นโยบายรถยนต์คันแรก แรงกระตุ้นตลาดขายได้คาดถึง 1 ล้านคัน ปี 2554-2555
จากมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการคืนภาษีสำหรับรถยนต์คันแรกที่มีข้อสรุปออกมาในวันที่ 13 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางตลอดตั้งแต่ช่วงการจัดการเลือกตั้งเมื่อกลางปี 2554 ที่ผ่านมา
เนื่องจากเป็นนโยบายที่จะมีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อรถของผู้บริโภค และการวางแนวทางการทำตลาดของค่ายรถยนต์เพื่อให้สอดคล้องกับประโยชน์ที่จะได้รับจากนโยบาย โดยผลของนโยบายที่ออกมานี้ย่อมมีส่วนอย่างมากในการกำหนดทิศทางตลาดรถยนต์ในประเทศในช่วงที่เหลือของปี 2554 และตลอดทั้งปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงที่นโยบายมีผลบังคับใช้
จากหลักเกณฑ์สำคัญสำหรับผู้ซื้อรถที่จะได้รับคืนเงินภาษี คือ รถที่ซื้อนั้นจะต้องมีราคาขายปลีกไม่เกิน 1 ล้านบาท และอยู่ในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 cc. รถกระบะ (Pick up) และรถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Double Cab) รวมถึงเกณฑ์ในการคืนภาษีจะคืนให้เท่ากับภาษีสรรพสามิตที่รถยนต์แต่ละคันต้องจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท ทำให้ตลาดรถยนต์ที่ได้รับประโยชน์ถูกจำกัดให้แคบลงโดยหากมองถึงศักยภาพในการซื้อรถของผู้ซื้อซึ่งต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยครอบครองรถมาก่อน ราคาจำหน่ายรถยนต์แต่ละรุ่น และจำนวนเงินคืนภาษีซึ่งเปรียบเสมือนส่วนลดของราคารถยนต์แล้ว ทั้งรถอีโคคาร์ และรถยนต์นั่ง (<1,500 cc) ดูจะเป็นประเภทของรถที่มีโอกาสทำยอดขายได้สูงกว่ารถอีก 2 ประเภทที่เหลือ
จากผลของนโยบายรถคันแรกนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะช่วยกระตุ้นตลาดในช่วงที่เหลือของปี 2554 ท่ามกลางการแข่งขันกันนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของค่ายรถออกมา ทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2554 นี้ มีโอกาสขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12 ถึง 17 หรือคิดเป็นจำนวนยอดขายรถยนต์ 900,000 ถึง 940,000 คัน เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าที่ 880,000 ถึง 920,000 คัน
และเนื่องจากผลของนโยบายดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2555 ประกอบกับจะมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆที่เตรียมจะเปิดตัวออกสู่ตลาดในปีหน้านี้ ทำให้คาดว่าตลาดรถยนต์จะยังได้รับอานิสงส์ ของนโยบายต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2555 ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2555 มีโอกาสขยายตัวร้อยละ 7-12 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ 980,000 ถึง 1,030,000 คัน
นอกเหนือจากผลของนโยบายรถคันแรก การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด และรายได้ของเกษตรกรที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์แล้ว ยังอาจต้องพิจารณาปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะผลของทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และมีโอกาสที่จะชะลอตัวลงได้ ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยในปีหน้านี้ ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอาจต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกำลังการผลิตรถยนต์บางรุ่นที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าระดับปกติ