วันนี้ (6 ส.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถบรรทุกขนส่งสินค้าประเภทหินทราย วัสดุก่อสร้าง ของผู้ประกอบการใน จ.บุรีรัมย์ แจ้งจอดแล้ว 15 คันหลังภาวะน้ำมันแพง ทำให้การจ้างงานภาคขนส่งลดลง การแข่งขันธุรกิจขนส่งจากต่างประเทศมากขึ้น
นายภาณุพงศ์ นนทะอุด ประธานชมรมรถบรรทุกขนส่งสินค้า จ.บุรีรัมย์ ระบุว่า จ.บุรีรัมย์ มีรถบรรทุกและรถบรรทุกพ่วงขนส่งสินค้าประมาณ 120 คัน แต่หลังจากราคาน้ำมันดีเซลสูงต่อเนื่อง เศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้งานขนส่งสินค้าลดลง นอกจากปัญหาราคาพลังงานแล้ว ธุรกิจขนส่งยังได้รับผลกระทบจากทุนจีนที่เข้ามาขยายทำธุรกิจขนส่ง โดยดำเนินการผ่านนอมินี หรือคนไทยถือหุ้นแทน แต่ยอมรับว่ายากต่อการตรวจสอบ
ขณะที่นายสมพล หิรัญญสุทธิ์ ประธานสหกรณ์ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าภาคอีสาน ระบุว่า ต้นทุนธุรกิจขนส่งไทยสูงกว่าเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตัวรถบรรทุก เช่น เวียดนาม ราคาหัวรถกับหางลากอยู่ที่ 2 ล้านบาท แต่ไทยสูงเกือบ 4 ล้านบาท มาตรฐานที่กรมขนส่งทางบกกำหนดก็เข้มงวด ทำให้เสียเปรียบ จึงอยากให้รัฐควบคุมการเข้ามาทำธุรกิจของต่างชาติ
ด้านนายศุภศักดิ์ รุ่งเจิดฟ้า ที่ปรึกษาสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สหพันธ์ฯ กำลังดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ตรวจสอบบริษัทขนส่งที่ไทยถือหุ้นร่วมว่าเป็นนอมินีจีนหรือไม่
ส่วนนายภิชาติ ไพรรุ่งเรือง อดีตประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันจำนวนรถบรรทุกจีนยังมีสัดส่วนไม่มากเพียงร้อยละ 1 ของรถบรรทุกที่วิ่งอยู่ราว 1.4 ล้านคัน แต่แนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการสินค้าจีน ทำให้ทุนจีนขยายตัว โดยการเข้ามาของผู้ประกอบการจีน จะใช้วิธีชักชวนผู้ประกอบการไทยร่วมถือหุ้นจดทะเบียนนิติบุคคล เปิดโกดังขายสินค้า รับขนส่งสินค้าเอง ในสัดส่วนร้อยละ 49 และให้คนไทยถือหุ้นร้อยละ 51 โดยเฉพาะช่วงที่ผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ไม่มีงาน
ขณะที่กรมการขนส่งทางบก ชี้แจงว่า ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 24 กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถบรรทุก กรณีที่เป็นนิติบุคคล ว่า จะต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย รวมถึงกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ต้องเป็นของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตโดยถือปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
สำหรับการจดทะเบียนรถขนส่งสินค้านั้นไม่ได้จำกัดสัญชาติของผู้ผลิตรถ ซึ่งจะเป็นรถที่ผลิตในจีน สหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะรถ ขนาด อุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กฎหมายกำหนด มีการนำเข้าที่ถูกต้องตามกระบวนการของกรมศุลกากร ซึ่งปัจจุบันมีรถบรรทุกขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตสัญชาติจีนจดทะเบียนอยู่ประมาณ 8,473 คัน
ส่วนการกำกับดูแลรถขนส่งสินค้าที่เป็นทะเบียนต่างประเทศ กรมการขนส่งทางบกดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการตามความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระยะแรก ที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิก 5 ประเทศสามารถทำการเดินรถระหว่างกัน กำหนดโควตาประเทศละ 500 คัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนส่งสินค้าไทยจำนวน 11 รายมายื่นขอใบอนุญาตการเดินรถจำนวน 458 คัน คาดว่าจะสามารถทำการเดินรถได้ในวันที่ 1 ก.ย.นี้
อ่านข่าว
สว.โหวตผ่าน 3 วาระรวด "งบดิจิทัล" 1.22 แสนล้านบาท