ถอดบทเรียน "สินค้าจีน" รุกตลาดทะลักไทย

เศรษฐกิจ
31 ก.ค. 67
14:46
3,737
Logo Thai PBS
ถอดบทเรียน "สินค้าจีน" รุกตลาดทะลักไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การทุ่มตลาดของจีนผ่านสินค้าหลากหลายประเภท กำลังทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องตั้งรับ เพราะดูเหมือนการจัดเก็บภาษีสินค้าจากจีนยังไม่สามารถสกัดกั้นการเข้ามาของแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เน้นขายสินค้าจีนราคาถูกมากได้ และกระแสอีคอมเมิร์ซเจ้าใหม่ก็กำลังมาแรง

เศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้น ปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่น ฟองสบู่ภาคอสังหาฯ และการเป็นโรงงานผลิตสินค้าของโลก ทำให้จีนมีสินค้ามหาศาล แต่กำลังซื้อหดหาย ต้องระบายออกมาในประเทศอื่นๆ จึงเป็นช่องให้ Temu ใช้เป็นจุดแข็งเข้าไปตัดราคาจากโรงงาน ส่งขายในกว่า 50 ประเทศทั่วโลกและประเทศล่าสุดคือ ไทย

ตลาดใหญ่ที่เทมุสร้างความสำเร็จได้อย่างน่าจับตาคือ สหรัฐฯ เจาะเจ้าใหญ่อย่างอะเมซอนได้ มีชาวอเมริกันแห่ไปใช้บริการนับร้อยล้านคนในช่วง 2 ปี ด้วยราคาสินค้าที่ต่ำมากและกลยุทธ์มากมาย เช่น คูปอง แต่ก็ยังต้องสู้อีกยาวเพราะคนอเมริกันยังไม่ไว้วางใจกลับไปซื้อซ้ำ

ปี 2019 ที่สแตติสต้า อิคอมเมอร์ซ ทำข้อมูลไว้พบว่า อีคอมเมิร์ซของจีนช่วยให้สินค้าจีนกระจายไปทั่วโลกได้นับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เจ้าใหญ่คือเถาเป่า, ทีมอลล์, เจดี และอะลีเอ็กเพรส เป็นต้น

ตัวอย่างของแพลตฟอร์มสินค้าในจีนอย่างสินค้าในเถาเป่า เช่น กิ๊ฟติดผมเด็ก ของใช้เบ็ดเตล็ด ราคาไม่เกิน 2 หยวน หรือ 10 บาท, สายชาร์จ ไม่เกิน 3 หยวน หรือราวๆ 20 บาท ขณะที่เหม่ยถ่วนมีคูปองออเฟอร์ให้ลูกค้า และระบบการขนส่งสินค้าในจีนของบางเจ้ายังส่งสินค้าได้ไวไม่เกิน 1 วัน หรือ 2-3 ชม.ก็มี

ขณะที่ไทยก็ส่วนหนึ่งที่เป็นตลาดดูดซับสินค้าจากจีน ด้วยความต้องการสินค้าราคาถูกจากรายได้ที่ลดลง และมีบางคนที่เป็นผู้ค้าในแพล็ตฟอร์มของจีน เช่น แอปส้ม แอปน้ำเงิน

เหตุใดแอปเหล่านี้ทำราคาขายได้ถูกและสินค้าบางประเภทวางขายในไทยราคาเดียว แอดมินเพจลุยจีน เปิดเผยว่า เขามีกลยุทธ์ไม่ได้มองการขายแบบระยะสั้น ช่วงแรกเป็นการเผาเงิน ยอมขายถูกมากเพื่อดึงคนเข้ามา ขจัดคู่แข่ง แล้วค่อยมาขายทำกำไรทีหลัง เช่น ของบางชิ้นวางขาย 100 บาท แอปจะจ่ายอุดหนุนให้ 30 บาท ราคาที่ขายเหลือ 70 บาทลูกค้าก็ถูกใจ คนขายก็ไม่เสียอะไร ส่วนแบ่งการตลาดที่ถูกแย่งไปกำลังทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ถึงกลางกระทบหนัก รัฐควรจะต้องรู้ทัน

อีกคนหนึ่งที่มองว่ารัฐบาลต้องเร่งมือคือ นายพิศาล มาณวพัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ที่มองว่านโยบายของไทยเองที่ทำให้จีนเข้ามาทำตลาดในไทยได้ขนาดนี้ โดยเฉพาะกับสิ่งที่น่ากังวลมากล่าสุดคือการประกาศเข้าร่วม BRICS ที่มีจีนและรัสเซียเป็นแกนนำ ขณะเดียวกันมองว่าไทยควรสนับสนุนให้มีนักลงทุนไทยไปลงทุนในอเมริกาและตะวันตก เพื่อให้มีสิทธิ์มีเสียงในเวทีโลกและต้องคานอำนาจการเข้ามาของจีน เพื่อไม่ให้คนไทยรากหญ้าได้รับผลกระทบมากไปกว่านี้ หากจีนทุ่มตลาดไม่เป็นธรรมก็ควรจะหันมาใช้กลไก WTO เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการไทย

คำถามที่น่าสนใจคือเรากำลังพึ่งพาจีนหายใจมากเกินไปหรือไม่ และเราจะมีชะตากรรมแบบลาวที่กำลังจมกับดักหนี้จีนหรือเปล่า หลังจากโควิด-19 จนมาถึงปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นจนเกิดวิกฤตเงินเฟ้อไปทั่วโลก

ขณะที่ลาวกำลังมีหนี้ที่เกิดจากการกู้ธนาคารจีน เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟลาวจีน มูลค่ากว่า 6,000 ล้านเหรียญ แต่ในมุมของผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีนมองว่า จีนไม่ใช่ปัจจัยหลักของปัญหาเศรษฐกิจลาวและอาจไม่ใช่เคสตัวอย่างที่จะบอกว่าไทยอาจจะเจอสถานการณ์เช่นนั้น

ผลกระทบสินค้าจีนรุกสินค้าไทย

ผลพวงจากสินค้าจีนทะลักเข้ามาจำหน่ายตีตลาดสินค้าเพราะราคาที่ถูกกว่า ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยหันไปซื้อสินค้าจีนมากขึ้น โดยเฉพาะการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ที่ทั้งถูกกว่า ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าหลายแห่งได้รับผลกระทบจนสินค้าบางรายการขายไม่ได้

โดยที่ จ.นครสวรรค์ ร้านจำหน่ายสินค้า 20 บาทยังมีลูกค้าเข้าไปเลือกซื้อสินค้ากันอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าบอกว่าเข้ามาเลือกซื้อสินค้าในร้าน 20 บาทแทบทุกวัน เพราะว่าราคาถูกกว่าร้านค้าทั่วไปและมีสินค้าหลากหลายให้เลือกซื้อ ซึ่งลูกค้าบางส่วนทราบดีว่าสินค้าราคาถูกเหล่านี้นำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่ช่วงหลังสินค้าเหล่านี้มีการปรับปรุงคุณภาพดีขึ้นจึงเลือกซื้อเพราะความคุ้มค่า

ด้านผู้ประกอบการร้านค้าในตลาดอินโดจีน เขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ขายสินค้าไม่ได้ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า, ขนมขบเคี้ยว, สินค้ามงคล, ผ้าห่ม ผ้าขนหนู และเสื้อผ้า เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าไปซื้อทางออนไลน์เป็นส่วนมาก แต่ที่้วางขายเป็นสินค้าที่ซื้อมากักตุนไว้และเป็นสินค้าเก่าที่ยังขายไม่หมดตั้งแต่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19

ขณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าภายในตลาดท่าเสด็จ เทศบาลเมืองหนองคาย เปิดเผยว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมากขึ้น แต่พฤติกรรมการซื้อสินค้าเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมเคยขายดี ขณะที่ตอนนี้นักท่องเที่ยวจะเดินชม ไม่ค่อยซื้อสินค้า

ส่วนสินค้าที่พอจะขายได้เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน เช่น ไม้ตียุง ไฟฉาย กาต้มน้ำ แบตเตอร์รี ถ่านไฟฉายแบบชาร์จได้ สินค้าจำพวกนี้ขายดี เนื่องจากราคาไม่แพง แม้คุณภาพจะด้อยกว่าสินค้าที่ไทยผลิต ส่วนสินค้าประเภทอื่นๆ ไม่ได้ขาย มีเพียงขนมที่พอขายได้ แต่เป็นขนมนำเข้าจากเวียดนาม, จีน, ญี่ปุ่นและมาเลเซีย ทำให้เชื่อว่าการซื้อของออนไลน์กระทบต่อยอดขายของผู้ประกอบการในตลาดท่าเสด็จ

อ่านข่าว

เริ่ม 8 โมงเช้า 1 ส.ค.เปิดลงทะเบียน "ดิจิทัลวอลเล็ต" ผ่านแอปทางรัฐ

คลังผุดมาตรการภาษี แก้สมองไหล ดึงคนไทย "หัวกะทิ" กลับบ้าน

พาณิชย์ ลุยขยายการค้าไทย-จีน ดันเปิดตลาดสินค้าเกษตรเพิ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง