ความพยายามสำคัญกว่า "ชัยชนะ" ความนัย "โค้ชอ๊อด" เกียรติพงษ์

กีฬา
27 ส.ค. 67
12:30
107
Logo Thai PBS
ความพยายามสำคัญกว่า "ชัยชนะ" ความนัย "โค้ชอ๊อด" เกียรติพงษ์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กว่า 11 ปี ในฐานะโค้ชผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลหญิงไทย ได้สานฝันให้เป็นจริงด้วยการล้มทีมชาติจีนได้ 3-1 เซต ในศึกชิงแชมป์เอเชียเมื่อปี 2552 ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ คว้าแชมป์เอเชียมาครองได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

นั่นคือความสำเร็จของ "โค้ชอ๊อด" เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร และทีมวอลเลย์บอลหญิงไทย ที่ปลุกพลังคนไทยให้กลับมาเชียร์กีฬาวอลเลย์บอลเพิ่มขึ้น แม้ว่าในตอนนี้ "โค้ชอ๊อด" จะเปลี่ยนมาอยู่ในตำแหน่ง "ประธานฝ่ายเทคนิค สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย" แต่ทุกอย่างที่ผ่านมาก็นับเป็นประสบการณ์และยังถูกนำมาพัฒนาเพื่อฝันว่า "วอลเลย์บอลหญิงไทย" จะไปสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

"รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" คุยกับ "โค้ชอ๊อด" ถึงแนวคิดในการพัฒนาวงการวอลเลย์บอลหญิงไทย กับความภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จของนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงไทย

"โค้ชอ๊อด" บอกถึงการปรับบทบาทจากโค้ชผู้ฝึกสอน มีความมุ่งมั่นในการพัฒนานักกีฬาให้ขึ้นไปอยู่ในระดับต้น ๆ ของเอเชีย และก้าวไปสู่ระดับโลก แต่เมื่อมาอยู่ในฐานะ "ประธานฝ่ายเทคนิค สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย" จะต้องมีการวางนโยบายภาพรวมใหญ่เพื่อให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งจะต้องสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพสูงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทีมบริหาร ทีมสตาฟโค้ช ทีมนักกีฬา แต่ก็ต้องมีกระบวนการทำงานเป็นไปในทางสากลขึ้น เนื่องด้วยจะต้องบริหารในอาเซียน

ดังนั้นจะต้องรู้นโยบายของอาเซียนทำอย่างไร ? เอเชียทำอย่างไร ? จะที่จะมีแผนอย่างไร ? โลกเขามีแผนงานอย่างไร ? ซึ่งจะต้องวางแผนให้มันสอดคล้องกันในการทำยุทธศาสตร์การพัฒนา

พัฒนา 4 ด้าน เพื่อชนะการแข่งขัน

โค้ชอ๊อด ขอบคุณทุกโอกาสที่ทำให้มายืนในจุดนี้ ในช่วงที่เป็นโค้ชมีคำถามตัวเองอยู่ 2 คำถาม คือ เรามีนักกีฬามีผลงานอยู่ในระดับเวิลด์คลาสหรือยัง ? เรามีสตาฟโค้ชอยู่ในระดับเวิลด์คลาสหรือยัง ? เป็นสิ่งที่ต้องตอบตัวเอง ตั้งโจทย์ให้ตัวเองทำให้สำเร็จ โดยการวางระบบเพื่อดูแลนักกีฬาทั้ง 4 ด้าน

ร่างกาย จิตใจ เทคนิค แท็กติก ขณะที่อีกด้านก็คือหาคนเก่ง ๆ ในระดับบริหารเพื่อเข้าใจในการสร้างทีมไปเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย การบริหารทีมสตาฟโค้ช และผู้ฝึกสอน อย่างไรให้คนพวกนี้ทำงานด้วยกันในระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้คนทั้ง 4 กลุ่มมีแนวทางการทำงานสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีอนาคตข้างหน้าที่เหมือนกัน

