วันนี้ (13 ส.ค.2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ...ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เสนอ
สาระสำคัญเป็นการการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับครอบครัว เพื่อให้บุคคล 2 ท่าน ไม่ว่าเพศใด สามารถทำการหมั้น และสมรสกันได้ ซึ่งยังคงหลักการสำคัญเรื่องชาย หญิงโดยกำเนิดและความเป็นสามีภริยาระหว่างชายและหญิงในปัจจุบันไว้
และได้เพิ่มเนื้อหาโดยมีเจตนารมณ์สำคัญ ที่ต้องการให้การก่อตั้งครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูและความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ตามกฎหมายของชาย หญิง และบุคคลทีมีความหลากหลายทางเพศในฐานะที่เป็นสามี ภริยา หรือคู่สมรส
โดยมีเนื้อหาที่กว้างขวาง และครอบคลุมเพื่อรับรองและคุ้มครองสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวของบุคคลดังกล่าวในฐานะที่เป็นสามี ภริยา คู่สมรส บิดา มารดา และบุตร ให้มีความเท่าเทียมกัน
โดยคำนึงถึงวิถีเพศ อัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศของบุคคล ไม่ให้นำเอาความแตกต่างทางเพศดังกล่าว มาเป็นข้อจำกัดในทางกฎหมาย ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และอยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป
รอหน่วยงานพิจารณาอีก 30 วัน
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ.....ของสภาฯ เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมเหตุผลประกอบร่างพ.ร.บ.บางประการ
และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ศึกษา และทบทวนการออกกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเรื่องอื่นใดเกี่ยวกับเด็กที่เกี่ยวข้องกับคู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การสร้าง “ครอบครัว” รวมทั้งการดูแลและอุปการะเลี้ยงดู “เด็ก” ซึ่งเป็นบุตรของผู้ทีมีความหลากหลายทางเพศ
อ่านข่าว "กม.สมรสเท่าเทียม" ผ่านแล้ว สร้างประวัติศาสตร์ชาติแรกอาเซียน
การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 เพื่อให้ครอบคลุมถึงผู้มีมีความหลากหลายทางเพศ การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศในประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น เพื่อให้ครอบคลุมบุคคลทุกเพศ
รวมทั้งการส่งเสริม และสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จดการอบรม เผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้แก่บุคลากรของตน รวมทั้งการจัดให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่สมรส และครอบ ครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้
อ่านข่าว "Pride Month 2567" อัปเดต "สมรสเท่าเทียม" กฎหมายถึงขั้นไหน
โดยให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำเหตุผลของร่างฯ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
พร้อมทั้งให้กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางความเหมาะสมของข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณา หรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป
อ่านข่าว
เส้นทาง 22 ปี สู่ "สมรสเท่าเทียม" อีกขั้นสู่ความเท่าเทียม
"เศรษฐา" ปัดแผนสำรองยุบสภา-รอฟังคำตัดสิน 14 ส.ค.
"เศรษฐา" ส่งเลขาธิการนายกฯ ฟังคดีศาล รธน.14 ส.ค.