ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิด 18 พื้นที่ดูดาวแห่งใหม่ "เขาเขียว-อช.ภูเวียง-วัดมกุฏคีรีวัน"

สังคม
2 ส.ค. 67
07:17
482
Logo Thai PBS
เปิด 18 พื้นที่ดูดาวแห่งใหม่ "เขาเขียว-อช.ภูเวียง-วัดมกุฏคีรีวัน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดตัว 18 พื้นที่ดูดาวแห่งใหม่ ขึ้นทะเบียนเป็น "เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย" ปี 2567 สวนป่าบ้านวัดจันทร์, อุทยานฯ ถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ, อุทยานฯไทรทอง, อุทยานฯ ภูเวียง, วัดมกุฏคีรีวัน, สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

วันที่ 1 ส.ค.2567 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ประกาศ 18 พื้นที่ดูดาวแห่งใหม่ พร้อมขึ้นทะเบียนเป็น “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย” ประจำปี 2567 ในโครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 3

เดินหน้าผลักดันการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ต่อเนื่อง ปลุกกระแสการเดินทางมิติใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสความงดงามของธรรมชาติยามค่ำคืน ณ ห้องประชุมจารุวัสตร์ ชั้น 10 อาคาร ททท.

น.ส.สมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. เปิดเผยว่า โครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 3 เป็นโครงการส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนักท่องเที่ยวความสนใจพิเศษ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ททท. และ สดร. โดยมุ่งสนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ ให้เป็นหนึ่งในสินค้าการท่องเที่ยวที่ส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวมิติใหม่ การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience - based - Tourism) เพื่อสร้างความหมายให้การเดินทางท่องเที่ยวในเมืองไทยมีคุณค่า แตกต่าง และน่าประทับใจ

ททท. เล็งเห็นประโยชน์ของการต่อยอดประชาสัมพันธ์เจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่มความสนใจพิเศษ ผู้ที่สนใจดาราศาสตร์ ชื่นชอบการดูดาว และนักท่องเที่ยวทั่วไป ให้ออกเดินทางไปรับความสุขท่ามกลางธรรมชาติสัมผัสความสวยงามของท้องฟ้าประเทศไทย ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก หรือชมความสวยงามของกลุ่มดาวจักรราศี และดวงดาวต่าง ๆ ที่ปรากฏในท้องฟ้าแต่ละเดือน

นอกจากจะตื่นตาตื่นใจท้องฟ้าในยามค่ำคืน ณ สถานที่ดูดาวทั่วทุกภูมิภาคของไทย ยังสอดแทรกความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ และนำไปสู่การออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก

ขณะที่ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT ได้ดำเนินโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง อนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า และให้ความสำคัญในการประหยัดพลังงานและปรับพฤติกรรมการใช้แสงไฟ ทำให้ในปี 2565-2566 เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย จำนวน 30 แห่ง

นับเป็นพื้นที่นำร่องปลุกกระแสความสนใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์ที่จะนำมากระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงทางดาราศาสตร์ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ และเป็นสถานที่ถ่ายภาพสำหรับกลุ่มนักดาราศาสตร์สมัครเล่น จึงผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม รักษาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศ, ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน เทศบาล ตำบล ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชน

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น รีสอร์ต โรงแรม ฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้ ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ไม่มีมลภาวะทางแสง มีความปลอดภัย และเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง มีลักษณะเป็นลานโล่ง มีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง สามารถสังเกตปรากฏการณ์และจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางดาราศาสตร์

ในปี 2567 มีพื้นที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 18 แห่ง จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2567 พร้อมรับมอบสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สนับสนุนการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่สนใจต่อไป

รายชื่อสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2567 จำนวน 18 แห่ง มีดังนี้

อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park)

  • สวนป่าบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.เชียงใหม่
  • อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ จ.แม่ฮ่องสอน
  • อุทยานแห่งชาติตาดโตน จ.ชัยภูมิ
  • อุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ
  • อุทยานแห่งชาติภูผายล จ.สกลนคร
  • อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น

ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities)

  • วัดมกุฏคีรีวัน เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties)

  • ฉ่าเก่อปอ จ.เชียงใหม่
  • พร้าวแคมป์ปิ้งค์ จ.เชียงใหม่
  • ฮ่อมลมจอย จ.เชียงราย
  • ภาวนานิเวศน์ แคมป์ จ.นครสวรรค์
  • ภูคำหอม เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
  • สวนไพลินชมดารา จ.นครราชสีมา
  • อุ่นฟ้าอิงดาวแคมป์ปิ้ง จ.นครราชสีมา
  • โรงแรมโซเนวา คีรี จ.ตราด
  • บ่อแสน วิลล่า แอนด์ สปา จ.พังงา
  • อธิ การ์เด้นท์ แคมป์ปิ้ง จ.พังงา

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbes)

  • สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชลบุรี จ.ชลบุรี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง