ปรับแผนรองรับ "AI" ระดับสากล "ธีระชาติ" แนะไทยก้าวทันยุคดิจิทัล

Logo Thai PBS
ปรับแผนรองรับ "AI" ระดับสากล "ธีระชาติ" แนะไทยก้าวทันยุคดิจิทัล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เทคโนโลยี "AI" กลายเป็นความกังวลว่าในอนาคตทุกอย่างบนโลกใบนี้ AI จะถูกแทนที่ด้วยมนุษย์ การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็วในทุกด้าน จะเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ไปอย่างไร..?

โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา จำเป็นจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างไร..? ..เป็นไปได้หรือไม่ที่ AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์.. ทั้งในด้านของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สังคม ฯลฯ จะใช้อย่างไรที่ทำให้เกิดผลกระทบกับมนุษย์น้อยที่สุด และเราจะเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างไร นโยบายรัฐบาลควรไปทางทิศไหน

มาหาคำตอบ กับ "ธีระชาติ ก่อตระกูล" CEO & Co-Founder, StockRadars Startup ที่จะมาเล่าทุกแง่มุมในฐานะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (AI) ในรายการ คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น

"ธีระชาติ" เปิดเผยถึงการทำงานในส่วนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา (AI) เป็นนโยบายระดับชาติที่มีกรรมาธิการ 25 คน ที่มาจาก ส.ส. และบุคคลที่มีประสบการณ์ในวงการเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานฝั่งรัฐบาล และศึกษาทิศทางที่ควรเป็น เพื่อไปหาข้อสมดุลกับคณะกรรมการ AI แห่งชาติ

"สิ่งที่น่ากังวล ในตอนนี้คณะกรรมการ AI แห่งชาติ ยังไม่ประชุมกัน ประชุมล่าสุดเมื่อรัฐบาลชุดที่แล้ว และหลังจากนั้นยังไม่ได้ประชุมกันอีกเลย ทำให้การทำงานไม่มีความคืบหน้า และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา (AI) ไม่ทราบว่า จะต้องนำข้อมูลไปพูดคุยกับใคร และในทางกฎหมายเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลคณะกรรมการ ก็จะหายไปคล้ายกับสูญญากาศ"

เป้าหมายหลักของกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทาง AI จะทำให้เป็นรัฐน้อยที่สุด ต้องเป็นเอกชนมากที่สุด เพราะมองว่ารัฐไม่สามารถขยับได้เร็วเท่ากับเอกชน ที่ผ่านมาจึงได้มีการพยายามหาที่ปรึกษาเก่งๆ มาเติมเข้าไปในส่วนที่ขาด เพื่อเป้าหมายในการก้าวไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด …ถ้าถามว่ามีความหวังจะเป็นนโยบายระดับชาติ เป็นไปได้แค่ไหน...จากภาพรวมของการประชุมกันมาประมาณ 16-17 ครั้ง มีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง โดยมีภาครัฐ 10 หน่วยงาน ส่วนเอกชน - หน่วยงานร่วม 32 หน่วยงาน เป็นเพียงการพูดคุยในประเด็นทั่วไปเท่านั้น โดยไม่มีโครงสร้างเชิงนโยบาย ที่หน่วยงานนั้น ๆ ทำ และจับต้องได้

"AI" เทคโนโลยี "เปลี่ยนชีวิตมนุษย์"

ทุกหน่วยงาน ทราบแล้วว่า AI คือ อะไร จะมาเปลี่ยนอย่างไร แต่ทุกคนมักจะมองมันเป็นเทคโนโลยี ไม่ได้มองให้เป็นผลกระทบที่มีต่อชีวิตผู้คน ในชุดเดิมของคณะกรรมการ AI แห่งชาติ จะเห็นคนจากกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ไม่เห็นคนจากกระทรวงศึกษาฯ กระทรวงแรงงาน หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบและตามหลังประเทศอื่น ๆ

"ถ้าเรามอง AI เป็นเทคโนโลยี ปล่อยให้กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มันก็จะกลายเป็นเรื่องเทคโนโลยี ที่สำคัญกว่า เป็นเรื่องผลกระทบว่า คนกลุ่มใหญ่ในประเทศเราจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังแน่ ๆ เพราะว่าคนที่ไม่ได้ใช้ AI รับรองได้ท้ายสุดตารางแน่นอน คนที่มีความสามารถใช้ AI หรือมีความสามารถไม่พอแต่ใช้ AI ได้ ยังไงก็เหมือนมีเบาะรองรับว่าเขามีประสิทธิภาพดีกว่าคนปกติ ส่วนคนที่จะได้เปรียบที่สุดทั้งความสามารถดี เห็นวิสัยทัศน์ต่าง ๆ รู้ว่าจะเอาไปปรับใช้ยังไง ก็มีเครื่องมือที่ถูกต้อง เหมือนเรารบอยู่โดยเขาใช้ปืนกัน เราถือดาบวิ่งเข้าไป อย่างไรก็พรุน"

..ถ้าถามว่าต้องทำอะไรก่อน ระหว่างกฎหมาย หรือการวางนโยบายระดับชาติ หรือเอกชนจะต้องผลักดันอะไรแค่ไหน .. ส่วนตัวของ "ธีระชาติ" มองว่า การวางนโยบายสำคัญที่สุดสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่จะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ความถดถอยของการศึกษาในประเทศไทย ที่แม้กระทรวงศึกษาฯ จะได้งบประมาณมากที่สุดในประเทศ แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม ทำให้หลายคนพยายามผลักดันลูกหลานออกจากระบบการศึกษาไทยไปต่างประเทศ ในตอนนี้อาจจะถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องมานั่งคุยกันเป็นจริงจัง และลงมือทำให้ได้ว่า เราจะใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไรในการพัฒนาประเทศในทุกด้าน

AI สอนหนังสือ สอนภาษาได้ดีมาก ยิ่งตัวไหนที่ตอบโต้แบบเรียลไทม์ ทำให้การเรียนรู้ของแต่ละคนดีขึ้น ได้ฟัง ได้สนทนาเหมือนกับคุยกับเจ้าของภาษา และเติมเต็มในส่วนที่ขาดได้แบบครูธรรมดาไม่มีทางจัดการได้ ครูจะเปลี่ยนเป็นโค้ชมากกว่าที่จะเป็นผู้สอน

ถ้ามองในเชิงนโยบาย ต้องยอมรับว่าต้องใช้เวลาพอสมควรในการเตรียมความพร้อมครูให้มีทักษะด้าน AI และบทบาทที่เปลี่ยนไป เฉกเช่นเดียวกับปัญหาแรงงาน ประสบปัญหาค่าแรงสูง ทำให้หลายประเทศย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อ AI เข้ามามีบทบาท ไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการดึงฐานการผลิตกลับมา โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง (Infrastructure) ปัญหาค่าแรงแพงก็ไม่ได้เป็นปัญหาแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการวางนโยบายให้คนแรงงานมีสกิลรองรับงานที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ รวมไปรัฐสวัสดิการจะต้องแข็งแรงขึ้น สุดท้ายก็ยังไม่มีการคุยกันในนโยบายของแรงงาน ผลกระทบทางสังคม ของคน"

บทเรียน "ไทยแลนด์ 4.0 – AI" แห่งอนาคต

อยากชวนย้อนคิดตอนไทยแลนด์ 4.0 มันเป็นวาระแห่งชาติ ทุกคนพูดถึง แต่ผลลัพธ์มันกลายเป็นโปรเจคที่ล้มเหลว สิ่งนี้ทุกคนควรรับรู้ได้แล้วว่า เราจะแก้ปัญหาก็ต้องยอมรับก่อนว่ามันต้องแก้ที่ไหน จะได้เริ่มต้นถูก

...ถ้าถามว่า "ไทยแลนด์ 4.0" ล้มเหลวเพราะอะไร…? นอกเหนือจาก "startup" (บริษัทเกิดใหม่ที่กำลังดำเนินงานอยู่ในขั้นตอนแรกของแผนพัฒนาธุรกิจ) ไม่เก่งพอ ,นวัตกรรมบ้านเราสู้ต่างชาติไม่ได้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐไม่ได้ผลักดันให้เกิดการเข้าถึงในกลุ่มคน เพื่อให้เกิดการเติบโต กลับกันรัฐทำได้มากสุดคือการจัดอีเว้นท์ (Event) แข่งกับเอกชน โดยมีตัวชี้วัดเป็นปริมาณผู้เข้าชมมากกว่าคุณภาพ แต่สุดท้ายรัฐก็ยังต้องเป็นตัวขับเคลื่อน เพราะรัฐมีหน้าที่สร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ แรงจูงใจให้คนมาใช้ อย่างเช่น ลดภาษี 20-30%

"ถ้ารัฐมีนโยบายขับเคลื่อนว่า Thai First ต้องอุดหนุนซอฟต์แวร์ไทยก่อน เพราะว่ามันเงินภาษีของไทยนะ ไม่ใช่เหมือนแพลตฟอร์มเราเที่ยวด้วยกัน คนที่ได้ก่อน คือ อโกดา เงินมันก็ไหลออกทันที อันนี้น่ากลัว อย่างเงินดิจิทัลเหมือนกัน ใช้ซื้อของออนไลน์ เงินก็จะไหลออกไปจีนทันที เป็นสิ่งที่ต้องระวัง และต้องวางระบบให้ครอบคลุมเกิดประโยชน์กับคนไทย"

ธีระชาติ มองว่า สิ่งที่ต้องทำโดยเร็วที่สุดคือเรื่องระดับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ล่าสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ยังไม่ได้มีการนำเรื่อง AI บรรจุเข้าไป โดยให้คำตอบว่าต้องรอฉบับหน้าในอีก 5 ปี

"เราถามเรื่องเอไอ เขาบอกฉบับนี้ยังไม่ได้ใส่ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องรอฉบับหน้า ซึ่ง AI มันรอ 5 ปี ไม่ได้ โลกมันเปลี่ยนเร็วขนาดนี้ สุดท้าย เราก็จะกลายเป็นรั้งท้ายในการพัฒนาทุกด้าน"

ไม่เตรียมรับความเปลี่ยนแปลง รัฐตกขบวนรถไฟ "AI" ?

นโนบายใหญ่รัฐ ตอนนี้ทั้งโลกมาทาง AI ประเทศไหนที่ไม่ได้ขึ้นรถไฟขบวนนี้มีโอกาสจะไม่ทันขบวนรถไฟ ประเทศไทยจึงต้องรีบผลักเป็นวาระแห่งชาติ โดยเริ่มโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา เตรียมคนให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง สอดรับกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้ AI ดำเนินการใน 3 เรื่อง ส่งเสริมให้เกิด ควบคุมด้วยกฎหมาย และ เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

หากมองทั้ง 3 ข้อ สำคัญที่สุดคือ เตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง เพราะการส่งเสริมไม่สำเร็จอย่างไร ก็ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ดี ดังนั้นเตรียมพร้อมแล้วค่อยส่งเสริมก็ได้ ควบคุมด้วยกฎหมาย เป็นเรื่องที่ควรทำท้ายที่สุด เนื่องด้วยจะต้องมันเป็นสิ่งใหม่ที่เรายังไม่ได้รู้ว่าจะควบคุมอย่างไรให้ตรงจุด หากจะออกกฎหมายแบบเร่งรีบก็จะเกิดการโต้เถียง และทำให้คนรู้สึกกลัวที่จะเรียนรู้มากกว่า

เรามองว่าประเทศเราคือเกษตรกรรม อุตสาหกรรมค่อย ๆ ปรับมา แต่ถ้าเรายังไม่ทำให้คนเข้ามาในด้านเทคโนโลยีได้เยอะ มันแปลว่าไอ้ของที่เราเคยมีอยู่และส่งเสริมให้พัฒนาขึ้น เมื่อเราหันไปมองประเทศอื่น ๆ พอมองกลับมาอีกทีกลายเป็นว่าเรากำลังถดถอย อะไรที่เป็นแรงงานเราสู้แรงงานที่อื่นไม่ได้แล้ว มันผ่านเวลานั้นไปแล้ว ถ้าเราไม่รับตรงจุดนี้ และเรายังไปส่งเสริมแบบเดิม ๆ มันก็ยาก

กลับกันเราอาจจะมีข้อมูล AI ด้านเกษตรกรรมดีกว่าประเทศอื่น ถ้าเรานำ AI มาใช้ น่าจะได้เปรียบคนอื่น ต้องปรับประเทศให้เหมาะตามยุคตามสมัย ประเทศมันต้องหมุนและเปลี่ยนกติกาเปลี่ยนรูปแบบไปตามโลกที่มันหมุนไป คนที่ไม่ยอมเปลี่ยนไม่ยอมหมุนมันก็จะลำบากมาก นอกจากค่าแรงแพง คนน้อยลงก็จะยิ่งทำให้ค่าแรงแพงขึ้น ถ้าเราไม่เอาเทคโนโลยีมาใช้เราไปไม่รอดแน่นอน

พบกับรายการ : คุยนอกกรอบกับ สุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : 

สว.โหวตผ่าน 3 วาระรวด "งบดิจิทัล" 1.22 แสนล้านบาท

112 โทษแรงเหมาะสม! ไทยตอบข้อกังวล UN ปมยื่นยุบ "ก้าวไกล"

"เศรษฐา" ปัดตีตัวห่าง "ทักษิณ" ปมดรามา "ประยุทธ์" มางานศพแม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง