ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชัดเจนรอยปริศนาภูหินร่องกล้า รอยตีนไดโนเสาร์ "กลุ่มเทอโรพอด"

สิ่งแวดล้อม
2 ส.ค. 67
16:08
1,117
Logo Thai PBS
ชัดเจนรอยปริศนาภูหินร่องกล้า รอยตีนไดโนเสาร์ "กลุ่มเทอโรพอด"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมทรัพยากรธรณี เผยผลการตรวจสอบ "รอยปริศนา" บริเวณลานหินเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ยืนยันรอยตีนไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขา กลุ่มเทอโรพอดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อายุ 120 ล้านปี พบกว่า 10 รอยเดินเป็น 2 แนว

ความคืบหน้ากรณีนักท่องเที่ยวพบรอยประทับบนลานหิน ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก และนักวิชาการค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นรอยตีนไดโนเสาร์ 

วันนี้ (2 ส.ค.2567)  น.ส.ดรุณี สายสุทธิชัย ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่โดยว่าที่ร้อยตรีกฤษณะ สุดชา นักธรณีวิทยาปฏิบัติการ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับ นายโกเมศ พุทธสอน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก)

พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และผู้ค้นพบคนแรก ซึ่งเป็นครอบครัวนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการสำรวจธรรมชาติ แจ้งว่าค้นพบร่องรอยตรงนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ซึ่งแต่ตอนนั้นยังไม่แน่ใจ และได้เข้ามาท่องเที่ยวเดินสำรวจบริเวณนี้อยู่หลายครั้ง จนแน่ใจว่าอาจจะเป็นรอยตีนไดโนเสาร์ จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่อุทยาน และเผยแพร่ไปทางสื่อสังคมออนไลน์ตามที่เป็นข่าว

อ่านข่าว เร่งพิสูจน์ร่องรอยคล้าย "รอยตีนไดโนเสาร์" ภูหินร่องกล้า

รอยตีนไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขา กลุ่มเทอโรพอดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อายุ 120 ล้านปี พบกว่า 10 รอยเดินเป็น 2 แนว (ภาพ :กรมทรัพยากรธรณี)

รอยตีนไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขา กลุ่มเทอโรพอดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อายุ 120 ล้านปี พบกว่า 10 รอยเดินเป็น 2 แนว (ภาพ :กรมทรัพยากรธรณี)

รอยตีนไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขา กลุ่มเทอโรพอดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อายุ 120 ล้านปี พบกว่า 10 รอยเดินเป็น 2 แนว (ภาพ :กรมทรัพยากรธรณี)

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นจากกรมทรัพยากรธรณีพบว่าเป็นรอยตีนของไดโนเสาร์จริง ประทับอยู่บนลานหินทรายและหินโคลน จัดอยู่ในหมวดหินภูพาน ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 120 ล้านปีก่อน กระจายอยู่บนพื้นที่ประมาณ 2,500 ตร.ม.

รอยตีนไดโนเสาร์ที่พบมีจำนวนกว่า 10 รอย และแสดงเป็นแนวทางเดิน จำนวนอย่างน้อย 2 แนวส่วนใหญ่เป็นรอยตีนของไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขา กลุ่มเทอโรพอดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ แสดงรอยประทับของของนิ้วตีนข้างละสามนิ้วชัดเจน

ทั้งนี้ คณะสำรวจจะลงพื้นที่สำรวจเพิ่มเติม และเก็บข้อมูลทางวิชาการ เพื่อศึกษาวิจัยต่อไป สำหรับ พื้นที่บริเวณรอยตีนไดโนเสาร์ที่ค้นพบใหม่นี้ เดิมเคยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโบราณที่กว้างขวาง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์ดึกดำบรรพ์หลายชนิด

ผลการตรวจสอบ

ผลการตรวจสอบ

ผลการตรวจสอบ "รอยปริศนา" บริเวณลานหินเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า (ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี)

 

รวมถึงไดโนเสาร์ ซึ่งเดินเพ่นพ่านไปมาตามริมแม่น้ำที่เป็นดินโคลนอ่อนนุ่ม เกิดเป็นรอยตีนประทับไปบนพื้นตะกอนเป็นแนวทางเดิน ต่อมาตะกอนเหล่านี้เริ่มแห้งและแข็งขึ้นทำให้คงสภาพรอยตีนที่ประทับลงไปได้

จนเมื่อถึงฤดูน้ำหลากในปีถัดไปได้พัดพาเอาตะกอนชุดใหม่มาปิดทับทำให้ร่องรอยต่างที่อยู่ตะกอนชุดเก่าถูกเก็บรักษาไว้ใต้ดิน กาลเวลาผ่านกว่าร้อยล้านปีตะกอนค่อยๆแข็งตัวกลายเป็นหินตะกอน จำพวกหินทรายและหินโคลน ฝังอยู่ใต้ผิวโลก ต่อมากระบวนการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกทำให้ชั้นหินตะกอนเหล่านี้ถูกยกตัวขึ้นมาเป็นภูเขาสูง และถูกกัดเซาะโดยฝนและทางน้ำในปัจจุบัน ทำให้ชั้นหินที่มีรอยตีนไดเสาร์ประทับอยู่โผล่ขึ้นมาบนผิวโลก จึงเป็นเหตุว่าทำไมจึงพบรอยตีนไดโนเสาร์ประทับอยู่บนหินแข็งที่อยู่บนภูเขาสูง


ก่อนหน้านี้ พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เคยมีการค้นพบซาก ดึกดำบรรพ์รอยตีนไดโนเสาร์แล้ว บริเวณลำน้ำหมันแดง ซึ่งอยู่ในเขตอ.ด่านซ้าย จ.เลย ห่างออกไปจากจุดที่ค้นพบใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 35 กิโลเมตร และเป็นไดโนเสาร์กลุ่มเทอโรพอดเช่นเดียวกัน

โดยบริเวณที่ค้นพบรอยตีนไดโนเสาร์แห่งใหม่ เป็นพื้นที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ใกล้กับลานกางเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า สามารถเข้าถึงได้สะดวก และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวและพักแรมในอุทยาน เหมาะสำหรับการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าต่อไปในอนาคต

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง