ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมโรงงานฯ ออกกฎเหล็ก คุม “ไซยาไนด์”

สังคม
12 ส.ค. 67
15:33
538
Logo Thai PBS
กรมโรงงานฯ ออกกฎเหล็ก คุม “ไซยาไนด์”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมโรงงานอุตสาหกรรม จับมือ อย.-กรอ. ออกกฎเหล็กควบคุมไซยาไนด์ หลังมีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ นอกเหนือกิจการอุตสาหกรรม ป้องเกิดเหตุสะเทือนขวัญ

วันนี้ (12 ส.ค.2567) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงการออกระเบียบควบคุมไซยาไนด์ว่า ล่าสุดได้กำชับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้มงวดกับสถานที่เก็บรักษาโพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบทุกครั้งประกอบการพิจารณาขออนุญาต เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบุคคล ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม

และกำหนดให้ผู้ที่มีโพแทสเซียมไซยาไนด์ในครอบครองตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไปในรอบ 6 เดือน มีหน้าที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงของการนำไปใช้ ปริมาณคงเหลือ การจำหน่าย เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบไปจนถึงผู้ใช้ได้

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงถึงการควบคุมสารโพแทสเซียมไซยาไนด์(potassium cyanide)ว่า โพแทสเซียมไซยาไนด์ไม่มีการผลิตในไทย ซึ่งโพแทสเซียมไซยาไนด์มีการควบคุมโดยหน่วยงานภาครัฐ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

โดยผู้ประกอบการต้องขอขึ้นทะเบียนพร้อมระบุวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ และขออนุญาตก่อนนำเข้า โดยการพิจารณาอนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนด และการนำไปใช้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ปรากฏในใบสำคัญการขึ้นทะเบียน

ส่วนกรณีมีโพแทสเซียมไซยาไนด์ในความครอบครอง ตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป ในรอบ 6 เดือน ต้องแจ้งข้อเท็จจริง เช่น ปริมาณการใช้ การจำหน่าย ปริมาณคงเหลือ และข้อมูลผู้ซื้อ เป็นต้น ตามแบบ วอ./อก.7 ซึ่งการประกอบการในระหว่างเดือนม.ค.-มิ.ย. ต้องแจ้งภายในเดือนก.ค.ของปีนั้น และการประกอบการ ในระหว่างเดือนก.ค.-ธ.ค. ต้องแจ้งภายในเดือนม.ค.ของปีถัดไป

จากเหตุกาณ์ที่มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ กรอ. ได้มีดำเนินการกำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้มีการนำโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยกำหนดให้ใบอนุญาตที่ออกใหม่มีอายุไม่เกิน 1 ปี และกำหนดให้เพิ่มเงื่อนไขในใบอนุญาตนำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์(ทั้งกรณีใบอนุญาตฉบับเดิมที่ยังมีอายุอยู่และใบอนุญาตที่ออกใหม่)

สำหรับกลุ่มผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้า สารโพแทสเซียมไซยาไนด์ที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามความเข้มข้นและวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ได้แก่ กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการโรงงาน กลุ่มผู้นำเข้าสำหรับห้องปฏิบัติการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และกลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการชุบล้างโลหะขนาดเล็ก

ดังนั้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ป้องกันประชาชนทั่วไปเข้าถึงวัตถุอันตรายดังกล่าว และมีการนำไปใช้ ผิดวัตถุประสงค์ กรอ. จึงได้มีการดำเนินการเพื่อควบคุมวัตถุอันตรายจำพวกสารประกอบไซยาไนด์

เช่น ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายจำพวกสารประกอบไซยาไนด์ และมีการนำเข้าสารดังกล่าวในปี พ.ศ. 2565 – 2566 จำนวน 37 ราย เพื่อควบคุมการจำหน่ายและการใช้สารประกอบไซยาไนด์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งหรือระบุในใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย

รวมถึงทำหนังสือขอความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดไม่ให้มีการโฆษณาและจำหน่ายวัตถุอันตรายจำพวกสารประกอบไซยาไนด์เพิ่มเติม จำนวน 13 รายการ เช่น โกลด์ โพแทสเซียมไซยาไนด์ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ และทำร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

เพื่อปรับปรุงการจัดชนิดวัตถุอันตรายในกลุ่มสารประกอบไซยาไนด์ จำนวน 6 รายการ จากเดิมที่มีการควบคุมเป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 ให้ยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายและขออนุญาต ตามมาตรา 36 และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

อ่านข่าว:

 “ราคาทอง”ครึ่งเช้า บวก 50 บาท “ทองรูปพรรณ” ขายออก 39,764 บาท

เปิดขาย “บอนด์ออมทรัพย์” รอบแรก 13 ส.ค.นี้ บนแอปเป๋าตัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง