รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ทำให้ "ประชาธิปัตย์" ภายใต้การนำของ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" หัวหน้าพรรคได้ถูกกล่าวถึงอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ถูกจับตามองว่า เป็นพรรคอะไหล่ "รอเสียบ" มาตั้งแต่ครั้งตั้งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และก็ไม่ผิดหวัง เมื่อได้รับเทียบเชิญจากพรรคเพื่อไทย ให้เข้าร่วมรัฐบาล ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ อดีต สส. และ สส. เสียงส่วนน้อยในพรรคฯ เมื่อ อุดมการณ์ทางการเมืองในอดีต ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก
พรรคเพื่อไทยส่งจดหมายเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลแพทองธาร
อ่านข่าว : จากอดีตที่ยิ่งใหญ่ของ ปชป. ถึงวันอยู่ใต้อาณัติ “ชินวัตร”
14 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข "พรรคการเมือง" ถูกสร้างขึ้นเป็นตัวแทนกลุ่มคนที่มีแนวคิด อุดมการณ์เหมือนกันมารวมตัวกัน
มีพรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกลุ่มต่อต้านกษัตริย์นิยม สนับสนุนอดีตขบวนการเสรีไทย "หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์" และกลุ่มพรรคอนุรักษ์นิยมและกษัตริย์นิยม พรรคก้าวหน้า โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ พรรคประชาธิปไตย ของ ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ที่ภายหลังรวมตัวกันเป็น "พรรคประชาธิปัตย์" และพากันมาหา "พันตรี ควง อภัยวงศ์" ที่บ้านหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อให้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค และให้ถือเอาวันที่ 6 เม.ย.2489 ซึ่งตรงกับ "วันจักรี" เป็นวันก่อตั้งพรรค
จนถึงปัจจุบันปี 2567 เกือบ 8 ทศวรรษของ "ประชาธิปัตย์" บนเส้นทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถือเป็นพรรคการเมืองที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ อยู่เบื้องหน้า เบื้องหลัง การก่อตั้งรัฐบาล ร่วมรัฐบาล เป็นรัฐบาลเงา แม้กระทั่งยอมเสียสิทธิ์ไปเป็นฝ่ายค้านเสียเอง
อุดมการณ์ไม่สืบทอด "เผด็จการ"
หลังก่อตั้งพรรคได้เพียง 1 ปีเศษ ๆ เกิดรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 พันตรี ควง อภัยวงศ์ ถูกเชิญมาเป็น "นายกรัฐมนตรีพลเรือน" ต่อมาได้ประกาศการเลือกตั้งปี 2491 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงข้างมากเป็นครั้งแรกด้วยจำนวนเก้าอี้ สส. 53 ที่นั่งจาก 99 ที่นั่ง รัฐสภาเลือก พันตรี ควง กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งแต่สุดท้ายถูกบีบให้ลาออก และได้ "หลวงพิบูลสงคราม" ดำรงตำแหน่งแทน
พันตรี ควง อภัยวงศ์ นายกฯ คนแรกของพรรคประชาธิปัตย์
หลังจากที่ได้เป็นรัฐบาลแล้วถูกบีบให้เป็นฝ่ายค้าน "ประชาธิปัตย์" ก็ปฏิบัติหน้าที่พรรคฝ่ายค้านมาโดยตลอด ตั้งแต่รัฐบาลทหารของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ระหว่างปี 2501-2511 และ รัฐบาลของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง เพื่อให้ได้เป็นนายกฯ สนองความทะเยอทะยานในอำนาจ จนกระทั่งเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 การชุมนุมเรียกร้องของนักศึกษาและประชาชน เรียกร้องให้ นายกฯ เผด็จการลาออก และเกิดการเลือกตั้งในปี 2518 พรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาทำหน้าที่รัฐบาลและมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่เสียงสนับสนุนในวันแถลงนโยบายไม่เพียงพอ ในรัฐธรรมนูญสมัยนั้นถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจาก สส. ทั้งหมด ม.ร.ว.เสนีย์ และพรรคประชาธิปัตย์จึงแสดงความรับผิดชอบ โดยการลาออก และสละสิทธิ์การตั้งรัฐบาล และกลายเป็นฝ่ายค้าน อีกครั้ง
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกฯ คนที่ 2 ของพรรคประชาธิปัตย์
หลังเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ตามมาด้วยการยุบสภา มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ก.ย.2535 พรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น มี "ชวน หลีกภัย" เป็นหัวหน้าพรรค ได้ออกวาทกรรม
ผมเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา ประกาศไม่เอาการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ รสช. และไม่เอาท่าทีแข็งกร้าวแบบจำลอง ศรีเมือง
จนชนะการเลือกตั้งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในรอบ 16 ปี และประชาธิปัตย์ก็ได้ นายกฯ คนที่ 3 คือ "ชวน หลีกภัย" และกลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ วาระ 2 ในปี 2540 หลังการประกาศลาออกของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง
อ่านข่าว : พยัคฆ์ซ่อนเล็บบ้านป่าใหญ่ "ลุงป้อม" หมอบเฝ้า รอวันเอาคืน
ชวน หลีกภัย นายกฯ คนที่ 3 ของพรรคประชาธิปัตย์
ถูกร้องยุบพรรค แต่รอดยุบพรรค
ปี 2541 ทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย แม้ไม่ใช่ศัตรูคู่อาฆาตโดยตรง แต่ถือว่าเป็นคนละขั้วความคิด พรรคประชาธิปัตย์ คือตัวแทนค่ายอนุรักษ์นิยม ส่วน "ไทยรักไทย" ในขณะนั้น เป็นตัวแทนของ"ทุนนิยม" ด้วยแนวทางนโยบายและการทำงานที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในการเลือกตั้งปี 2544 และ ปี 2548 "ไทยรักไทย" คว้าเก้าอี้ฝั่งรัฐบาลได้ทั้ง 2 สมัย
ในปี 2549 พรรคประชาธิปัตย์ยื่นฟ้องต่อ กกต. ให้ดำเนินคดียุบพรรคไทยรักไทยเพราะทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่ก็ถูกพรรคไทยรักไทยฟ้องกลับว่าพรรคสีฟ้าจ้างพยานเท็จป้ายสี ท้ายที่สุด 30 พ.ค.2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ โดย คปค. วินิจฉัยยกคำร้องในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ และมีมติให้ยุบ พรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กที่ถูกฟ้องร่วมในคดี และตัดสิทธิเลือกตั้ง กก.บห. ไทยรักไทย และพรรคเล็กทั้งหมด เป็นเวลา 5 ปี
คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 นายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเงินบริจาค จากบริษัทเอกชนและใช้จ่ายไปโดยผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย โดยไม่แจ้งต่อ กกต. จึงขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ และตัดสิทธิ์เลือกตั้งของหัวหน้าและ กก.บห. แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องมาล่วงระยะเวลา 15 วัน จึงไม่ชอบที่จะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องสืบไป และให้ยกคำร้อง
ประกาศตั้งรัฐบาลเงาเช็ก "พลังประชาชน"
การเลือกตั้งปี 2550 พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนอันดับ 2 พ่ายให้แก่พรรคพลังประชาชน ตัวตายตัวแทนพรรคไทยรักไทย นำโดยสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลังการจัดตั้งรัฐบาลผสม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้ประกาศจัดตั้ง "รัฐบาลเงา" หรือ "ครม.เงา" เพื่อตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลและนำเสนอแนวทางการบริหารประเทศควบคู่ไปกับการบริหารงานของรัฐบาล ตามรูปแบบ "คณะรัฐมนตรีเงา" ของประเทศอังกฤษ ถือเป็นครั้งแรกที่ไทยได้ยินคำนี้ในวงกว้าง
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ คนที่ 4 ของพรรคประชาธิปัตย์
ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งส่งผลให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ขณะนั้นพ้นจากตำแหน่ง รัฐบาลเงากลับพลิกจัดตั้งเป็นรัฐบาลผสม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ และประกาศยุบสภาในปี 2554 ต่อมารัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าบริหารประเทศจากการชนะการเลือกตั้งปี 2554 และจบลงด้วยการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ
อุดมการณ์ที่ไม่ถูกสืบทอด
หลังจากที่ คสช. ยึดอำนาจการปกครอง การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของทุกพรรคการเมืองถูกจำกัด รัฐบาล คสช.ทำร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เสร็จ แต่พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่ามีประเด็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมในอนาคต จึงมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว แต่ผลประชามติของประชาชนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ พรรคจึงเดินหน้าเตรียมตัวเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 โดยชูนโยบายไม่เลือกฝ่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการ และไม่เลือกฝ่ายการเมืองที่พัวพันการทุจริต
พรรคประชาธิปัตย์ไม่ชนะการเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประกาศลาออกแสดงความรับผิดชอบ และที่ประชุมใหญ่เลือก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 8
จุรินทร์ ประกาศจุดยืนใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ เน้นทำการเมืองแบบตอบโจทย์ รับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกพรรคและประชาชน และเข้าร่วมรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ สมาชิกพรรคหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางใหม่แบบนี้ของพรรค จึงทยอยลาออก
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ดูเหมือนผลของการประกาศจุดยืนใหม่ แต่กลับเข้าร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่พรรคเคยยึดถืออุดมการณ์มาอย่างยาวนานว่าไม่สนับสนุนระบอบเผด็จการทหาร จะแสดงผลอย่างชัดเจนในการเลือกตั้ง 2566 ประชาธิปัตย์ที่เคยรุ่งโรจน์ กลับได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนเพียง 25 ที่นั่งในสภา จุรินทร์ต้องประกาศลาออกแสดงความรับผิดชอบ
เกิดความโกลาหลวุ่นวาย การเลือกหัวหน้าพรรคถึง 3 ครั้งจนได้ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ข่าวลือ สส.พรรคสีฟ้าบางคนมีดีลลับกับ ทักษิณ ชินวัตร ที่ฮ่องกงเพื่อขอเข้าร่วมรัฐบาล อภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากพรรค
เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
และล่าสุด "สรวงศ์ เทียนทอง" รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ส่งจดหมายเชิญให้ประชาธิปัตย์รับขันหมาก ให้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร พลิกสถานภาพจากพรรคฝ่ายค้านกลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในที่สุด
"ประชาธิปัตย์" พรรคการเมืองที่อายุมากที่สุดของประเทศไทยและอาเซียน หากเปรียบการเดินทางเป็นเช่นชีวิตมนุษย์ก็เหมือนผู้เฒ่าวัย 78 ปี ผ่านร้อน ผ่านหนาวมาทุกยุคทุกสมัย แต่ขวบปีนี้น่าจะเป็น "ครั้งแรก" ที่ลูกแม่พระธรณีทั้งหลายเสมือนถูก "บีบหัวใจ" เมื่อตอบรับ จับขั้วกับ "เพื่อไทย" ศัตรูคู่อาฆาตมานานกว่า 20 ปี
การจับขั้วในครั้งนี้จะนำไปสู่การแตกสลายของพรรคประชาธิปัตย์ในกาลข้างหน้าหรือไม่ เลือกตั้งครั้งต่อไปคงได้รู้กัน
อ่านข่าวเพิ่ม :
จากอดีตที่ยิ่งใหญ่ของ ปชป. ถึงวันอยู่ใต้อาณัติ “ชินวัตร”
"อดิศร" ชี้ "บิ๊กป้อม" ไม่ควรร่วมเป็นรัฐบาล
พท.เทียบเชิญ ปชป.ร่วมรัฐบาล "เดชอิศม์" รอมติพรรคบอกได้ 2 รมต.