วันนี้ (27 ก.ค.2567) องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period)
ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2535
น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า การที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ถือเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ต่อจากนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี และเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่ได้รับการประกาศในปีที่ผ่านมา
โดยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก ภายใต้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรม สีมาหินสมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสีในเวลาต่อมา
จึงขอเชิญชวนให้ชาวไทยทั่วประเทศร่วมแสดงความยินดี และเฉลิมฉลองในโอกาสที่ภูพระบาทได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม จะพยายามผลักดันให้เกิดแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ อย่างต่อเนื่อง
น.ส.สุดาวรรณ กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ระหว่างวันที่ 28 ก.ค.-12 ส.ค.2567 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน ภูพระบาทเป็นมรดกโลกในครั้งนี้
ภูพระบาท ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ประกอบด้วย
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล
ข้อที่ 3 คือสามารถอนุรักษ์ก ลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่มีจำนวนมาก และเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยใบเสมาดังกล่าว มีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบ และศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
และเกณฑ์ข้อที่ 5 ภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และยังคงความสำคัญของกลุ่มใบเสมาหิน โดยความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญญวาสี (พระป่า)
ภูพระบาทจึงเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมของอรัญวาสีมาถึงปัจจุบัน
ด้าน นายนมัสวิน นาคศิริ นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เปิดเผยว่า การเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.อุทยานฯ ภูพระบาท ได้ปรากฏวัฒนธรรมเสมา ซึ่งเป็นคติความเชื่อที่ผสมผสาน ระหว่างการนับถือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยหลักหินหรือใบเสมา
ซึ่งประเด็นนี้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นต้นแบบของการกำหนดพื้นที่อุโบสถที่มีใบเสมาล้อมรอบอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ประเด็นที่ 2 มีหลักฐานอันเด่นชัดว่า มีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ โดยมนุษย์เหล่านี้ได้เข้ามาดัดแปลงหินให้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ดังปรากฏพระพุทธรูปภายในถ้ำหิน
สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เคยถูกเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2547 ต่อมาถูกถอนรายชื่อกระทั่งปี 2559 ได้เสนอเพื่อให้มีการพิจารณาการขึ้นทะเบียนอีกครั้ง
เฮลั่น! "ภูพระบาท" เป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 ของอุดรธานี
บรรยากาศในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี วันนี้ คึกคักเป็นพิเศษ มีหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน และนักท่องเที่ยว มารอลุ้น การประกาศให้ภูพระบาทขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
โดยหอนางอุสา ซึ่งมีลักษณะเป็นโขดหินคล้ายรูปดอกเห็ดหรือหอคอยขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนลานหินกว้าง ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นไฮไลท์ที่สำคัญสำหรับแหล่งโบราณคดี เพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโก
ภายนอกหอนางอุสา ยังมีภาพเขียนสีทั้งส่วนฐานและส่วนบน เชื่อว่าเป็นการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณบริเวณโดยรอบรองไปด้วยใบเสมาและถ้ำหินที่มีพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ซึ่งบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา โดยหอนางอุสาเชื่อว่าใช้ในการทำพิธีกรรมทางศาสนา จึงถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และชาวบ้านในละแวกนี้ให้ความเคารพศรัทธา
ไทยพีบีเอสได้พูดคุยกับนักท่องเที่ยว ซึ่งเดินทางมาจาก จ.เชียงใหม่ บอกว่า เป็นครั้งแรกที่มาท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และเพิ่งจะทราบข่าวว่าวันนี้คณะกรรมการจะมีการพิจารณาการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกลำดับที่ 6
ขณะที่นายนมัสวิน นาคศิริ นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เปิดเผยว่า การเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1 อุทยานฯ ภูพระบาท ได้ปรากฏวัฒนธรรมเสมา ซึ่งเป็นคติความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างการนับถือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยหลักหินหรือใบเสมา ซึ่งประเด็นนี้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นต้นแบบของการกำหนดพื้นที่อุโบสถที่มีใบเสมาล้อมรอบอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
และในประเด็นที่ 2 มีหลักฐานอันเด่นชัดว่ามีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ โดยมนุษย์เหล่านี้ได้เข้ามาดัดแปลงหินให้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ดังปรากฏพระพุทธรูปภายในถ้ำหิน
อ่านข่าว :
นาทีประวัติศาสตร์ ประกาศขึ้นทะเบียน "เมืองโบราณศรีเทพ" เป็นมรดกโลก