ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สังเกตอย่างไร แบบไหนเสี่ยง "มะเร็งในช่องปาก"

สังคม
6 ส.ค. 67
14:05
998
Logo Thai PBS
สังเกตอย่างไร แบบไหนเสี่ยง "มะเร็งในช่องปาก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มาเช็กสัญญาณเตือน "มะเร็งในช่องปาก" โรคติดอันดับ 1 ใน 10 พบบ่อยในไทย อาการที่ต้องสังเกต ลดโอกาสเสี่ยงเกิดโรค

วันนี้ (6 ส.ค.2567) นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งช่องปากเป็นโรคที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยชนิดของมะเร็งช่องปากที่พบได้บ่อยที่สุด คือ มะเร็ง Squamous cell carcinoma ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 96 ของมะเร็งในช่องปาก

และอีกร้อยละ 4 เป็นมะเร็งชนิดเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Sarcoma) มะเร็งช่องปากมักเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือ ตำแหน่งด้านใต้ขอบข้างของลิ้น (Ventrolateral border)

ลักษณะอาการ ของมะเร็งช่องปาก

ลักษณะอาการแสดงที่สำคัญของ "มะเร็งช่องปาก" มีได้หลายลักษณะ ดังนี้ แผลในช่องปากที่มีรอยโรคสีแดง (Erythroplakia) สีขาว (Leukoplakia) หรือสีขาวแดง (Erythroleukoplakia) ขอบของรอยโรคมีลักษณะแข็ง แผลเป็นก้อน หรือ รอยโรคคล้ายแผลร้อนใน แต่ไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์

แผลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นก้อนบวมโต อาจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนมีก้อนติดอยู่ที่คอ กลืน หรือเคี้ยวอาหารลำบาก อาจมีอาการชา เจ็บปวด หรือเลือดไหลได้โดยไม่ทราบสาเหตุ กรณีที่ลุกลามไปที่กระดูกและกล้ามเนื้อ รอยโรคจะยึดติดกับอวัยวะข้างใต้ อาจพบต่อมน้ำเหลืองโต

ทันตแพทย์หญิง ดร.สุมนา โพธ์ศรีทอง ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวว่า การตรวจคัดกรองผู้ป่วย อาจมีความแตกต่างกันขึ้นกับลักษณะของผู้ป่วย สามารถแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่ไม่มีรอยโรค อายุน้อยกว่า 40 ปี และไม่มีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งช่องปาก ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากทุก 1 ปี
  • กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่ไม่มีรอยโรค อายุ 40 ปีขึ้นไป และหรือมีปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ เคี้ยวหมาก ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์เป็นประจำ มีประวัติติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น HPV (Human papilloma virus) ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากทุก 6 เดือน
  • กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยที่มีรอยโรคสีแดง และหรือสีขาว มีแผลเรื้อรังที่คงอยู่หลังกำจัดสาเหตุการเกิดแผลแล้วเป็นเวลามากกว่า 2 อาทิตย์ ควรได้รับการตัดชิ้นเนื้อตรวจ หากผลตรวจชิ้นเนื้อแสดงผลว่าไม่มีความผิดปกติ ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากทุก 3 เดือน

ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงวิธีการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้อย่างชัดเจน แต่ผู้ป่วยสามารถลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งช่องปากได้ โดยมีแนวทางการป้องกันคือการลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การไม่สูบบุหรี่ เคี้ยวยาสูบ กินหมาก ดื่มแอลกอฮอลล์ การทำความสะอาดช่องปากให้มีสุขอนามัยที่ดี

หากมีการสวมใส่ฟันปลอมควรเป็นฟันปลอมที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองเรื้อรังในช่องปาก หมั่นตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก 6 เดือน หากมีความผิดปกติใด ๆ สามารถพบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจได้ที่สถาบันทันตกรรม โรงพยาบาล หรือคลินิกทันตกรรมใกล้บ้าน

อ่านข่าว : 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง