วันนี้ (6 ส.ค.2567) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ผู้พิพากษาศาลแขวงในสหรัฐฯ ระบุว่า กูเกิล เจ้าของบริการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ละเมิดกฎหมายโดยการทุ่มเงินปีละมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 350,000 ล้านบาท ให้บริษัทด้านเทคโนโลยีอย่างแอปเปิล ซัมซุงและผู้ให้บริการอื่นๆ ติดตั้งกูเกิลไว้เป็นบริการค้นหาข้อมูลพื้นฐาน และเปิดให้กูเกิลเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานได้ ซึ่งทำให้กูเกิลผูกขาดตลาดและรักษาความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง โดยที่คู่แข่งไม่มีโอกาสหรือทรัพยากรจะแข่งขันกับกูเกิลได้
กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ฟ้องร้องกูเกิลในกรณีดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2020 โดยระบุว่ากูเกิลครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งคำตัดสินนี้มีขึ้นหลังการพิจารณาคดีในกรุงวอชิงตัน ดีซี นาน 10 สัปดาห์
ขณะที่บริษัทกูเกิล ระบุว่า สาเหตุที่กูเกิลเป็นเจ้าตลาดเพราะผู้ใช้งานชื่นชอบระบบของกูเกิลที่มีประโยชน์ และทางบริษัทลงทุนให้ลูกค้าใช้งานได้ดีขึ้น
นอกจากนี้กูเกิลยังต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือด ไม่ใช่จากผู้ให้บริการค้นหาทางอินเทอร์เน็ตรายอื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังมีแอปพลิเคชันเพื่อการค้นหาที่เฉพาะเจาะจง เช่น การค้นหาร้านอาหาร สายการบิน โรงแรมที่พัก เป็นต้น
คำตัดสินครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะของรัฐบาลสหรัฐฯ และยังปูทางสู่การฟ้องร้องบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายอื่น ๆ อย่างเมตา แพลตฟอร์มส์ เจ้าของเฟซบุ๊ก, บริษัทแอมะซอน และบริษัทแอปเปิล เจ้าของไอโฟน ในข้อหาผูกขาดตลาดอย่างผิดกฎหมาย
ขณะนี้ศาลยังไม่ได้ระบุว่าจะลงโทษกูเกิลด้วยวิธีใด โดยจะมีการพิจารณาในวาระต่อไป ซึ่งอัลฟาเบท บริษัทแม่ของกูเกิล ระบุว่ากำลังวางแผนยื่นอุทธรณ์คำตัดสินนี้
อ่านข่าว
"IBA" โต้หลังถูกกล่าวหาผลตรวจเพศไม่น่าเชื่อถือ
AI พีค "TDRI" ชี้ตลาดแรงงานต้องการสูง 3 เดือน รับ 5 พันตำแหน่ง