12 สิงหาคม "วันแม่แห่งชาติ 2567" มีประวัติและความสำคัญอย่างไร

ไลฟ์สไตล์
9 ส.ค. 67
12:50
26,957
Logo Thai PBS
12 สิงหาคม "วันแม่แห่งชาติ 2567" มีประวัติและความสำคัญอย่างไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
12 สิงหาคม "วันแม่แห่งชาติ" มีประวัติและความสำคัญอย่างไร พร้อมเปิดคำขวัญประจำปี 2567

วันแม่แห่งชาติ หรือ วันแม่ ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของคนไทย วันที่ลูก ๆ จะได้ระลึกถึงพระคุณของ "แม่" และยังเป็นวันหยุดราชการอีกด้วย

ประวัติความเป็นมา "วันแม่แห่งชาติ"

"วันที่ 12 สิงหาคม" เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยประเทศไทยกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม 2519 เป็น "วันแม่แห่งชาติ" เป็นปีแรก โดยก่อนหน้านั้นเคยมีการใช้วันที่ 10 มีนาคม, 15 เมษายน และ 4 ตุลาคม

งาน "วันแม่แห่งชาติ" ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2486 ที่ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ในช่วงนั้นเกิด สงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อ ๆ มาจึงต้องงดไป แต่เมื่อสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามจัดให้มีวันแม่ขึ้นมาอีกครั้ง และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง

ต่อมากำหนดให้วันที่ 15 เม.ย.ของทุก ๆ ปี เป็นวันแม่แห่งชาติ ตามมติของคณะรัฐมนตรี โดยเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ.2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน

ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น "วันแม่แห่งชาติ"

ดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันแม่ คือ "ดอกมะลิ"

ด้วยกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ และเป็นดอกไม้ที่มีสีขาว เปรียบได้กับความรักบริสุทธิ์ที่แม่มีต่อลูก ทำให้ "มะลิ" ถูกใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณะประจำวันแม่ 

อ่านข่าว : ที่มาที่ไป "ดอกมะลิ" สื่อรักวันแม่

คำขวัญวันแม่ 2567 

สำหรับปีนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน คำขวัญวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2567 ความว่า 

คือใยรักถักร้อยด้วยชีวิต สร้างอีกหนึ่งชีวิตจนเติบใหญ่ ทอเส้นสายคุณธรรมสู่หัวใจ ลูกทดแทนคุณแม่ให้สู่แผ่นดิน 

ความหมายคำว่า "แม่"

"แม่" ในสังคมไทยไม่ได้เป็นเพียงผู้ให้กำเนิด แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่บริสุทธิ์ ความเสียสละ 

คำว่า "แม่" นอกจากจะแปลว่า หญิงผู้ให้กำเนิดบุตรแล้ว ยังมีความหมายในลักษณะอื่นที่มีรากศัพท์มาจากความหมายดั้งเดิมของแม่อีกด้วย ยกตัวอย่าง เช่น ใช้คำว่า "แม่" เพื่อแสดงถึงต้นกำเนิดหรือแหล่งที่มา เช่น "แม่น้ำ" หมายถึงแหล่งน้ำที่เป็นต้นน้ำใหญ่ แม่คงคา แม่ธรณี แม่โพสพ เป็นต้น 

ความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่า "แม่" ยังมีความหมายในลักษณะอื่นที่น่าสนใจอื่นด้วย เช่น แม่ หมายถึง ผู้หญิงที่กระทํากิจการหรืองานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ค้าขาย เรียกว่า แม่ค้า ทําครัว เรียกว่า แม่ครัว และ แม่ที่ใช้เรียกสัตว์ตัวเมียที่มีลูก เช่น แม่ม้า แม่วัว

ไม่เพียงเท่านั้น หากคำว่า แม่ ในเชิงวิทยาศาสตร์ ใช้ในบริบทของการเป็นต้นแบบหรือแหล่งกำเนิด เช่น "แม่แบบ" หมายถึงต้นแบบของสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ฉะนั้นอย่างที่บอก คำว่า "แม่" จึงเป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางและลึกซึ้งในหลายแง่มุม ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ในบริบทต่าง ๆ นั้นเอง 

อ่านข่าว : 10 สายพันธุ์ "ดอกมะลิ" น่าปลูก ดอกไม้แทนรักบริสุทธิ์ของแม่

อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำว่า "แม่" ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้หญิงที่ให้กำเนิดลูกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแม่หรือผู้ที่เลี้ยงดูเด็กด้วยความรักและความเอาใจใส่ เช่น แม่บุญธรรม หรือผู้หญิงที่ทำหน้าที่แทนแม่ในครอบครัว

คำว่า "แม่" อาจถูกใช้ในบริบทของครอบครัวที่หลากหลาย เช่น ครอบครัวที่มีพ่อแม่เพศเดียวกัน ซึ่งผู้หญิงที่ไม่ได้ให้กำเนิดโดยตรงอาจยังคงถูกเรียกว่าแม่ หรือในครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง ซึ่งบุคคลที่ดูแลเด็กอาจถูกเรียกว่าแม่ได้เช่นกัน

ในปีนี้ 2567 วันที่ 12 ส.ค. ถือเป็นโอกาสดีที่ลูก ๆ อาจเพิ่มความพิเศษในการแสดงความรักและความกตัญญูต่อแม่ หรือ พ่อ และคนในครอบครัวทุกคนที่เรารัก ใส่ใจกันให้มากขึ้น ทำได้อย่างไรบ้างนั้น อาจเริ่มจากสิ่งเหล่านี้

  • ดูแลสุขภาพของแม่ : ใส่ใจเรื่องสุขภาพของแม่ ทั้งการพาแม่ไปตรวจสุขภาพประจำปี ดูแลเรื่องโภชนาการ ทำอาหารเติมสุขกันในครอบครัว และสนับสนุนการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยของแม่
  • ใช้เวลากับแม่ : ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะทำให้เราสามารถสื่อสารกันได้ตลอด รู้สึกเหมือนไม่ไกลกันขนาดนั้น แต่การใช้เวลากับแม่แบบเห็นหน้าเห็นตากัน ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ วันหยุดแนะนำลองพาแม่ออกไปเที่ยว ทำกิจกรรมร่วมกันนอกบ้าน เลือกกิจกรรมที่แม่ชอบ หรือแค่การนั่งคุยกันที่บ้าน สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้ก็เป็นเติมพลังใจให้กันได้ 
  • แสดงความรัก : ไม่ว่าจะผ่านทางการแสดงออกในชีวิตประจำวัน เช่น การกอด การบอกคำว่ารัก หรือดูแลแม่ในยามเจ็บป่วย นี่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและทำให้แม่รู้สึกมีคุณค่าและอบอุ่นใจ แน่นอน  
  • ให้กำลังใจและสนับสนุนแม่ : หาสิ่งที่แม่ชอบทำ แม่หลายคน ลดบทบาทในการทำงานลง หรือ เกษียณแล้วอาจมีความเคลียดได้ ลูกๆ ควรเป็นผู้ให้กำลังใจและช่วยให้แม่ผ่านพ้นสถานการณ์เหล่านั้น ไปด้วยกัน 

มาถึงตรงนี้เห็นได้ว่า การแสดงความรักกับ "แม่" ไม่จำเป็นต้องทำในโอกาสพิเศษเพียงอย่างเดียว  แต่ควรเป็นสิ่งที่ทำได้ในทุกๆ วัน และสม่ำเสมอ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็สามารถสร้างความสุขให้แม่ได้

คำขวัญ "วันแม่แห่งชาติ" ย้อนหลัง 22 ปี

2566

"รักของแม่หนักแน่นกว่าหินผา และอ่อนนุ่มเกินกว่าผืนผ้าไหม อบอุ่นอ่อนโยนกว่าสิ่งใด ลูกทำดีด้วยใจประกาศรัก"

2565

"พระคุณแม่ยิ่งใหญ่เกินใดเปรียบ จะหาใครมาเทียบยากจักหา ประพฤติดีด้วยใจกายวาจา ประกาศคุณมารดาต่อแผ่นดิน"

2564

"รักเอยรักแม่ ลูกทดแทนรักแท้ที่แม่ให้ เร่งพากเพียรทำดีด้วยหัวใจ ประกาศคุณแม่ไว้ในแผ่นดิน"

2563

"รักเอยรักลูก แม่จึงปลูกคุณธรรมให้รักษา รดความรักพรวนความดีมีเมตตา ลูกเติบใหญ่แทนคุณค่าของแผ่นดิน"

2562

"เพราะรักลูกมากกว่าใครในโลกหล้า เพราะพระคุณเลิศล้ำฟ้าจะหาไหน เพราะสอนให้ประพฤติดีทั้งกายใจ ลูกจึงรักแม่กว่าใครทดแทนคุณ"

2561

"เมื่อเรารวมกำลังกันทั้งชาติ ย่อมสามารถช่วยไทยไขปัญหา ผนึกแรงหลอมรวมร่วมปัญญา จักนำพาชาติตนรอดพ้นภัย"

2560

"สอนให้ลูกเรียนรู้สู้ปัญหา จนเติบใหญ่ แข็งแกร่ง เพื่อเป็นกำลังไทย ให้แข็งแรง"

2559

"สอนให้ลูกทั้งหลายเดินสายกลาง ทำทุกอย่างพอดีมีเหตุผล ประกอบด้วยคุณธรรมนำทางตน ย่อมได้คนดีพอต่อบ้านเมือง"

2558

"ดินและน้ำ ลมและฟ้า ป่าและเขา รวมกันเข้า คือ ทรัพย์สินแผ่นดินแม่ ฝากลูกไทยรวมใจภักติรักดูแล เพื่อมอบแก่หลานเหลนไทยไปชั่วกาล"

2557

"รักเรียนรู้งาน ถนอมบ้านเมืองไทย ร่วมใจสามัคคีคือ ลูกที่ดีของแม่"

2556

"คำโบราณว่าดูนางดูอย่างแม่คือ คำแปลว่าแม่ดีมีลูกเด่น จะชายหญิงรู้ชั่วดีมีกฎเกณฑ์ เพราะจัดเจนแบบอย่างในทางดี"

2555

"มือของแม่นั้นคือมือช่างปั้น ขึ้นรูปอันอ่อนลออจนหล่อเหลา อยากให้เป็นงานดีที่งามเงา อยู่ที่คอยขัดเกลาแต่เบามือ"

2554

"เพลงชาติไทย เตือนไทยไว้เช้าค่ำ ให้จดจำจารึกใจไว้ทุกส่วน จะดำรงคงไทยได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี"

2553

"แผ่นดินนี้แม่ของลูกใช้ปลูกข้าว กี่แสนก้าวที่เดินซ้ำย่ำหว่านไถ บำรุงดินจนอุดมสมดังใจ หวังนาไทยเป็นของไทยไปนิรันดร์"

2552

"แผ่นดินนี้ปู่ย่าตายายสร้าง เคยทอดร่างลงถมถิ่นแผ่นดินแม่ ขอลูกไทยรักษามั่นไม่ผันแปร เป็นไทยแท้มิใช่ไทยแต่ในนาม"

2551

"เมื่อเกิดมาอาศัยถิ่นแผ่นดินไหน ควรมีใจกตัญญูรู้คุณถิ่น หากคนไทยรู้ตอบแทนคุณแผ่นดิน จักไม่มีวันสิ้นแผ่นดินไทย"

2550

"ข้าวในนาปลาในน้ำคำโบราณ คือตำนานความอุดมสมบูรณ์สิน ฝากลูกไทยร่วมห่วงแหนรักแผ่นดิน ถนอมไว้อย่าให้สิ้นแผ่นดินไทย"

2549

"รักในหลวงพร้อมใจใส่เสื้อเหลือง รักบ้านเมืองจงน้อมใจให้สร้างสรรค์ ใส่สีเดียวแล้วใจเดียวกลมเกลียวกัน รักเช่นนั้นชาติของตนจึงพ้นภัย"

2548

"ดุจดังแม่ผู้ประเสริฐบังเกิดเกล้า เลี้ยงเราทุกคนมาจนใหญ่ ทุกคำข้าวคือสินแผ่นดินไทย ควรตรองใจทดแทนคุณแผ่นดิน"

2547

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ความว่า

"แม่ คือ ผู้ให้ ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดใด นอกจากความรักความเข้าใจจากลูก"

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ประทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ความว่า

"แม่ไม่อาจอยู่กับลูกได้ชั่วชีวิต ควรสอนให้เขารู้จักคิดและเลือกปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง"

2546

"สามร้อยหกสิบห้าวัน คือ วันแม่ มิใช่แค่วันใดให้นึกถึงสม่ำเสมอ สมัครจิตคิดคำนึง เหมือนแม่ซึ่งรักลูกครบทุกวัน"

2545

"แม่คือพระประจำอยู่ในบ้าน บูชาท่านไว้เถิดเกิดมิ่งขวัญ พระคุณแม่เลิศล้ำเกินรำพัน แม่จึงเป็นคนสำคัญทุกวัน"

2544

"พระองค์แรกผู้แสนดีให้ชีวิต ครูคนแรกผู้ประสิทธิ์การศึกษา สองหัตถ์โอบนคราพาร่มเย็น รวมคุณค่านี้ได้แก่แม่เราเอง"

วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม ของทุกปี ถือเป็นโอกาสดีที่ลูกจะได้แสดงความกตัญญูกตเวที รำลึกถึงบุญคุณของแม่ผู้ให้กำเนิด สุดท้าย อย่าลืม บอกรักแม่ทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะแค่วันแม่ เพราะนั้นคือ อายุวัฒนะ ช่วยเติมพลังใจให้แม่ ได้มีความสุขในทุกวัน   

อ่านข่าว : ลูกชวนออกกำลังกาย มอบ "สุขภาพที่แข็งแรง" ในวันแม่

ปฏิทินสิงหาคม 2567 หยุดยาว 3 วันติด ชาร์จพลังก่อนลุยงานต่อ!

มีคำตอบ! ก่อนนอนหรือตื่นนอน "แปรงฟัน" ตอนไหนดีกว่ากัน ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง