"บูลลี" โจทย์ใหญ่ท้าทาย "ครู" มาตรการรับมือ "โรงเรียนไทย"

สังคม
1 ส.ค. 67
12:45
804
Logo Thai PBS
 "บูลลี" โจทย์ใหญ่ท้าทาย "ครู" มาตรการรับมือ "โรงเรียนไทย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"การแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนถือเป็นหน้าที่ของ ครู เพราะเมื่อปัญหาเกิดขึ้นที่โรงเรียน ก็จะปฏิเสธไม่ได้ว่า ครู จะต้องเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหา ... แต่ก็ต้องยอมรับว่า นี่เป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา แวดวงการศึกษาของไทยไม่ได้เตรียมความพร้อมให้ครูสำหรับเรื่องนี้เลย ... แม้แต่กลุ่มคนที่น่าจะต้องมีบทบาทต่อปัญหาการบูลลีในโรงเรียนมากที่สุดอย่าง ครูแนะแนว ... ก็ถูกลดทอนความสำคัญลงไปมาก แถมยังถูกใช้งานผิดหน้าที่อีกด้วย"

"เห็นได้ชัดว่า กระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่เคยให้ความสำคัญกับปัญหาบูลลีในโรงเรียนเลย"

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นช่องว่างขนาดใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นกับความสามารถของครูและโรงเรียนของรัฐ ที่จะรับมือกับปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน

โรงเรียนไทย ... รับมืออย่างไรเมื่อเจอการบูลลี ?

การกลั่นแกล้งในโรงเรียน หรือ บูลลี เกิดขึ้นได้ทั้งทางร่างกาย ทางคำพูด การกดดันบีบบังคับให้ถูกรังเกียจจากสังคม โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เกิดปัญหานี้ในโรงเรียนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษา จนเกิดเป็นคำถามว่า โรงเรียนในประเทศไทย มีความสามารถรับมือกับปัญหานี้อย่างไร ก่อนจะกลายเป็นความรุนแรงที่สร้างความสูญเสีย

"ถ้ามีเด็กคนหนึ่งถูกแกล้งจนทนไม่ไหว ต้องไปบอกกับครูประจำชั้น ... ครูจะจัดการปัญหาอย่างไร"

ถ้าเราถามคำถามเดียวกันนี้กับคนทั่วไป หรือเด็กนักเรียนจำนวนมาก เราคงจะได้รับคำตอบที่ต่างกันออกไป ... ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่แต่ละคนพบเจอมา ... ซึ่งนั่นอาจจะบ่งบอกได้ว่า เป็นเพราะโรงเรียนในประเทศไทย ยังไม่เคยมีแนวทางแก้ปัญหานี้อย่างชัดเจนมาก่อน

"การแก้ไขเหตุบูลลีในโรงเรียน จึงกลายเป็นการแก้ไขตามเคส ใช้วิธีตามประสบการณ์และความสามารถเฉพาะตัวของครูแต่ละคน" ผศ.อรรถพล ตอบคำถามเดียวกันด้วยประโยคที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่พร้อมในระบบ

"แต่ผลของการบูลลีมันรุนแรง ทำให้เกิดผลกระทบยาวนานกับเด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง มีผลต่อเนื่องไปถึงเด็กคนอื่นๆที่พบเห็นการบูลลีแต่ต้องนิ่งเฉยเพราะกลัวจะถูกกระทำไปด้วย ... และข้อมูลที่สำคัญ คือ เราพบร้อยละ 60 ของเด็กที่เป็นผู้กลั่นแกล้งคนอื่น เคยตกเป็นผู้ถูกกระทำรุนแรงมาก่อน ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือในครอบครัว"

"มีคำอธิบายว่า เรื่องบูลลีเป็นโจทย์ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งแนวทางการพัฒนาครูของกระทรวงศึกษาธิการ ยังคงมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการสอนนักเรียน ไม่ได้พัฒนาครูให้พร้อมสำหรับการรับมือเรื่องบูลลี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้ด้านจิตวิทยา"

"ถ้าจะเตรียมครูให้พร้อม เราก็ต้องมาออกแบบกันใหม่ทั้งระบบ ตั้งแต่ การปรับปรุงหลักสูตรเตรียมครูสำหรับนักศึกษาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ การอบรมพัฒนาครูกลุ่มที่มีหน้าที่ดูแลใกล้ชิดเด็ก เช่น ครูประจำชั้น การสร้างและใช้งานกลุ่มครูแนะแนวให้เต็มประสิทธิภาพ การทบทวนความสำคัญของการมีนักจิตวิทยาสำหรับโรงเรียนโดยเฉพาะ ไปจนถึงการวางแนวทางที่เป็นระบบเพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกสถานศึกษา" ผศ.อรรถพล อธิบายให้เห็นภาพใหญ่ถึงกลไกต่างที่ยังไม่มีในระบบการศึกษาไทย

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ครูแนะแนว กลไกสำคัญ ที่ไม่เคยได้รับความสำคัญ

"ครูแนะแนว ต้องเรียนจบสาขาจิตวิทยาการปรึกษาแนะแนว ซึ่งเป็นสาขาเฉพาะทางนะครับ จะต้องรับผิดชอบอยู่ 4 หน้าที่ คือ ช่วยให้เด็กค้นพบความต้องการของตัวเอง ให้คำแนะนำนักเรียนในการวางแผนสำหรับการศึกษาต่อหรือการประกอบอาชีพในอนาคต ช่วยปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และดูแลเรื่องสุขภาวะต่าง ๆ ของนักเรียน ... และเหตุผลสำคัญที่ต้องมีคาบแนะแนวในตารางเรียน ก็เพื่อทำให้เด็กที่กำลังมีปัญหาในทุก ๆ เรื่องได้รับรู้ว่า เขาสามารถเข้าไปขอคำปรึกษาจากครูแนะแนวได้ ... แต่เมื่อโรงเรียนเน้นไปที่ผลการเรียนและมีตัวชี้วัดเรื่องการเข้ามหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ ครูแนะแนวในระดับมัธยมส่วนใหญ่ จึงถูกใช้งานไปเพื่อการเตรียมเด็กเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ซึ่งเป็นการใช้งานผิดมาโดยตลอด"

ผศ.อรรถพล อธิบายถึงการใช้งานครูแนะแนวอย่างผิดฝาผิดตัวที่กำลังเกิดขึ้นกับโรงเรียนของรัฐส่วนใหญ่ ซึ่งยังพบว่า หลายโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหลายโรงเรียนที่สังกัดท้องถิ่น จัดตำแหน่งครูแนะแนวให้มีความสำคัญอยู่ในลำดับท้าย ๆ ที่จะเปิดให้มีอัตรารับบรรจุ เพราะมองว่า ไปช่วยสอนวิชาอื่น ๆ ไม่ได้ หรือหากจะรับเข้าบรรจุ ก็จะต้องถูกใช้งานไปช่วยสอนวิชาอื่น ๆ ด้วย

"เราเลยขาดตัวละครสำคัญที่มีความสามารถจัดการการบูลลีไปเลยในระบบการศึกษา"

"ถ้าเปรียบเทียบกับกระบวนการยุติธรรม เมื่อเด็กมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นผู้แกล้งหรือผู้ถูกแกล้ง ก็จะต้องได้รับการปฏิบัติด้วยวิธีสำหรับเด็ก คือ มีนักจิตวิทยา มีนักสังคมสงเคราะห์ หรือที่เรียกว่า ทีมสหวิชาชีพ เข้ามาช่วยในการซักถามข้อมูลแทนผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบทางจิตใจที่อาจติดตัวเด็กไปต่อเนื่อง ... แต่ในโรงเรียน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกลั่นแกล้งหรือถูกกลั่นแกล้ง กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับบุคลากรที่เรียนด้านนี้มาโดยตรง และมักจะไปใช้กลไกอื่นที่ได้ผลแย่กว่า คือ การควบคุมและกำกับพฤติกรรมเด็กด้วยวิธีการลงโทษผ่านครูฝ่ายปกครอง ... ซึ่งไม่ใช้หลักจิตวิทยาเชิงบวกเลย"

ผศ.อรรถพล บอกด้วยว่า เคยมีข้อเสนอให้มีตำแหน่ง "นักจิตวิทยาโรงเรียน" แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติกรอบอัตราจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ทำให้ยังไม่มีนักจิตวิทยา อยู่ในโรงเรียนของรัฐ แต่ในโรงเรียนเอกชนบางแห่งมีนักจิตวิทยาประจำการอยู่ในโรงเรียนแล้ว

เสนอใช้ "ครูแนะแนว" ตัวเชื่อม เด็ก - ครูประจำชั้น - ผู้เชี่ยวชาญ

"ยิ่งโรงเรียนมีขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนก็จะยิ่งมีความห่างมากเท่านั้น เพราะครู 1 คน ต้องดูแลนักเรียนในจำนวนมากขึ้น ... และยิ่งมีความห่างระหว่างครูกับนักเรียนมากเท่าไหร่ โอกาสของที่จะเกิดเหตุกลั่นแกล้งกันในชั้นเรียนก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น"

ขนาดของโรงเรียน มีความสัมพันธ์กับปัญหาบูลลีด้วย เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ พยายามชี้ให้เห็นถึงช่องทางที่โรงเรียนขนาดใหญ่ สามารถปรับมาใช้งานครูแนะแนวให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาบูลลีในโรงเรียนได้ด้วย

ขั้นแรก เราต้องเริ่มจากการใช้คาบวิชาแนะแนวให้ถูกต้อง ให้ครูแนะแนวได้ใช้ความสามารถทางจิตวิทยาการให้คำปรึกษามาสร้างความไว้ใจให้เด็กรู้ว่าถ้าเขามีปัญหาก็สามารถเข้ามาหาครูแนะแนวได้ โดยมีเวลาให้ครูแนะแนวสามารถนัดพบเพื่อรับฟังปัญหาจากเด็ก ... จากนั้น ครูแนะแนว ก็จะมีหน้าที่ประสานกับครูประจำชั้นในการดูแลสนับสนุนนักเรียน

ขั้นที่สอง คือ บทบาทระหว่างครูแนะแนวกับครูประจำชั้น ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมข้อมูลปัญหาของเด็กมาที่ครูประจำชั้นแล้ว โรงเรียนยังควรเปิดให้ครูแนะแนวมีหน้าที่ในการทำเทรนนิ่งเกี่ยวกับการรับฟังและวิธีพื้นฐานในการสื่อสาร ให้คำปรึกษา หรือจัดการปัญหาของเด็กอย่างถูกต้องให้กับครูคนอื่น ๆ ในโรงเรียนด้วย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เกิดกระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่ครูทุกคนในโรงเรียนรับรู้ร่วมกัน และสามารถปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันเมื่อพบการบูลลี

ขั้นที่สาม ครูแนะแนวต้องมีบทบาทเป็นผู้ประสานงานไปยังผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เช่น กลุ่มนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ สหวิชาชีพ ในกรณีที่ปัญหารุนแรงเกินกว่าศักยภาพที่จะแก้ไขกันเองภายในโรงเรียน หรือในบางกรณีอาจต้องใช้แนวทางเลือกหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ที่เรียกว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) ซึ่งต้องมีผู้ไกล่เกลี่ยโดยเฉพาะ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจัดกระบวนการเพื่อรับมือ ฟื้นฟูเยียวยา เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการหาทางออกร่วมกัน

"เราต้องยืนยันว่า การแก้ปัญหาบูลลีในโรงเรียนเป็นหน้าที่ของครู แต่เราก็ต้องยืนยันในอีกขั้นหนึ่งไปด้วยว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ ที่จะปล่อยให้ครูต้องไปดิ้นรนหาวิธีแก้ไขกับเด็กไปตามลำพังทีละกรณี เราจะต้องเริ่มการพัฒนา ติดตั้งองค์ความรู้ให้ครูไปด้วย โดยจะมีครูแนะแนวเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ เพื่อให้แต่ละโรงเรียนสามารถออกแบบวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ มีขั้นตอน เช่น เมื่อเด็กมาร้องทุกข์ ขั้นตอนต่อไปคือ การไปติดต่อครูแนะแนวทารับฟัง 1 2 3 4 ... ให้ครูใช้เป็นหลักยึดในการปฏิบัติได้อย่างชัดเจน"

แก้ปัญหาบูลลีในโรงเรียน "ระดมองค์ความรู้หลายหน่วยงาน"

ส่วนในภาพใหญ่ ผศ.อรรถพล เห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องเปลี่ยนวิธีการรับมือกับการบูลลีในโรงเรียนใหม่ เพราะกลไกที่ใช้อยู่เป็นเพียงการเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ปกครองเพื่อแก้ปัญหาไปละกรณีเท่านั้น ... ดังนั้นจึงเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตัวเป็นเจ้าภาพในวาระ "แก้ปัญหาบูลลีในโรงเรียน" เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่สังกัดอยู่ในหน่วยงานอื่น เช่น นักสังคมสงเคราะห์ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ของกระทรวงยุติธรรม หรือแม้แต่นักจิตวิทยาเด็ก ที่กระจายอยู่ในหลายหน่วยงานทั้ง สาธารณสุข พัฒนาสังคม และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม

"ปัญหาบูลลีในโรงเรียน ต้องแก้ด้วยการทำงานข้ามกระทรวงให้ได้ครับ ต้องลดปัญหาการทำงานให้สำเร็จเฉพาะตามตัวชี้วัดของหน่วยงานตัวเองเท่านั้น เพราะถ้าแต่ละหน่วยงานทำงานให้สำเร็จเฉพาะของใครของมัน ... ก็จะแค่บอกได้ว่า ทำแล้ว ... แต่ยังมีเด็กถูกกล่นแกล้งอยู่ในโรงเรียนเหมือนเดิม"

รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง