ชันโรง หรือ ผึ้งจิ๋ว เป็นแมลงจำพวกผึ้ง แต่จะแตกต่างจากผึ้งทั่วไปที่ชันโรงไม่มีเหล็กใน แต่จะป้องกันตัวเองโดยการกัด และขนาดชันโรงจะตัวเล็กกว่าผึ้ง ระยะบินหากินรัศมีแค่ 300 เมตร จึงควบคุมให้ชันโรงผสมเกสรดอกไม้ที่ต้องการได้ อีกทั้งอาหารของชันโรงคือเกษรดอกไม้ทุกชนิด ไม่ได้เลือกเฉพาะเกษรดอกไม้ที่ชอบอย่างผึ้งทั่วไป
และหน้าที่หลักของชันโรง คือ 80 % ช่วยผสมเกสรให้กับพืชผัก ผลไม้ ส่วนสัดส่วนที่เหลืออีก 20% จะเก็บน้ำหวานดอกไม้ สำหรับรสชาติน้ำผึ้งชันโรงจะมีรสหวาน อมเปรี้ยว
ภายในรังชันโรงจะประกอบไปด้วย เซรูเมน หรือ พลอโพลิต เป็นโครงสร้างรัง ที่เกิดจากยางไม้ที่ชันโรงเก็บมาจากต้นไม้ ถ้วยน้ำหวาน ถ้วยเกสร และถ้วยเกสรหมัก
สำหรับน้ำผึ้งชันโรงมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ คุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากในน้ำผึ้งมีองค์ประกอบของน้ำ สารที่ให้พลังงาน โปรตีน น้ำตาล นอกจากนี้ยังมีเกลือแร่ และวิตามิน รวมถึงต้านการอักเสบ ลดการขยายของเซลล์ ป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์
ชันโรง เป็นสัตว์ประจำถิ่น จ.นราธิวาส และมีการใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้ง มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพรามีคุณค่าทางโภชนาการ และนำมารับประทานเพื่อสุขภาพและเป็นยารักษาโรค
ผศ.ดร.ธนเสฏฐ์ ทองใสเกลี้ยง อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
ผศ.ดร.ธนเสฏฐ์ ทองใสเกลี้ยง อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าน้ำผึ้งมรกตจากชันโรงสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน โดยได้งบประมาณการวิจัยจากหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กล่าวว่า สภาพภูมิศาสตร์ ภูมินิเวศพื้นที่ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ป่าพรุสิรินธรหรือป่าพรุโต๊ะแดง ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.ตากใบ อ.สุไหงโก-ลก และ อ.สุไหงปาดี มีพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ ส่วนอีกพื้นที่คือป่าพรุบาเจาะ อ.เมือง บาเจาะ ยี่งอ และ อ.สายบุรี ไม้แก่น จ.ปัตตานี ซึ่งมีต้นเสม็ดขาวจำนวนมาก
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ วิเคราะห์ ดูองค์ประกอบ ค้นพบสิ่งใหม่ มองในมิติคนจน คนจนสามารถพัฒนาตัวเองได้ อาจจะให้เป็นผู้ประกอบการ เพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น เพียงแต่สิ่งหนึ่งที่ปิดกั้นอยู่คือการขาดโอกาส ขาดงบประมาณ ขาดการดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจัง ทำให้ไม่สามารถผลักดันตัวเองขึ้นมามีชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้
มิติภูมินิเวศ ซึ่งพบว่าชันโรงที่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ป่าเสม็ดขาว น้ำผึ้งจะมีลักษณะเป็นสีเขียว ตั้งแต่สีเขียวอมเหลือง สีเขียวมรกต สีเขียวเข้ม หรือสีเขียวหยก ที่ได้จากน้ำหวานของดอกเสม็ดขาวบริเวณป่าพรุบาเจาะและป่าพรุโต๊ะแดง
โดยมีหลักวิทยาศาสตร์รองรับด้วยการพิสูจน์สมมุติฐานโดยการนำน้ำผึ้งมรกตจากรังผึ้งมาสกัดสาร และไปวิเคราะห์โครงสร้างสาร พร้อมกันนั้นได้นำน้ำหวานจากดอกเสม็ดขาว นำมาเปรียบเทียบดูว่าในดอกเสม็ดขาว กับน้ำผึ้งชันโรง สีเขียวมีโครงสร้างสารเคมีอะไรที่ตรงกันบ้าง สุดท้ายได้ข้อสรุปมีสารที่ตรงกันหลายตัว
โดยทั่วไปดอกเสม็ดขาว ลักษณะจะเป็นช่อ จะบานในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. และแต่ละช่อดอกจะบานประมาณ 1-2 อาทิตย์
น้ำผึ้งชันโรงซูเปอร์ฟู้ด
ทั้งนี้อีกหนึ่งการค้นพบสำคัญคือในน้ำผึ้งชันโรงดอกเสม็ดขาวพบว่ามีมากกว่า 200 ชนิดและเป็นสารที่มีประโยชน์ นอกจากนั้น และยังมีสารระเหยอีก 40-50 ชนิด ในน้ำผึ้งดอกเสม็ดขาว และในน้ำหวานดอกเสม็ดขาวมีสารหลายตัวที่มีสรรพคุณทางเภสัชวิทยา สารสำคัญที่ป้องกันและรักษา โรคอัลไซเมอร์ และโรคพากินสัน และยับยั้งเซลล์มะเร็งได้
ซึ่งมีศักยภาพนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเชิงฟังก์ชันและอาหารทางการแพทย์ได้ โดยโครงการนี้เป็นเพิ่มศักยภาพการผลิตน้ำผึ้งมรกต การผลิตผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคและการดำเนินการวิจัยทางการแพทย์เชิงลึกเพื่อทดสอบสารสำคัญในน้ำผึ้งมรกตในการป้องกันและรักษาโรค
ยกระดับห่วงโซ่คุณค่าน้ำผึ้งมรกตสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
สำหรับผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งชันโรง เช่น น้ำผึ้งมรกตผงบรรจุแคปซูล และน้ำผึ้งผสมคอลลาเจน และ ขิง แบบผงดื่ม เพื่อให้รสชาติตอบโจทย์ผู้บริโภคได้
น้ำผึ้งมรกตผงบรรจุแคปซูล และจะเป็นน้ำผึ้งชันโรงทำแห้งบรรจุแคปซูล และ น้ำผึ้งซูเปอร์พรีเมียมซึ่งจะใช้น้ำผึ้งมรกตเท่านั้นจำหน่ายกิโลกรัมละ 5,000-6,000 บาท และในอนาคตเมื่อผลการทดสอบด้านการแพทย์สำเร็จคาดว่าน้ำผึ้งมรกตจะมีราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายสายพันธุ์ราคา 1,500-6,000 ต่อรัง ส่วนด้านการตลาดจะมีเครือข่ายที่เป็นบริษัทจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรงในพื้นที่มาช่วยในการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า
น้ำผึ้งชันโรงจะแตกต่างจากน้ำผึ้งทั่วไป โดยน้ำผึ้งชันโรงจะมีความชื้นที่สูงประมาณ 30-40% ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานน้ำผึ้งปกติก็อยู่ประมาณ 10-15% ต่างประเทศอย่างประเทศมาเลเซีย จะมีเกณฑ์มาตรฐานของน้ำผึ้งชันโรงโดยเฉพาะ แต่ในประเทศไทยยังไม่มี ซึ่งบางคนน้ำมาตรฐานของมาเลเซียมาใช้
การเลี้ยงผึ้งชันโรงวาระของจังหวัด
เมื่อประมาณปลายปีที่ 2566 ผ่านมา น้ำผึ้งชันโรง การเลี้ยงผึ้งชันโรง ได้ถูกบรรจุให้เป็นวาระของจังหวัด ซึ่งทางจังหวัดออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติในการเลี้ยงชันโรง โดยมีหน่วยงานจังหวัด พาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด และอีกหลายหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบตามฟังก์ชันของแต่ละหน่วยงานและถูกถ่ายทอดไปยังครัวเรือน ซึ่งในหนึ่งตำบลต้องมีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับชันโรงในพื้นที่
นอกจากนี้แล้วได้นำชันโรงมาบูรณาการกับการเรียนการสอนในคณะเกษตร ในวิชากีฏวิทยา ได้ให้นักศึกษาได้เรียนรู้โดยการลงพื้นที่จริงว่าเรียนรู้วิธีการขยายรัง การดูดน้ำผึ้ง การเลี้ยง เป็นพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังมีการเปิดวิชาชันโรงวิทยาด้วย
นอกจากนี้ยังเปิดหลักสูตรอัพสกิล รีสกิล การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่ รวมถึงการสร้างทักษะ ให้กับชาวบ้านหรือครัวเรือนที่สนใจในการเลี้ยงชันโรง ที่สามารถต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย
สู่โมเดลแก้จนนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร Superfood
เป็นการรวมคุณค่าน้ำผึ้งชันโรงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่ทำเป็นระบบ เข้าสู่คุณค่าห่วงโซ่ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเบื้องต้นให้กับครัวเรือนยากจนที่อยู่ในขั้นต้นน้ำ ทั้งการเลี้ยง การสร้างรัง การแยกขยายรัง การอบน้ำผึ้งเพื่อให้น้ำผึ้งมีคุณภาพดีขึ้น
กลางน้ำ เป็นบริษัท วิสาหกิจชุมชน มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) เป็นตัวขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง เพื่อยกระดับสินค้า สร้างผลิตภัณฑ์หลากหลาย เพื่อยกระดับน้ำผึ้งชันโรง ให้มีราคาสูงขึ้น
ปลายน้ำ จะมีภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งรับซื้อน้ำผึ้งชันโรงจากชาวบ้านและส่งให้วิสาหกิจชุมชนทำการระเหยความชื้นออก เพื่อให้น้ำผึ้งชันโรงมีคุณภาพตรงตามมาตรฐานและพร้อมจำหน่ายทั่วประเทศ
โดยการเลี้ยงชันโรงด้วยดอกเสม็ดขาวเตรียมขยายพื้นที่ ต.ปูโยะ อีก 175 ครัวเรือน และกำลังจะลงในพื้นที่บาเจาะเพิ่ม 250 ครัวเรือนเพื่อที่จะทำให้น้ำผึ้งชันโรงป้อนเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
ส่วนด้านการตลาดจะมีเครือข่ายที่เป็นบริษัทจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรงในพื้นที่มาช่วยในการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า
เดิมทีชาวบ้านเลี้ยงชันโรงกันกันมานานแล้ว นิยมขายน้ำผึ้งสดๆ โดยไม่ผ่านกระบวนการไล่ความชื้น เมื่อไม่ได้ผ่านกระบวนการไล่ความชื่น พวกแก๊สในน้ำผึ้งจะเยอะ จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในน้ำผึ้ง จุลินทรีย์ก็ทำงานโดยการผลิตกรดอินทรีย์ออกมาโดยเฉพาะกรดแลคติก จะทำให้น้ำผึ้งชันโรงเปรี้ยว แต่มีข้อดีจะช่วยรักษาน้ำผึ้งไม่ใช้บูด หรือเป็นเชื้อรา ส่วนน้ำผึ้งทั่วไปจะไม่ค่อยเป็นเชื้อราเพราะมีความเข้มข้นสูง น้ำน้อย
ทั้งนี้ปี 2564 ได้สนับสนุนให้ชาวบ้านเลี้ยงเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ชาวบ้านในการมีรายได้เสริม เนื่องจากชันโรง ไม่ต้องให้อาหาร ชันโรงจะออกไปหาการกินด้วยตัวเองเอง เพียงแต่ต้องดูแลรังไม่ให้มีปลวก หรือ แมลง ซึ่งการสนับสนุนให้ชาวบ้านเลี้ยงชันโรงไม่ได้เป็นการรบกวน เวลาการทำงานประจำ
ทางมหาวิทยาลัย จะรับซื้อน้ำผึ้งจากชาวบ้าน โดยมีการประกันราคาที่กิโลกรัมละ 600 บาท เพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับให้น้ำผึ้งชันโรงมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น โดยมีเกษตรกรที่เลี้ยงบางคนผันตัวเองเป็นคนรวบรวม รับซื้อเพื่อไปขายต่อ ซึ่งให้กลุ่มวิสาหกิจบริหารจัดการกันเอง เพื่อให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธนเสฏฐ์ มองว่าน้ำผึ้งชันโรงเป็นตลาดที่กว้าง เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพราะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ซึ่งการผลิตน้ำผึ้งชันโรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่อปีได้ประมาณ 100 ตัน เฉพาะใน จ.นราธิวาส จะได้ผลผลิตประมาณ 30 ตัน
สุดิรมัน สาแม็ง
สร้างอาชีพ กระจายรายได้สู่ชุมชน
นายสุดิรมัน สาแม็ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันศึกษาปอเนาะฮายาตุซชอฮาบะห์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฟาร์มชันโรงศูนย์พัฒนาอาชีพปอเนาะ ม.2 ต.ปูโย๊ะ อ.สุไหงโก-ลก เปิดเผยว่า เลี้ยงชันโรงมาแล้ว 8 ปี โดยใช้พื้นที่วางรังโดยรอบบ้านใต้ร่มไม้ ซึ่งสายพันธุ์ที่เลี้ยงมี 3 สายพันธุ์ ทั้งอิตามา โตราซิก้า และอพิคาลิส มีทั้งหมด 400 รัง รวมทั้งรังที่ได้รับการสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัย ซึ่งกระจายเลี้ยงในอีก 2 พื้นที่ อ.สายบุรี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เพื่อต้องการให้ได้น้ำผึ้งที่หลากหลายพื้นที่
ซึ่งการเลี้ยงชันโรงจะใช้เวลา 1 เดือน ก็สามารถเก็บน้ำผึ้งได้ โดย 1 รังจะเก็บได้เฉลี่ย 3 กิโลกรัมต่อ/ปี ขายได้กิโลกรัมละ 700-800 บาท และถ้าไล่ความชื้นแล้วจะขายเองกิโลกรัมละ 1,200 บาท นอกจากนี้ยังจำหน่ายสายพันธุ์ด้วยซึ่งราคาก็แล้วแต่ขนาด เริ่มต้น 1,500-5,000 บาท/รัง ซึ่งสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านได้
อ่านข่าว :
โมเดลแก้จน เติมความรู้-สร้างอาชีพ ลดรุนแรงชายแดนใต้