วันนี้ (22 ส.ค.2567) สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ขณะนี้เข้าขั้นวิกฤตบางพื้นที่น้ำได้เข้าท่วมโรงเรียนจนทำให้ต้องมีการสั่งหยุดเรียน
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ พบว่า มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมแล้ว 73 แห่ง ในพื้นที่ 14 จังหวัด มากที่สุดใน จ.เชียงราย ถึง 26 แห่ง รองลงมาเป็น จ.พะเยา 14 แห่ง และ จ.ตาก 6 แห่ง
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ มีข้อกังวลถึงสถานการณ์น้ำท่วมเป็นอย่างมาก ได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาทุกพื้นที่เฝ้าระวังแล้ว และฝากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประเมินสถานการณ์ตามความเหมาะสม หากจำเป็นต้องประกาศปิดโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและครู ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนดำเนินการได้ทันที
พื้นที่ไหนที่น้ำกำลังมาให้เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลากให้เหมาะสม ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ทราบถึงผลกระทบ เพื่อเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดเหตุ
ส่วนสถานศึกษาใดที่มีความพร้อมในการเป็นที่พักพิงชั่วคราว ให้ช่วยกันอย่างเต็มกำลังโดยคำนึงถึงความปลอยภัยกับทุกฝ่ายด้วย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลเรื่องอาหารและการบริจาคของต่าง ๆ รวมถึงจัดส่งเรือมอบถุงยังชีพเข้าช่วยเหลือตามสถานศึกษา บ้านพักครู หรือบ้านเรือนของนักเรียน
ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า ได้จัดตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมของโรงเรียนทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด
ขณะนี้โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยให้แต่ละโรงเรียนรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่องวันละ 2 ครั้ง หากต้องการความช่วยเหลือให้รีบประสานผ่านวอร์รูมที่ตั้งขึ้นมา เพื่อจะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าช่วยเหลือต่อไป
ขณะเดียวกันกำชับให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาประเมินสถานการณ์และสั่งหยุดเรียนได้ทันที หากสถานการณ์เข้าขั้นรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมโรงเรียน หรือ ท่วมถนนเส้นทางที่สัญจรมาโรงเรียน
นอกจากนี้ ยังให้โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำและโรงเรียนที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วม จัดทำแผนเผชิญเหตุ และขนย้ายอุปกรณ์การเรียนขึ้นที่สูง โดยหลังน้ำลด หรือ สถานการณ์กลับเข้าภาวะปกติ ให้แต่ละโรงเรียนสำรวจความเสียหายของโรงเรียน รวมถึงความเดือดร้อนของนักเรียน เพื่อจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
ทั้งนี้ แต่ละปี พบว่า ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมอาคาร อุปกรณ์การเรียนการสอน และเยียวยานักเรียน ประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนที่ต้องหยุดเรียนหลายวัน ได้ให้แต่ละโรงเรียนเตรียมแผนการสอน ซึ่งอาจจะนำวิธีการสอนช่วงโควิด-19 มาใช้
สำหรับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงและน้ำท่วมบ่อยครั้ง กำลังให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาวางแผนระยะยาวแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจจะทำเขื่อนกั้นน้ำ หรือ ย้ายโรงเรียนไปตั้งในพื้นที่ปลอดภัย
อ่านข่าว : ปภ.เตือน 43 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน วันที่ 24-30 ส.ค.นี้
“ภูมิธรรม” ตั้งวอร์รูมเกาะติด "น้ำท่วมเหนือ" คาดไม่หนักเท่าปี 54
"แพทองธาร" ห่วงสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