จากกรณีการขึ้นป้ายโฆษณาซื้อขายสัญชาติบริเวณย่านห้วยขวาง และต่อมาได้ตรวจสอบพบว่าไม่ได้ขออนุญาตติดตั้ง ไม่มีการเสียภาษีป้าย และผู้รับงานมาเป็นชาวจีน
วันนี้ (23 ก.ค.2567) พล.ต.ต.เชิงรณ ริมผดี ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (ผบก.ตม.2) และโฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย ยังไม่เคยจับกุมกลุ่มบุคคลที่ลักลอบทำหนังสือเดินทางปลอมภายในประเทศ มีเพียงการจับกุมผู้ที่ใช้หนังสือเดินทางปลอมผ่านทางด่านตรวจคนเข้าเมืองของสนามบิน ซึ่งหนังสือเดินทางปลอมส่วนใหญ่คือของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศทางฝั่งยุโรป
สำหรับการขึ้นป้ายโฆษณาซื้อขายสัญชาติที่บริเวณแยกห้วยขวางนั้น มีข้อสังเกต 2 ประเด็น คือ การซื้อขายหนังสือเดินทางลักษณะนี้ผิดหรือไม่ เพราะการจะซื้อหนังสือเดินทางประเทศใดได้นั้นหมายความว่าบุคคลดังกล่าวต้องได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองสัญชาตินั้นมาก่อนแล้ว ซึ่งตรงนี้จะเป็นเอกสิทธิของรัฐบาลแต่ละประเทศว่าจะรับบุคคลเหล่านี้เป็นพลเมืองหรือไม่ และการขึ้นป้ายก็ต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลของทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งปรากฏอยู่บนป้ายโฆษณาจะสามารถรับคนต่างชาติเข้าไปเป็นพลเมืองหรือไม่
พล.ต.ต.เชิงรณ ยืนยันว่า การซื้อขายสัญชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะพบเห็นการประกาศมานานแล้วในต่างประเทศ แต่อาจเป็นครั้งแรกที่พบเห็นในไทย ส่วนประเด็นข้อ 2 คือการขึ้นป้ายแบบนี้ผิดกฎหมายหรือไม่ ส่วนนี้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองต้องพิจารณาก่อนว่าการขึ้นป้ายดังกล่าวมีเจตนาหลอกลวงหรือไม่ หากเป็นการหลอกลวงซื้อไปแล้วไม่ได้สัญชาติจริง ก็เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย แต่ต้องให้ผู้เสียหายเข้าแจ้งความในข้อหาฉ้อโกงประชาชน เบื้องต้นชุดสืบสวนได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นหญิงชาวจีน เจ้าตัวอ้างว่าเป็นเพียงผู้ประสานงานจากผู้ว่าจ้างซึ่งอยู่ที่ฮ่องกงเท่านั้น
ที่ผ่านมาพบข้อมูลว่าประเทศในแถบหมู่เกาะทะเลแคริบเบียน เป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่นิยมขายหนังสือเดินทางสัญชาติตัวเอง โดยกรณีนี้เจ้าหน้าที่จะตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่ามีเจตนาที่ไม่สุจริต ทางด่านตรวจคนเข้าเมืองจึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.2567 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่มีการปฏิเสธการเข้าเมืองของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไปแล้วประมาณ 1,000 คน
สำหรับประเทศที่เปิดให้ซื้อขายสัญชาติ 8 ประเทศนั้น ประกอบด้วย ตุรกี โดมินิกา แอนติกาและบาร์บูดา เกรนาดา เซนต์คิสและเนวิส มอนเตเนโกร มอลตา และไซปรัส ส่วนสาเหตุที่มีคนต้องการซื้อขายนั้น มองว่ามาจากการที่หากบุคคลใช้หนังสือเดินทางของประเทศนั้น ๆ อาจทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่าง เช่น การเดินทางต่อไปยังประเทศอื่น สิทธิได้รับการยกเว้นภาษี สิทธิการประกอบธุรกิจในประเทศนั้น แต่อาจมาจากการพยายามปลอมแปลงตัวตนแทนวิธีการปลอมแปลงพาสปอร์ต แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันธุรกิจการซื้อขายสัญชาติมีแนวโน้มเติบโตในต่างประเทศเป็นอย่างมาก
อ่านข่าว : ซื้อ-ขายพาสปอร์ต "นายกฯ" ย้ำต้องตรวจสอบรอบคอบ
ปลดป้าย "ซื้อขายพาสปอร์ต" กลางแยกห้วยขวาง
"อนุทิน" จี้สอบป้ายโฆษณาขายพาสปอร์ต ยันผิดกฎหมาย
ปัดจนท.เอี่ยวป้ายขายสัญชาติ-พาสปอร์ต เอาผิดหลายข้อหา