ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้ไว้! ขั้นตอนแจ้งความคดีออนไลน์ เมื่อเสียรู้ให้แก๊งคอลเซนเตอร์

อาชญากรรม
22 ก.ค. 67
13:50
28,616
Logo Thai PBS
รู้ไว้! ขั้นตอนแจ้งความคดีออนไลน์ เมื่อเสียรู้ให้แก๊งคอลเซนเตอร์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปชช.มักเข้าใจว่าช่องทางการแจ้งความเกี่ยวกับ "ภัยออนไลน์" นั้นมี 2 ช่องทางคือ เข้าพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจ และ ทางออนไลน์ แต่ขั้นตอนหลังจากนั้น ยังมีอีกมากมายและอาจสร้างความสับสนได้ ชวนทำความเข้าใจกันแบบถี่ยิบเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องกัน!

ทั้งนี้บทความนี้ขออนุญาตใช้ภาษาไม่เป็นทางการ เพื่อความเข้าใจอย่างง่ายต่อผู้อ่าน บนข้อมูลอย่างเป็นทางการของ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 และ สำเนาคำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.2566 (รับแจ้งคดีออนไลน์) ทั้งหมด

ก่อนอื่นทุกคนต้องรู้ก่อนว่าความผิดประเภทใดบ้างที่เรียกว่า "อาชญากรรมทางเทคโนโลยี" ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 กำหนดไว้ทั้งหมด 14 ประเภท ซึ่งจะทำให้เจ้าทุกข์หรือผู้เสียหายสามารถแจ้งความทั้งที่ สน.-สภ. โทรสายด่วน หรือเข้าเว็บไซต์ ได้อย่างถูกต้อง ไม่สับสน

  1. ผิด พรบ.คอมฯ เพื่อ ฉ้อโกง กรรโชก รีดเอาทรัพย์ หรือ เสียหายทางทรัพย์สินอื่น
  2. ผิด ฉ้อโกง กรรโชก หรือ รีดเอาทรัพย์ โดยใช้ ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ

จากข้อกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้คดีข่าวลวง, คุกคามทางเพศ หรือ หมิ่นประมาท ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียกรับเงินหรือทรัพย์สิน และคดีกู้เงินเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา (รวมถึงโทรคุกคามตามทวงหนี้) จะไม่อยู่ในความหมายของ พ.ร.ก.การสอบสวนต้องทำในท้องที่เกิดเหตุ และต้องปรับในระบบเป็นคดี "อาญาทั่วไป"

เมื่อทุกคนรู้แล้วว่าความเสียหายที่เกิดนั้นเข้าข่าย พ.ร.ก. แล้วก็สามารถ "เลือกทางใดทางหนึ่ง" แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนได้

แจ้งความคดีออนไลน์กรณี Walk in ไปยังสถานีตำรวจด้วยตัวเอง

  1. เจ้าทุกข์เดินทางไปแจ้งความคดีออนไลน์ทุกประเภทที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน
  2. พนักงานสอบสวนรับดำเนินการ
    • รับคำร้องทุกข์
    • สอบถามเจ้าทุกข์ว่าได้แจ้งธนาคารให้อายัดบัญชีแล้วหรือไม่
      • กรณีเจ้าทุกข์แจ้งธนาคารแล้วและเดินทางมาสถานีตำรวจภายใน 72 ชม. พนักงานสอบสวนจะรับคำร้องทุกข์และแจ้งธนาคาร (ผ่านระบบระหว่างตำรวจ-ธนาคาร) และดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีดังกล่าวภายใน 7 วัน
      • กรณีเจ้าทุกข์แจ้งธนาคารแล้ว แต่เดินทางมาสถานีตำรวจเกิน 72 ชม. พนักงานสอบสวนแจ้งว่าธนาคารอาจยกเลิกการอายัดบัญชีนั้น 
      • กรณียังไม่ได้แจ้งธนาคาร ให้เจ้าทุกข์รีบโทรแจ้งธนาคารก่อน จากนั้นพนักงานสอบสวนจึงดำเนินการต่อได้ภายใน 7 วัน
  3. พนักงานสอบสวนบันทึกปากคำเจ้าทุกข์
  4. พนักงานสอบสวนลงข้อมูลในระบบรับแจ้งความเพื่อออกเลข Case ID (ไม่ใช่เอกสารแจ้งความ หรือ บันทึกประจำวันอิเล็กทรอนิกส์)
  5. พนักงานสอบสวนออกเอกสาร ลงลายมือชื่อผู้รับแจ้งความ มอบให้เจ้าทุกข์เป็นหลักฐานการรับคำร้อง
  6. พนักงานสอบสวนแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัญชีที่รับแจ้งไว้ผ่านระบบของตำรวจ-ธนาคาร 
  7. พิจารณาดำเนินการอายัดบัญชี
  8. พิจารณาลักษณะคดี*
    คำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.66

    คำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.66

    คำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.66

แจ้งความคดีออนไลน์กรณีออนไลน์และเลือกสถานีตำรวจ

  1. เจ้าทุกข์ โทรสายด่วน 1441 หรือเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือ www.thaipoliceonline.com  (2 เว็บไซต์นี้ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว) แจ้งความคดีออนไลน์ และเลือกหน่วยงานที่ต้องการไปพบพนักงานสอบสวนซึ่งมี 3 แห่ง ได้แก่  
    • สถานีตำรวจ (สน. หรือ สภ.)
    • กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
    • กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บก.ปอท.)
      แต่การจะเลือกได้นั้น ต้องรู้ก่อนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นลักษณะคดีออนไลน์ประเภทใด*
  2. เจ้าทุกข์โทรแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัญชี และ "รอ" การนัดหมายจากพนักงานสอบสวน
  3. "แอดมินตำรวจ" (มีตำแหน่งนี้อยู่จริง) ตรวจสอบข้อมูลในระบบตลอด 24 ชม. เมื่อมีคดีในระบบต้องพิจารณาว่าเป็นคดี 1 ใน 14 คดีออนไลน์ตาม พ.ร.ก. หรือไม่ (ขั้นตอนของเจ้าพนักงาน) 
  4. ผู้บริหารคดีที่สถานีตำรวจ แยกประเภทคดีเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยที่รับผิดชอบ (ขั้นตอนของเจ้าพนักงาน) 
  5. พนักงานสอบสวนดำเนินการทันที (ผ่านทางโทรศัพท์) ดังนี้
    • กรณีเจ้าทุกข์ แจ้งอายัดบัญชีธนาคารเรียบร้อยแล้ว และข้อมูลในระบบที่แจ้ง 1441 หรือเว็บไซต์ ครบถ้วน พนักงานสอบสวนจะแจ้งไปยังธนาคารผ่านระบบของตำรวจ-ธนาคาร ถึงการร้องทุกข์ (ว่าเป็นความจริง ไม่ได้แจ้งความเท็จ) 
    • กรณีเจ้าทุกข์ แจ้งอายัดบัญชีธนาคารเรียบร้อยแล้ว และข้อมูลในระบบที่แจ้ง 1441 หรือเว็บไซต์ ไม่ครบถ้วน พนักงานสอบสวนจะแจ้งเจ้าทุกข์ให้เพิ่มเอกสารที่ขาดไปก่อน แล้วจึงแจ้งธนาคารให้อีกครั้ง
    • กรณีเจ้าทุกข์ ไม่ได้แจ้งอายัดบัญชีธนาคาร พนักงานสอบสวนจะบอกให้เจ้าทุกข์รีบแจ้งไปยังธนาคารก่อน จากนั้นพนักงานสอบสวนจึงดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
  6. นัดหมายเจ้าทุกข์มาบันทึกปากคำภายใน 7 วัน
  7. พนักงานสอบสวนลงข้อมูลในระบบรับแจ้งความเพื่อออกเลข Case ID (ไม่ใช่เอกสารแจ้งความ หรือ บันทึกประจำวันอิเล็กทรอนิกส์)
  8. พนักงานสอบสวนออกเอกสาร ลงลายมือชื่อผู้รับแจ้งความ มอบให้เจ้าทุกข์เป็นหลักฐานการรับคำร้อง
  9. พนักงานสอบสวนแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัญชีที่รับแจ้งไว้ผ่านระบบของตำรวจ-ธนาคาร
  10. พิจารณาดำเนินการอายัดบัญชี
  11. พิจารณาลักษณะคดี*
    คำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.66

    คำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.66

    คำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.66

*พิจารณาคดีเพื่อส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง

"อาชญากรรมทางเทคโนโลยี" นั้นมีหลากหลายประเภท แต่ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 กำหนดไว้ทั้งหมด 14 ประเภทเท่านั้น และมีการแบ่งแยกหน่วยงานที่รับผิดชอบตามจุดประสงค์การก่อตั้งหน่วยต่าง ๆ ขึ้นมา

สำหรับสิ่งที่ประชาชนควรรู้ไว้คือ เมื่อความเสียหายเกี่ยวกับภัยออนไลน์เกิดขึ้นแล้วนั้น ต้องรู้ว่าคดีของตนเองอยู่ในประเภทใด เพื่อที่จะตามคดี หรือ ไปตามนัดสืบสวน-สอบสวน ได้ทันท่วงทียิ่งขึ้น 

7 คดีของหน่วยพื้นที่ สถานีตำรวจ สน.-สภ. 

  1. หลอกซื้อขายสินค้า/บริการที่ไม่เป็นขบวนการ
  2. หลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน
  3. หลอกให้รักแล้วโอนเงิน 
    คดีที่ 1-3 สอบสวนและสืบสวนที่ สน.-สภ. ระดับรองสารวัตรขึ้นไปรับผิดชอบ 
  4. หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล
  5. หลอกให้กู้เงิน
    คดีที่ 4-5 สอบสวนที่ สน.-สภ. สืบสวนที่กองบังคับการ หรือ ตำรวจภูธรประจำจังหวัด ระดับสารวัตรขึ้นไปรับผิดชอบ

  6. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ
  7. ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน
    คดีที่ 6-7 สอบสวนที่ สน.-สภ. สืบสวนที่กองบัญชาการ หรือ ตำรวจภูธรภาค ระดับสารวัตรขึ้นไปรับผิดชอบ

6 คดีของ บช.สอท.

  1. Hack ระบบคอมพิวเตอร์
  2. Ramsomware 
  3. หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมเพื่อควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์
  4. หลอกเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
  5. หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์
  6. หลอกซื้อขายสินค้า/บริการที่เป้นขบวนการ 
    คดีที่ 1-6 ให้ส่งให้ สอท. รับผิดชอบสอบสวน หรือ สน.-สภ.จะรับผิดชอบเองก็ได้ 

1 คดีของ บก.ปอท. หรือ สอบสวนกลาง

  1. หลอกให้ลงทุนที่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ 
    ให้ส่งให้ ปอท. รับผิดชอบสอบสวน หรือ สน.-สภ.จะรับผิดชอบเองก็ได้
คำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.66

คำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.66

คำสั่ง ตร. ที่ 182-2566 ลง 17 มี.ค.66

สรุปให้อีกครั้ง ถ้าเกิดความเสียหายจากคดีออนไลน์แล้ว ให้เจ้าทุกข์หรือผู้เสียหายโทรแจ้งธนาคารอายัดบัญชีก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นเก็บหลักฐานความเสียหายทั้งหมด ไปแจ้งความ โดยเลือกเพียงแค่ช่องทางเดียว จะเดินทางไปด้วยตัวเองที่สถานีตำรวจ, จะแจ้งทางสายด่วน 1441 หรือ เว็บไซต์ ก็ได้ แต่อย่าแจ้งซ้ำซ้อนหลายช่องทาง จะทำให้เกิดความสับสนของคดีและล่าช้าเข้าไปอีก 

เมื่อได้ใบ Case ID แล้ว เจ้าทุกข์ไม่จำเป็นต้องนำใบ Case ID เดินทางไปยังธนาคารอีก ย้ำอีกครั้ง "ไม่จำเป็น" เพราะตามข้อมูล พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ระบุไว้ชัดเจนว่า เจ้าพนักงานจะดำเนินการแจ้งอายัดครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการยืนยันการแจ้งความของเจ้าทุกข์ ผ่านระบบของตำรวจ-ธนาคารเอง (ครั้งแรกเจ้าทุกข์โทรเองตอนแรกก่อนไปแจ้งความไง)  

สุดท้ายแล้ว การไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรไซเบอร์หรือแก๊งคอลเซนเตอร์ คือการตัดตอนขั้นตอน-กระบวนการที่แสนจะยุ่งยากเหล่านี้ หน่วยงานราชการไม่ว่าจะเป็น ทหาร ตำรวจ การไฟฟ้า การประปา กรมที่ดิน กรมสรรพากร ฯลฯ จะไม่มีการโทรศัพท์หรือส่งข้อความ แจ้งข่าวใด ๆ ทั้งสิ้น จะใช้เพียงเอกสารตราครุฑ และส่งไปยังที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้าน เท่านั้น แต่หากมีมิจฉาชีพส่งเอกสารตราครุฑปลอมไปให้ ให้โทรกลับไปยังหน่วยงานนั้น ๆ หรือเดินทางไปด้วยตนเอง อย่าสแกนคิวอาร์โค้ด หรือกดลิงก์ใด ๆ ทั้งสิ้น 

รวมถึงการหาแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และแสดงแหล่งที่มาของข้อมูลได้ชัดเจน

หากสงสัยให้โทรสอบถาม 1441 หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจใกล้บ้าน จะดีและครบถ้วนที่สุด เพื่อลดความเสียหายซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อได้ข้อมูลไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วน

อ่านข่าวอื่น :

"กองสรรพาวุธ" ยืนยันไม่เคยจัดซื้อ "เกราะไม้อัดกันกระสุน"

พี่สาวรับศพ “รองหรั่ง” เปิดใจน้องชายทำเต็มที่ ไม่โกรธทุกฝ่ายสูญเสีย 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง