20 วัน คือ ระยะเวลาที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ. ตำรวจฯ 65 โดยในวันที่ 30 ก.ค.67 รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือส่งกลับมาถึงคณะผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปตำรวจ โดยเนื้อหาภายหนังสือ มีสาระสำคัญ ว่า
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้วินิจฉัย ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ตำรวจฯ 65 พบว่า "มีรายละเอียด หลักเกณฑ์ และรูปแบบที่เป็นไปตามการเสนอร่างกฎหมายอย่างถูกต้องสมบูรณ์ คณะผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปตำรวจ สามารถดำเนินการเชิญชวนประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ให้เข้าร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับนี้ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย อย่างน้อย 10,000 รายชื่อ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนบรรจุเรื่องนี้ไว้ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร"
"เกือบ 2 ปี ที่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 ประกาศใช้ พูดกันตรง ๆ ว่า บางประเด็นก็ปฏิรูปไม่ตรงปก ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางที่จะเกิดประโยชน์กับประชาชน และไม่ได้สนับสนุนการทำงานของตำรวจให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น" พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าว
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ยืนยันว่า การเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ตำรวจฯ 65 มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือต้องเกิดประโยชน์กับประชาชน แต่หลังจากกฎหมายฉบับนี้ได้ประกาศใช้ไปเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่า มีบางประเด็นที่ยังปฏิรูปไม่ตรงปก คณะผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปตำรวจ จึงหารือร่วมกันและมีบทสรุปเนื้อหาสาระสำคัญ ของร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 ขึ้นมา
"เราจะเอาวิกฤตที่เกิดขึ้นมาพลิกเป็นโอกาส ให้ตำรวจอำนวยควายุติธรรม เรียกศรัทธาที่ประชาชนมีต่อตำรวจกลับคืนมา"
ปิดทาง "นายกฯ" นั่งประธาน ก.ตร. ลบภาพการเมืองคุมตำรวจ
เรื่องนี้เป็นประเด็นแรกที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 ผลักดันขึ้น โดยเสนอให้แก้ไขมาตรา 22 จากเดิมที่ให้นายกรัฐมนตรีจากฝ่ายการเมือง เป็นประธาน ก.ตร. เปลี่ยนเป็นให้ตำแหน่งนี้มาจากอดีตตำรวจที่มีตำแหน่งตั้งแต่ รอง ผบ.ตร. ขึ้นไป และต้องมาจากการเลือกตั้งของตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับรองผู้กำกับการขึ้นไป
"ถ้า นายกรัฐมนตรี ยังมาตำแหน่งประธาน ก.ตร. ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมาการเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคล" พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าว
ส่วน ก.ตร.จากเดิมที่มาจาก รอง ผบ.ตร. 5 คน เปลี่ยนเป็นให้จเรตำรวจแห่งชาติ และ รอง ผบ.ตร. ที่มีอาวุโสสูงสุด 2 อันดับแรก รวมกันไม่เกิน 3 คน
คืนแท่งเลื่อนไหล "พนักงานสอบสวน" เปิดทางก้าวหน้าในสายงาน
ปัญหาของพนักงานสอบสวนไม่ใช่แค่ งานหนัก เงินน้อย สะสมความเครียด แต่การขาดโอกาสในการเติบโตก้าวหน้าในสายงานอีกด้วย พนักงานสอบสวนเปิดภาวะสมองไหล ย้ายสายงาน เปลี่ยนอาชีพแบบรายปี เรื่องนี้จึงเป็นในวาระสำคัญที่คณะฯ ต้องปฏิรูปโดยด่วน
เดิมที พ.ร.บ.ตำรวจฯ 47 กำหนดให้พนักงานสอบสวน อยู่ในกลุ่มที่สามารถเติบโตเลื่อนไหลในหน้าที่ไปได้ตามลำดับ แต่การบริหารงานภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อปี 2562 มีคำสั่งให้ทุบแท่งพนักงานสอบสวน ที่อ้างถึงการบริหารงานบุคคล
พล.ต.อ.เอก ระบุว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 มีการคืนแท่งพนักงานสอบสวนให้กลับมาเหมือนในปี 47 แต่เหมือนว่า เป็นการคืนที่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังมีพนักงานสอบสวนบางคนที่ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม ขณะที่หลายคนขอโอนย้ายสายงาน ด้วยเหตุผล งานหนัก เงินน้อย และไม่มีความ เติบโตก้าวหน้าในสายงาน
"ในเวลานี้พนักงานสอบสวนขาดแคลนและขาดขวัญกำลังใจ ในเรื่องของเส้นทางความเจริญก้าวหน้าในสายงาน เพราะงานหนัก ค่าตอบแทนน้อย ไม่เติบโตในสายงาน"
ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 เสนอให้คืนแท่งพนักงานสอบสวน ด้วยการปรับปรุงระบบการเลื่อนขั้นของพนักงานสอบสวน ให้เลื่อนไหลเติบโตในสายงาน ไปได้จนถึงระดับผู้บังคับการ ในการประเมินพิจารณาเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวน ให้นำปริมาณและคุณภาพของสำนวนการสอบสวนมาประกอบพิจารณาควบคู่กัน
เสนอให้ตั้ง "สำนักงาน" สนับสนุนบุคลากร
คณะการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. มีขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 คณะทำงานมีความเป็นอิสระ บทบาทหน้าที่ตรงตามชื่อเรียกขาน คือ เพื่อพิทักษ์คุณธรรมข้าราชการตำรวจ เปรียบเสมือน "ศาลตำรวจ" ก็ว่าได้ และคดีสำคัญที่ประชาชนกำลังจับตา คือ กรณี พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ยื่นอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ที่ลงนามโดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ในชณะที่รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ซึ่งคาดว่า จะมีผลวินิจฉัยอุทธรณ์ออกมาในวันอังคาร 6 ส.ค.นี้
ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 เสนอให้มีการจัดตั้ง สำนักงานคณะการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ จากเดิมที่มี คณะกรรมการ ก.พ.ค.ตร. 7 คน ตามมาตรา 33 ให้เพิ่มหน่วยงานที่เป็นสำนักงานขึ้น เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านงานธุรการ บริหารงานงบประมาณ สนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยีและปฏิบัติหน้าที่อื่น ตาม ก.พ.ค.ตร. มอบหมาย
ร่างแก้ไข ยังเสนอรวมไปถึง คณะกรรมการร้องเรียนชุดเล็ก คือ ก.ร.ตร. โดยเสนอให้เปลี่ยนที่มาของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ หรือ ก.ร.ตร.
จากเดิมที่คณะกรรมการ มาจากนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งบุคคลจากฝ่ายอื่น ที่ถูกเสนอโดยผู้ตรวจราชการแผ่นดิน, กสม., คณะกรรมการตุลาการ, คณะกรรมการอัยการ, สภาทนายความ รวมทั้งอดีตตำรวจและตัวแทนสภาองค์กรชุมชน
ให้เปลี่ยนเป็นวิธีการคัดเลือกแบบเดียวกับ ก.พ.ค.ตร. ที่ต้องมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการ ที่มีประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน มีรองประธานศาลฎีกา มีผู้ทรงคุณวุฒิ ใน ก.ตร.และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
นอกจากนี้ยังได้เสนอร่างแก้ไขให้คุ้มครองความเป็นอิสระของตำรวจ โดยเพิ่มมาตรา 150/1 ว่า ให้กรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ออกมาตราการคุ้มครองตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาให้สามารถทำหน้าที่ได้โดยเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซง หรือ การครอบงำใด ๆ เพื่อให้การบริหารงานบุคคลไปตามระบบคุณธรรม
อีกเรื่องที่สำคัญ คือ เสนอให้มีการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในระดับสารวัตรไปจนถึงรองผู้บังคับการ ให้พิจารณาจากผู้มีความรู้ความสามารถและจัดเรียงตามลำดับอาวุโสจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนตำแหน่งที่ว่างในแต่ละระดับตำแหน่งฯ
การเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 เพื่อปรับปรุงข้อกฎหมายให้มีความสมบูรณ์และเพื่อตอบสนองต่อเจตจำนงค์ ของการปฏิรูปตำรวจ อย่างแท้จริง คณะผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปตำรวจ ได้ระบุเหตุผลและความจำเป็นแนบท้ายบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ 65 เอาไว้ ตอนหนึ่ง ว่า
"เพื่อให้องค์กรตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น เป็นอิสระและมีเอกภาพในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา สามารถเป็นที่พึ่งประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยปราศจากการครอบงำของฝ่ายการเมืองหรือองค์กรทางบริหารฝ่ายอื่น"
ด้วยหลักการและเหตุผลที่มี นับว่า เป็นความหวังของข้าราชการตำรวจและประชาชน แต่ "กฎหมาย" ก็ยังเป็นเพียงข้อบัญญัติ หากไม่มีการยึดถือ ปฏิบัติ สิ่งที่คาดหวังก็ยากจะเกิดขึ้นได้จริง
รายงานพิเศษ : กัญญารัตน์ เรือนใจ ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม ไทยพีบีเอส