ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แพทย์ ย้ำ "ฝีดาษลิง" ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกัน

สังคม
24 ส.ค. 67
09:00
975
Logo Thai PBS
แพทย์ ย้ำ "ฝีดาษลิง" ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"หมอยง" ย้ำว่า ประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษวานร Mpox หากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เพราะโอกาสการระบาดต่ำกว่าโควิด-19 แนะหลีกเลี่ยงหรือสัมผัส กับบุคคลที่ต้องสงสัย ดูแลสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง

วันนี้ (24 ส.ค.2567) นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ถึงกรณีการฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษวานร Mpox ว่า ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน ยกเว้นกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น บุคคลที่จะมีโอกาสสัมผัสกับโรคได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะกลุ่ม ชายรักชาย และผู้ที่ชอบสนุก มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก รวมทั้งบุคคลที่จะเดินทางไปยังแหล่งระบาดของโรคในแอฟริกา เช่นคองโก

โดยทั่วไปแล้วการระบาด ของฝีดาษวานรในปัจจุบัน ยังไม่ได้ติดต่อกันง่าย อย่างเช่นโควิด การติดต่อจะต้องมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่นเพศสัมพันธ์ นอนเตียงเดียวกัน ในบุคคลธรรมดาทั่วไปจึงมีความเสี่ยงต่ำ

สายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะระบาดเข้ามา ถ้าเปรียบเทียบความรุนแรงของโรค ก็ยังน้อยกว่าโควิด-19 ในช่วงระยะแรก ประชากรผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ที่เคยปลูกฝีแล้ว หรือผู้ที่เกิดก่อนปี 2523 ก็จะมีภูมิที่สามารถข้ามไปปกป้องฝีดาษวานรได้ ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังป้องกันได้บ้างและลดความรุนแรงของโรคได้

วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีราคาแพงมาก ต้องให้ 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน และการฉีดแบบลดขนาดเข้าผิวหนัง ก็จะทำให้ถูกลง แต่จะต้องรวมกลุ่มคนไปฉีด เพราะขวดหนึ่งที่ฉีด 1 คน 0.5 ml เอามาแบ่งฉีดได้ 4 คน หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 5 คน ก็ยังมีราคาแพง

ฝีดาษวานรระยะฟักตัว 5-14 วัน ผู้สัมผัสโรคต้องเฝ้าระวัง 21 วัน

ฝีดาษวานร เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีระยะฟักตัวประมาณ 5-14 วัน (ช้ากว่าโควิด-19) โดยจะเริ่มอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เหมือนไข้ในโรคไวรัสทั่วๆ ไป หลังจากมีไข้แล้วประมาณ 1-2 วันก็จะมีตุ่มขึ้น โดยที่ตุ่มที่ขึ้น จะมากหรือน้อย แล้วแต่บุคคล หรือภูมิต้านทานของโรค

ผู้ป่วยจำนวนมากจะมีตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ รอบก้น ในเด็ก จะขึ้นได้ทั่วไป บริเวณไหนก็ได้ ลักษณะของตุ่มที่ขึ้นจะแตกต่างกับสุกใส คือในฝีดาษวานร ตุ่มเกือบทั้งหมดจะมีระยะเดียวกัน และจะสุกพร้อมกัน ซึ่งต่างกับสุกใส ตุ่มจะมีหลายระยะ บางตุ่มใสแล้ว บางตุ่มพึ่งขึ้นแดงๆ ตุ่มของฝีดาษจะขึ้นที่มือและเท้า ที่ฝ่ามือฝ่าเท้า มากกว่าลำตัวซึ่งต่างกับสุกใส จะขึ้นที่ลำตัวมากกว่า

เมื่อตุ่มที่ใสในฝีดาษวานร จะบุ๋มตรงกลาง หรือที่เรียกว่า umbilicated lesion ส่วนสุกใสจะมีลักษณะใส ชัดเจน ผู้ที่มีผื่นตามตัวหรือแพ้ง่าย ผื่นจะมีโอกาสขึ้นได้มาก และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้มือไปแกะเกา แล้วมาขยี้ตา ก็อาจจะเกิดรอยโรคขึ้นที่ตา และเยื่อบุนัยน์ตา

ต่อมาก็จะตกสะเก็ด ตุ่มที่เกิดขึ้นรวมทั้งสะเก็ด มีเชื้อไวรัสจำนวนมาก สามารถติดต่อได้ ลักษณะอาการกว่าจะหายหมดใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ จนมั่นใจว่าตุ่มทุกตุ่มหายไป และไม่มีสะเก็ดหลงเหลืออยู่ ผู้สัมผัสโรค จะต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างน้อย 21 วัน ถ้าไม่มีอาการก็ไม่น่าจะติดโรค

เลี่ยงสัมผัสผู้ต้องสงสัย ดูแลสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง

ทั้งนี้สำหรับการป้องกันและมาตรการทางสาธารณสุข ที่สำคัญจะต้องไม่ให้เกิดการระบาดของโรค สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องช่วยกัน ดังนี้

พยายามหลีกเลี่ยงหรือสัมผัส กับบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นฝีดาษวานร มีตุ่มน้ำสงสัยว่าเป็นฝีดาษวานร และสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงที่อาจจะนำเชื้อ Mpoxvirus โดยเฉพาะสัตว์ต่างถิ่น สัตว์ที่นำเข้ามาจากแอฟริกาในตระกูลหนู

หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือไม่รู้จัก โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย

ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เช่นในกลุ่ม ชายรักชาย หรือ จะต้องเดินทางไปในประเทศแอฟริกา ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน
ดูแลสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง ล้างมือ อยู่เป็นนิจ

รวมถึงติดตามและรับรู้ข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลที่ปรากฏทางสื่อสังคมออนไลน์ ให้รู้จักคิดและวิเคราะห์ ว่าเป็นข้อมูลปลอมหรือข้อมูลจริง

อ่านข่าว :

เฝ้าระวัง Mpox ให้ผู้โดยสารจากพื้นที่เสี่ยงลงทะเบียน Thai Health Pass

คนแรกในไทย! ชายชาวยุโรปฝีดาษลิง "สายพันธุ์ Clade 1B"

เช็กอาการฝีดาษลิงสายพันธุ์ "Clade 1B " ใครกลุ่มเสี่ยง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง