กรณีมีกระแสข่าวว่าจะมีเรือขนฝุ่นแดง กากของเสียอันตรายบรรทุกขึ้นเรือ MAERSK CAMPTON ใส่ตู้คอนเทนเนอร์กว่า 100 ตู้ต้นทางจากประเทศแอลเบเนีย มุ่งหน้าปลายทางเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังประเทศไทย ตามกำหนดจะถึงไทย 20 ส.ค.นี้
ชี้ "ฝุ่นแดง" ของเสียอันตรายผิดอนุสัญญาบาเซล
วันนี้ (14 ส.ค.2567) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยข่าวกรอง และกรมศุลกากร ติดตามและยับยั้งการเคลื่อนย้ายของเสียแบบผิดกฎหมายด้วยเรือขนส่งสินค้า MAERSK CAMPTON จำนวน 2 ลำ ที่มีต้นทางจากประเทศแอล บาเนีย ปลายทางประเทศไทย
ทั้งนี้ คาดว่าเป็นการขน Electric Arc Furnace dust หรือฝุ่นแดง จากอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก 816 ตัน 100 ตู้คอนเทนเนอร์จากแอลบาเนีย ซึ่งเข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล และเป็นของเสียเคมีวัตถุตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
โดยประเทศไทย ไม่เคยได้รับการแจ้งขอความยินยอมการนำเข้าของเสียดังกล่าว รวมทั้งไม่เคยยินยอม หรืออนุญาตให้มีการนำเข้าของเสีย จึงถือเป็นการเคลื่อนย้ายของของเสียอันตรายแบบผิดกฎหมายภายใต้อนุสัญญาบาเซล
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2565 ประเทศไทยเคยมีหนังสือถึงรัฐบาลประเทศแอลบาเนีย ไม่ยินยอมให้นำเข้าของเสียดังกล่าวมาไทย ส่วนเคสล่าสุดกรมโรงงานอุตสาห กรรม ประสานงานอย่างใกล้ชิด กับหน่วยงานผู้มีอำนาจ (CA) ของประเทศแอลบาเนีย ประเทศต้นทาง และหน่วยงาน National Environment Agency (CA ของประเทศสิงคโปร์) ซึ่งเป็นประเทศผู้นำผ่าน คาดการณ์ว่าจะมีการถ่ายลำเรือของเสียดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ จึงให้เฝ้าระวังบริเวณท่าเรือและยับยั้งการเคลื่อนย้ายของเสียดังกล่าว
เรือ MAERSK CAMPTON ที่มีข่าวขนฝุ่นแดง 816 ตันตู้คอนเทนเนอร์กว่า 100 ตู้จากประเทศแอลเบเนีย (ภาพ Basel Action Network (BAN)
เอ็นจีโอเรียกร้องเบรก "ฝุ่นพิษ" เข้าไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีเรือขนฝุ่นแดงครั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับการประสานงาน และแจ้งข่าวการขนส่งของเสียดังกล่าว จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือ NGO ด้านสิ่งแวดล้อม 3 แห่ง ได้แก่ เครือข่าย Basel Action Network (BAN) สหรัฐอเมริกา องค์กร Friends of the Earth ประเทศแอฟริกาใต้ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ หรือ EARTH ประเทศไทย
มูซา ชามาน นักรณรงค์ด้านขยะของมูลนิธิ GroundWork ระบุว่า แอฟริกาใต้เข้าใจถึงความอยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมจากการค้าขยะทั่วโลกได้เป็นอย่างดีเราเรียกร้องให้มีการสกัดกั้นเรือลำนี้และลำต่อไป
รวมทั้งวิเคราะห์ตู้คอนเทนเนอร์ที่นี่ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีประเทศหรือมหาสมุทรทางใต้แห่งใดเสี่ยงต่อการทิ้งขยะพิษเหล่านี้ หากพบว่ามีขยะพิษอยู่ภายใน จะต้องส่งคืนให้กับผู้ส่งโดยตรงด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง และจะต้องไม่ปล่อยให้ตกค้างอยู่ในแอฟริกาหรือทิ้งในประเทศไทย
หากได้รับการยืนยันว่าเป็นของเสียอันตราย โดยบทบัญญัติของอนุสัญญาบาเซิล ซึ่งเป็นสนธิสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยการค้าของเสียอันตรายและของเสียอื่น ๆ ภาชนะดังกล่าวอาจถูกยึดและส่งกลับไปยังแอลเบเนียได้
ในทำนองเดียวกัน ในประเทศไทย กลุ่มสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ EARTH ได้แจ้งให้รัฐบาลของตนทราบถึงการขนส่งฝุ่นควบคุมมลพิษจำนวนมหาศาลมาไทย
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ไทยจะไม่ยอมรับการเป็นแหล่งทิ้งขยะอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะพลาสติกจากทั่วโลกเรียกร้องให้รัฐบาลไทย และรัฐบาลแอฟริกาใต้ดำเนินการที่จำเป็นเพื่อหยุดยั้ง หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ฝุ่นพิษจะแพร่กระจายไปสู่ภาคเกษตรหรือถูกทิ้งในประเทศไทย
ก่อนหน้านี้ทางการจีนได้หยุดการขนส่งขยะประเภทเดียวกันนี้เมื่อมาถึงจีนแล้ว โดยพบว่าการขนส่งดังกล่าวมีตะกั่วเป็นพิษมากกว่า 8%
เส้นทางการเดินเรือ MAERSK CAMPTON ที่มีข่าวขนฝุ่นแดง จากประเทศแอลเบเนียจะผ่านไทย (ภาพ Basel Action Network (BAN)
“มนพร” สั่ง ”แหลมฉบัง“ ยกระดับเฝ้าระวัง
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมมอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อตรวจสอบ และป้องกันการลักลอบการนำสารพิษเข้ามายังประเทศไทยในทุกช่องทาง
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผอ.ท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับการยืนยันจากตัวแทนสายเรือว่าเรือทั้ง 2 ลำ เป็นเรือในเครือของ MAERSK CAMPTON ที่จดทะเบียนในธงอังกฤษ และไม่ได้เป็นของ MAERSK แต่เป็นเรือที่ได้รับสัญญาเช่าในนาม MAERSK เพื่อขนส่งสินค้า
โดยไม่มีเส้นทางการเดินเรือประจำในไทย จึงไม่ได้มีกำหนดเข้าไทย และพบว่าเรือที่เป็นข่าวลำแรก อยู่ในบริเวณทะเลฝั่งทวีปแอฟริกา และเรืออีกลำอยู่ระหว่างเดินทางไปประเทศสิงคโปร์
ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
ตอนนี้สั่งการให้ท่าเรือแหลมฉบัง เกาะติดสถานการณ์ พร้อมยกระดับการเฝ้าระวัง ประสานงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อความไม่ประมาท และป้องกันการลักลอบนำสารพิษเข้ามาในประเทศไทย
ตามระเบียบการท่าเรือว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับสินค้าอันตรายของท่าเรือแหลมฉบัง พ.ศ.2559 จะต้องมีการตรวจสอบเอกสารล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ก่อนเรือสินค้าเทียบท่า นอกจากนี้ยังมีการประสานร่วมกับสำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง เร่งตรวจสอบหากมีการนำเข้าตู้สินค้าดังกล่าว
อ่านข่าวอื่นๆ
How to แก้ปัญหา "ท่อตัน" ไม่ต้องง้อช่าง