อีกหนึ่งกระบวนการที่สำคัญมาก ต้องพัฒนาคน 4 กลุ่ม ในวิธีการที่แตกต่างกัน นักกีฬาก็แบบหนึ่ง สตาฟโค้ชก็แบบนึง Sport science (นักวิทยาศาสตร์ด้านกีฬา) ก็จะให้งานวิจัยในด้านต่าง ๆ เพื่อที่จะถ่ายทอดไปให้นักกีฬาด้วย พอเขาเก่งเขาดีขึ้นแล้วในกรอบของการพัฒนา เราก็ต้อง สร้างแรงจูงใจคนเก่งทั้ง 4 กลุ่ม ได้ทำงานร่วมกัน

เช่น นักกีฬา ก็ส่งออกไปอยู่ต่างประเทศ ให้เขาไปเรียนรู้เปิดโลก ไปเปิดชีวิตในต่างประเทศ ให้เขามีมุมมองของการที่จะเป็นนักกีฬาทีมชาติ และก็เป็นนักกีฬาอาชีพด้วย ส่วนสตาฟโค้ชก็ให้ไปอยู่สโมสรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจะได้มีมุมมองใหม่ ๆ แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ก็ให้เขาไปนำเสนองานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อตัวเขาเอง ต่อลูกศิษย์ สุดท้ายเป็นสิ่งที่ยากมาก คือ การรักษาคนเก่งให้ยาวนาน "สร้างคนเก่งยังไม่ยาก เท่ากับการรักษาคนเก่ง"

"จะพบว่านักกีฬาวอลเลย์บอลรุ่นเก่าเป็นรุ่นที่อยู่ด้วยกันนานมาก ประมาณ 10 กว่าปี คงไม่มีชาติไหนในโลก หรือมีน้อยมากที่จะมีนักกีฬาที่เล่นรวมตัวกันเกือบ 20 ปี แต่ว่าคนพวกนี้ก็จะเป็นฐานให้กับรุ่นน้อง เป็นโมเดลที่ประเทศอื่นเขาก็ทำไม่เหมือนเรา เราก็ทำแบบประเทศอื่นไม่ได้ เพราะว่าคนของเรามันมีน้อยและจำกัด เราก็ต้องพยายามที่จะสรรหาคนรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน ในขณะที่ทดแทนเราก็ยังไม่ทิ้งคนรุ่นเก่า ให้เขารักให้เขากีฬา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเขาเหมือนเป็นครูช่วยผมอีกที และก็สอนน้อง ๆ รุ่นใหม่เข้ามา"

ความสำเร็จต้องใช้เวลา

สิ่งที่ได้ทำมาตลอดระยะเวลาสิบกว่าปี ตอนนี้เกิดผลชัดเจนจากนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงชุดปัจจุบันที่เราพัฒนาเขาเมื่อปี 2557 ในขณะอายุ 15-16 ปี เราได้พาเขาไปชิงแชมป์โลก ไปนู่น ไปนี่ สอนเขาอยู่ประมาณ 6-7 ปี ในขณะเดียวกันพี่ ๆ ก็ยังอยู่ แล้วตอนนี้พี่ ๆ เขาลาวงการไปแล้ว น้อง ๆ ก็กลายมาเป็นทีมใหญ่ทดแทน ถือเป็นการส่งไม้ต่อกัน แม้อาจจะต้องใช้เวลานานหน่อยแต่ถือว่าคุ้มค่า เนื่องด้วยกีฬาวอลเลย์บอลไม่สามารถโละไปหมดแล้วสร้างใหม่เหมือนกีฬาอื่น

โค้ชอ๊อด ย้อนให้ฟังว่า หลายครั้งนำทีมไปแข่งกับหลายประเทศก็แพ้กลับมา แต่โดยส่วนตัวมองว่า "เป็นการเรียนรู้ เพราะครูที่ดีที่สุด คือ ความพ่ายแพ้" แต่ถ้าถามว่า ความพ่ายแพ้จะทำให้เสียขวัญไม่ใช่เหรอ ? เราก็ต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส มีคำพูดที่ทำให้นักกีฬาเห็นว่าพวกเขาสามารถพัฒนาฝีมือไปได้ และต้องเข้าใจว่ากีฬาไม่แพ้ก็ชนะ ทุกคนก็อยากจะชนะหมด แต่สำคัญที่สุดคือ "ความพยายามที่จะชนะ สำคัญกว่าชัยชนะ"

บางเกมเราแพ้แต่เล่นดีมาก คู่แข่งขันยำเกรงและกลัวเรามาก ซึ่งแม้จะไม่ได้ชัยชนะ แต่เราได้เรียนรู้ เพราะการที่เราได้ต่อกรกับทีมระดับแชมป์โอลิมปิก แล้วเรามีร่างกายที่เสียเปรียบเขา แต่เรามีอย่างอื่นที่ได้เปรียบเขา เรามีสภาพจิตใจที่ดี สิ่งที่เราได้มากคือเทคนิค ยุทธวิธี ที่จะสามารถพัฒนาต่อไปได้

"ผมก็จะให้ข้อคิดเขาเสมอ เช่นทักษะที่เรามีเล็กน้อย วันนี้เราอาจจะอยากชนะอเมริกา ทุกคนก็อยากจะชนะ แต่วันนี้เราได้แค่ 2 เซต คราวหน้าเราจะชนะเขาให้ได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่ชนะทุกทีมในโลก ตอนนี้เราชนะทุกทีมในโลกแล้ว แต่กว่าจะชนะทุกทีมในโลกเราต้องอดทนเข้มแข็งและต้องถ่ายทอด ต้องสอน ต้องให้เขามีความเพียร วิริยะ และศรัทธา สติ"

เรียนรู้จากประสบการณ์

ส่วนหนึ่งของการทำงาน โค้ชอ๊อด ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาจากครูอาจารย์ที่มีความเคารพที่เป็นความโชคดีได้ทุนไปเรียนที่ต่างประเทศ อาจารย์ผู้สอนหลายคนเป็นแชมป์ระดับโลก ที่ทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการสอนโค้ชชิ่ง จะสอนอย่างไรให้เด็กเขาพัฒนา, เทคนิค และ แท็กติก ในระดับโลกเป็นอย่างไร เทรนนิ่งการฝึกซ้อมอย่างไรให้เหมาะสมกับตัวผู้เล่น, รวมถึงทีมการทำงานแบบทีมเวิร์ก

ดังนั้นพอมาทำหน้าที่โค้ช เราจึงต้องวางแผนการสร้างทีมในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ต้องคิดว่า จะเอาชนะแต่ละทีมอย่างไร เพราะแต่ละทีม แต่ละประเทศการเล่นไม่เหมือนกัน ข้อด้อยข้อดีของเราอยู่ตรงไหนที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และในระหว่างการเล่นจะต้องวางแผนแก้เกมอยู่ตลอดเวลา

จะเห็นว่าทีมเราไม่เหมือนทีมอื่น เพราะเล่นได้ก็ยิ้ม เล่นเสียก็ยิ้ม เอาจริง ๆ เราก็อยากจะบอกว่า เป็นคาแรคเตอร์ของคนไทยนะ ว่าจริง ๆ แล้วการแข่งขันกีฬาไม่ใช่ว่าเราไม่ต้องการชัยชนะ เราอยากได้ชัยชนะ แต่ว่าเราจะสนุกกับการเล่นในขณะนั้น และให้อภัยกัน

โค้ชอ๊อด บอกว่า บางเกมนักกีฬามีความคาดหวังมากเกินไปว่าจะชนะ เพราะเป็นทีมที่เราเคยชนะมาก่อนแล้ว เมื่อคาดหวังไว้มากแต่ทำไม่ได้ สิ่งที่เคยทำได้ดีก็เกิดเป็นความเครียด ส่งผลให้เล่นไม่สนุก เล่นแบบไม่อยากแพ้ จึงพยายามจะบอกเขา คอยเตือนสติ แม้ในบางเกม ผู้เล่นเราแข่งกับทีมชั้นนำระดับโลก "เราแพ้เขา 2 แต้ม" แต่จริง ๆ แล้วในความห่างของ 2 แต้มเยอะมาก

"ถ้าคนเป็นโค้ช เราต้องเข้าใจว่าไม่ได้แพ้แค่สองแต้มนะ แต่เป็นการแพ้เยอะมาก ทั้งเรื่องจิตใจ เทคนิค ทีมตรงข้ามอาจจะเล่นสบาย ๆ แต่เราเล่นเต็มที่ ในขณะเดียวกันการเล่นเต็มที่ของเรา แต่ในจิตใจที่มีสภาวะอยากจะชนะก็ถือว่าแพ้ห่างมากแล้ว"

วิเคราะห์ขาด แก้วิกฤตระหว่างเล่น

"ต้องวิเคราะห์ให้ขาด" เป็นสิ่งที่ โค้ชอ๊อด จะมองอันดับแรก เพื่อปรับการเล่นให้ได้คะแนนเพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญ คือ การควบคุมสถานการณ์ของผู้เล่นและเกม

"สไตล์ผมบางจังหวะจะไม่เปลี่ยนตัวผู้เล่น เพราะมองดูแล้วว่าการเปลี่ยนเสียมากกว่าได้ และจะสร้างกำลังใจให้เขาสู้ต่อ เราจะดูว่านักกีฬาพยายามไหม ถ้าพยายามเต็มที่แล้วทำไม่ได้เสียคะแนนมาก ก็จะบอกว่าเดี๋ยวพักตั้งสติก่อนก็ได้ เดี๋ยวลงไปใหม่นะ"

แต่บางเกมเราก็จะบอกว่าเปลี่ยนตัวไม่ได้ เพราะจะไม่พัฒนาเลย ก็ต้องปล่อยไปให้เขาได้ลองคิดและทำมันให้ได้ ถามว่าส่วนใหญ่ได้ผลไหม ? ต้องตอบว่า "มีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล" แต่สิ่งที่ลงทุนสำคัญมาก ทั้งทีมต้องให้อภัย และต้องเข้าใจน้อง ๆ ต้องให้อภัยเพื่อน ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ เราจะไปสู่ระดับโลกไม่ได้

เส้นทางไปโอลิมปิก วอลเลย์บอลหญิง

โอลิมปิก 2028 ที่ลอสแอนเจลิส มีเส้นทาง 3 ช่วง เส้นทางแรกหากทีมวอลเลย์บอลหญิงได้แชมป์ในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชียในปี 2026 จะได้สิทธิ์ไปโอลิมปิกทันที ดังนั้นเราจะต้องวางแผนพัฒนาการเล่นทุกอย่างตั้งแต่ปีนี้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคนขึ้นมาสำรองในทีมชุดปัจจุบัน

ส่วนปี 2027 จะเป็นการแข่งขัน "เวิลด์ แชมเปียนชิป" ซึ่งทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยจะต้องชนะให้มากที่สุดเพื่อให้อยู่ในอันดับ TOP 10 ให้ได้ ที่จะทำให้มีโอกาสสูงในการเข้าไปสู่โอลิมปิก ซึ่งในระหว่างนั้นช่วง 4 ปี ก็จะมีการสะสมคะแนนจากการแข่งขัน "เนชันส์ ลีก" เพื่อจัดอันดับคะแนนสะสม หากทีมเราสามารถอยู่ใน 3 อันดับแรก ก็จะได้สิทธิ์ไปโอลิมปิกเช่นกัน

"ผมถึงบอกว่า มันมีหวัง ดังนั้นทำกีฬาก็ต้องบอกเส้นทางของความหวัง และให้เด็กเขาเข้าใจ ให้เขารู้ตั้งแต่ต้นว่าเส้นทางการเดินมีที่ไหนอย่างไรบ้าง อุปสรรคมีอะไรบ้าง" โค้ชอ๊อด ทิ้งท้าย

พบกับรายการ: รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

อ่านข่าวอื่น :

นายกฯ โยน พปชร.เคลียร์ให้จบ เร่งจัด ครม.เชื่อคนตกโผไม่น้อยใจ

ไทม์ไลน์ "ผู้ว่าฯ พุฒิพงศ์" คุมน้ำท่วม ตรงวัน "อนุทิน" ลงเชียงราย

ท้ายน้ำระวัง! เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม 917 ลบ.ม.ต่อวินาที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง