ม.112 แจง 3 แนวทางให้สภาฯพิจารณา

วันนี้ (18 ก.ค.2567) นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. และนายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. ร่วมแถลงภายหลังการประชุม กมธ. ถึงความเห็นเกี่ยวกับตรา พ.ร.บ.เพื่อนิรโทษกรรม โดยระบุว่า ขณะนี้ได้ข้อยุติเกือบทั้งหมดแล้ว สรุปได้คือ

1.ควรมีการนิรโทษกรรมการกระทำที่มีเหตุแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีคำนิยามความผิดที่ชัดเจน โดยจะกำหนดในภาพผนวกแนบท้ายรายงาน ซึ่งมติในที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์

2.ที่ประชุมมีมติในกรณีความผิดต่อชีวิต และความผิดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่นความผิดกรณีตาม ม.288 และ ม.289 ไม่รวมเข้ามาอยู่ในการนิรโทษกรรม เนื่องจากเป็นการประทุษร้ายต่อชีวิต ไม่ใช่การกระทำผิดต่อรัฐฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการทำให้บุคคลล้มตาย

3.ความผิดที่เกี่ยวกับ ประมวลกฎหมายอาญา ม.110 และ ม.112 คณะกรรมาธิการเห็นว่า เป็นความผิดที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง และการทำงานของกรรมการเป็นการศึกษาหาแนวทางตรากฎหมาย จึงมีมติว่า ไม่โหวตว่าชนะ-แพ้ แต่จะส่งความเห็นทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรกเห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรม ประเภทที่ 2 ให้นิรโทษกรรมโดยไม่มีเงื่อนไข และประเภทที่ 3 ให้นิรโทษกรรมแบบมีมาตรการเงื่อนไข เช่น ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาให้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ และมาตรการป้องกันกระทำความผิดซ้ำซึ่งจะชี้แจงในเอกสารรายงาน

โดยรวมคณะกรรมการเห็นว่า เรามีหน้าที่ศึกษา เราควรจะส่งความเห็นทั้งหมด ให้สภาฯ เพื่อพิจารณา แล้วเห็นเป็นประการใดก็สุดแล้วแต่ แต่ไม่ปิดกั้นความเห็นของฝ่ายใด และท้ายที่สุดได้มอบหมายให้เลขานุการได้จัดทำรายงานในสัปดาห์หน้ามาตรวจสรุปรายงาน คาดว่าจะจะส่งรายงานทันภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้

ส่วนนายชัยธวัช ตุลาธน สส. พรรคก้าวไกล ระบุว่า หลังจากนี้แต่ละพรรคการเมืองจะกลับไปทำร่างกฎหมายในแบบฉบับของตนเอง โดยนำข้อมูลข้อเสนอและความเห็น ทั้งความเห็นที่เป็นเอกภาพหรือความเห็นต่างร่างเป็นกฎหมาย ส่วนการส่งให้สภาฯพิจารณาคงจะเป็นการลงมติรับรายงานหรือไม่ พร้อมกับให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อรายงาน

ส่วนการนิรโทษกรรมตาม ม.112 และ ม.110 อาจจะต้องมีการพิจารณาถึงเงื่อนไขมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ได้มีความเห็นและเสนอเป็นรูปธรรม โดยได้รับมอบหมายจากประธานให้ไปรวบรวมความเห็นให้มาประกอบรายงานในสัปดาห์หน้า เช่น การที่นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไขจะต้องแถลงข้อเท็จจริงของผู้กระทำผิดว่าเหตุใดกระทำการเช่นนั้นมีแรงจูงใจทางการเมืองอย่างไร หรืออาจถูกซักถามว่ามีบุคคลใดอยู่เบื้องหลังหรือไม่ รวมถึงเปิดโอกาสให้คู่กรณีให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง 

จะเป็นความเห็นในฝั่งที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ซึ่งตนเองเห็นว่า ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่มีความสำคัญ เนื่องจากว่าการนิรโทษกรรมในคดี ม.112 ต้องยอมรับว่า มีข้อถกเถียงพอสมควร แต่รายละเอียดที่เกี่ยวข้องหากจะยอมนำมาพิจารณาว่านิรโทษกรรมหรือไม่ โดยมีการลงรายละเอียดควรมีตัวอย่างการกำหนดเงื่อนไข หรือมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำน่าจะเป็นข้อดีซึ่งเป็นข้อเสนอใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทยเพื่อให้ฝ่ายที่เห็นต่างได้พิจารณาและอาจยอมรับได้

นายชัยธวัช ระบุว่า ส่วนตัวเชื่อว่า หลังจากที่กรรมาธิการได้นำเสนอรายงานและสภาได้พิจารณาแล้ว คิดว่า อาจจะมีหลายพรรคการเมืองยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของแต่ละพรรค ซึ่งหลังจากนี้ร่างของพรรคก้าวไกลจะหารือที่ประชุม สส.พรรค และปรับปรุงร่างให้สอดคล้องกับรายงานกรรมาธิการ

หลักการใหญ่เห็นด้วยตรงกันว่า การนิรโทษกรรมจะเป็นมาตรการคลี่คลายความขัดแย้ง แต่อาจจะเห็นไม่ตรงกันในรายละเอียดในบางอย่าง 

ขณะเดียวกันนายนิกร จำนง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการเปิดเผยว่า ได้เตรียมจัดทำรายงาน 3 เล่ม เสนอต่อที่ประชุมสภา ประกอบไปด้วย 1.สถิติข้อมูลเกี่ยวกับความผิด 2.การจำแนกคดี 3.เหลือเล่มกลางของที่ประชุมกรรมาธิการชุดใหญ่ ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการลงโทษ ม.112 ให้กรรมาธิการทุกคนให้ความเห็นและบันทึกไว้

อ่านข่าว : ปธ.อนุฯนิรโทษกรรม จำแนกคดีนิรโทษกรรม 4 ช่วงเวลา 

"กมธ.นิรโทษกรรม" เห็นพ้อง ต้องยุติความขัดแย้งทางการเมือง 

ภาค ปชช.ตั้งเป้า 10,000 รายชื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง