วันนี้ (14 ส.ค.2567) หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 5:4 ถอดถอนความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ทำให้สิ้นสุดความเป็น "นายกรัฐมนตรี" นั่นหมายถึง
- นายกรัฐมนตรีพ้นตำแหน่ง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และไม่สามารถทำหน้าที่ "รักษาการนายกรัฐมนตรี" ได้
- ครม. 34 คน พ้นตำแหน่ง แต่ยังสามารถทำหน้าที่ "ครม.รักษาการ" ได้
- สส. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมได้
ภูมิธรรม นั่ง "ผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี"
ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญไทย รัฐบาลมิสามารถว่างเว้นจากการไร้ซึ่ง "นายกรัฐมนตรี" ได้ ดังนั้น "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ จะขึ้นนั่งตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรีรักษาการ" หรือชื่อเต็ม ๆ "ผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี" ทันที โดยสามารถทำหน้าที่ "แทบทุกอย่าง" เหมือนกับนายกรัฐมนตรี ได้ เว้นเพียงแค่การเซ็นแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากร-ข้าราชการ และ การเซ็นงบประมาณต่าง ๆ
นั่นหมายความว่าอำนาจ "ยุบสภา" รักษาการนายกฯ ก็สามารถสั่งการได้
เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติว่า
1. การพิจารณาแต่งตั้งผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี
ม.159 วรรคแรก ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
2. คะแนนเสียงรับรองการเสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี
ม.159 วรรคสอง ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
3. การลงมติแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
มาตรา 159 วรรคท้าย ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
4. ระยะเวลาในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการดำรงการไว้
และหากท้ายที่สุด รัฐบาลไม่สามารถสรรหานายกรัฐมนตรีจากแคนดิเดตนายกฯ ที่มีได้ ก็ยังมีช่องทางการหา "นายกฯ คนนอก" ได้อีกเช่นกัน
อ่านข่าวเพิ่ม :
"เศรษฐา" ไม่รอด ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินพ้นตำแหน่งนายกฯ
ชมสดศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย "คดีเศรษฐา"