พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระราชสำนัก
27 ก.ค. 67
12:26
3,026
Logo Thai PBS
พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ

ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ในวันที่ 14-15 กันยายน พ.ศ.2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

การศึกษา

ขณะทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้น ณ พระที่นั่งอุดรภาค บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ก่อนจะย้ายไปยังศูนย์จิตรลดา พระราชวังดุสิตในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ.2509 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษา ณ โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ สหราชอาณาจักร และโรงเรียนมิลฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซอมเมอร์เซท จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษา ในปีพุทธศักราช 2513

หลังจากนั้น ทรงเข้ารับการศึกษา ระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ เครือออสเตรเลีย ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2513 และทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารชั้นสูง ที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา นครหลวงของออสเตรเลีย ระหว่างปี พ.ศ.2515-2519 ทรงได้รับการถวายสัญญาบัตร จากวิทยาลัยการทหารดันทรูน และปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมในพิธีด้วย

เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เฉลิมพระราชอิสริยยศขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่ 3 ของไทย เพื่อรับราชสมบัติปกครองราชอาณาจักรสืบสนองพระองค์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515

นอกจากนี้ยังทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 พ.ศ.2520 และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยทรงสำเร็จการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 และยังคงศึกษาต่อที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

จากพระอัจฉริยภาพและความสนพระราชหฤทัยด้านการบินและอากาศยาน จึงทรงเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหาร ด้านการบินหลายหลักสูตร อาทิ เครื่องบินปีกหมุนหรือเฮลิคอปเตอร์

รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับการฝึกและศึกษาตามโครงการของกองทัพบก สหรัฐอเมริกา ณ ฟอร์ตแบรกจ์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา หลักสูตรนักบินพร้อมรบขั้นพื้นฐาน ไอพ่น T-33 นักกองบิน 1 ฝูงบิน 101 หลักสูตรการบินขับไล่พื้นฐาน หลักสูตรการบินขับไล่ขั้นสูงแบบ F-5E/F ณ ฐานทัพอากาศวิลเลียมส์ (Williams Air Force Base) รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา รวมทั้งหลักสูตรการบินรบขั้นสูง และทรงทำการบินเครื่องบินขับไล่ F-5E เข้าแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี

นอกจากนี้ยังทรงศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์ ทรงได้รับใบอนุญาตเป็นกัปตันเครื่องบินโบอิ้ง 737 ด้วยความสนพระราชหฤทัย และพระวิริยะอุตสาหะ ทำให้ทรงมีพระปรีชาชาญด้านการบินทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จนได้รับการขนานพระนามให้เป็นเจ้าฟ้านักบิน

ทรงพระผนวช

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2521 ทรงพระผนวช ณ พัทธสีมา พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ และได้ประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร โดยทรงศึกษาพระธรรมเป็นเวลา 15 วัน จึงทรงลาสิกขา

พระราชกรณียกิจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ทั้งด้านงานพระราชพิธีต่าง ๆ ด้านการศาสนา การชลประทาน การแพทย์และสาธารณสุข การศึกษา ด้านสังคมสงเคราะห์ การเกษตร การกีฬา การทหาร และการต่างประเทศ

เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนีมาโดยตลอด ด้วยพระวิริยะอุตสาหะและด้วยความมุ่งมั่นตั้งพระราชหฤทัยอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ล้วนเพื่อความเจริญก้าวหน้ามั่นคงของประเทศชาติ และเพื่อความผาสุกของประชาชนชาวไทย

พระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต วันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้นำความกราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2559 และได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562 โดยได้พระราชทาน พระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง