วันนี้ (5 ก.ย.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในกลุ่มคนทำงานด้านการศึกษา หลังจากเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำป้ายประกาศไปติดที่หน้าศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ ต.บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
บนป้ายเป็นเอกสารระบุว่า “ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ จัดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 จึงให้ยุติกิจการดังกล่าวทันที และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน”
ทั้งนี้ในเฟสบุ๊กของของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2567 นายโชคดี ศรัทธากาล ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้ นายเสาวพจน์ รัตนบุรี รองศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายสุภนันทน์ จันทรา นิติกรชำนาญการ ร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีการจัดตั้งสถานศึกษา และการจัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และวันที่ 4 ก.ย.2567 นายโชคดีลงพื้นที่ติดประกาศให้ยุติกิจการดังกล่าวทันที และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานจัดการศึกษาให้เด็กเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากประเทศพม่าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีเด็กอยู่ร่วมพัน แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
อย่างไรก็ตามการสั่งปิดศูนย์การเรียนแห่งนี้ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากปัจจุบันมีศูนย์ประสานงานการศึกษาในลักษณะนี้อยู่ในประเทศไทยถึง 63 แห่ง มีเด็กเคลื่อนย้ายจากประเทศพม่า กำลังศึกษาอยู่ไม่น้อยกว่า 20,000 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีคลิปเด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ร้องเพลงชาติไทย และเพลงชาติพม่าหน้าเสาธง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ร้องเพลงชาติพม่าชัดกว่าเพลงชาติไทย และมีความเห็นต่าง ๆ จากคนไทยจำนวนมากในลักษณะที่ระบุว่า ไม่เหมาะสมเพราะเป็นแผ่นดินไทย เรื่องนี้ได้กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ทำให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ มีคำสั่งให้มีการตรวจสอบสถานศึกษาอย่างเข้มข้น
นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labor Protection Network : LPN) กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าการปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ เป็นความบ้าจี้ของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากคลิปเด็กร้องเพลงชาติพม่าในไทยหรือไม่ แต่ปัจจุบันมีเด็กเคลื่อนย้ายจากพม่านับหมื่นคน เรียนอยู่ในศูนย์การเรียนในลักษณะเดียวกับศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ เพียงแต่ศูนย์การเรียนที่สุราษฎร์ธานี แห่งนี้ เป็นการออกแบบและประสานงานกันเองของคนพม่า ที่เชื่อมต่อกับภาคเอกชนไทย ที่ให้เช่าสถานที่แต่ไม่มีร่มใหญ่ และเท่าที่รู้เขาก็พยายามที่จะจดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แต่เนื่องจากไม่มีเจ้าภาพ ทำให้ระบบการจัดการอาจมีปัญหา แต่การปิดครั้งนี้เป็นการใช้อำนาจของศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด
ผู้อำนวยการ LPN กล่าวว่า ในส่วนของ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีศูนย์ในลักษณะเดียวกับที่สุราษฎร์ธานี อยู่หลายแห่ง โดยมีศูนย์ใหญ่อยู่ที่ อ.กระทุ่มแบน แต่การออกแบบและบริหารเป็นเครือข่ายชาวพม่า ที่อยู่ภายใต้ร่มของ LPN และประสานกับทุกหน่วยงาน ซึ่งได้เคยมาเยี่ยมดูที่ศูนย์กันหมดแล้ว
อย่างไรก็ตามเมื่อมีคลิปไวรัลของเด็กนักเรียน ที่ร้องเพลงชาติพม่า เกิดขึ้นในโลกออกไลน์และกระทรวงศึกษาธิการ สอบถามมาว่า ใช่เป็นโรงเรียนที่ LPN เป็นร่มให้หรือไม่ ซึ่งตนก็ตอบว่าไม่ใช่ โดยที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัด ตม.และหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้าไปเยี่ยมแล้ว เพื่อให้เห็นการจัดการร่วมกันอย่างไ รในการดูแลคุ้มครองเด็ก ซึ่งเราได้ทำเอกสารประวัติเด็กครบทุกคนและรู้ว่าพ่อแม่อยู่ที่ไหน เพื่อให้รู้ตัวตน
การจดทะเบียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น การจัดทำหลักสูตร ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ที่ผ่านมามีเด็กจำนวนหนึ่งทะลักเข้าประเทศไทยเนื่องจากต้องหนีสงคราม และความขัดแย้งในประเทศพม่า และผู้ปกครองหนีการเกณฑ์ทหาร ทำให้เข้าเรียนระหว่างเทอมไม่ได้ และไม่รู้จะไปไหนจึงต้องใช้ศูนย์การเรียนในลักษณะนี้ และผมเรียกว่าเป็นฝึกอบรมเด็กเพื่อเตรียมความพร้อม ตอนนี้มีเด็กเข้ามาเยอะมาก ทั้งใน กทม.และปริมณฑล
ผู้อำนวยการ LPN กล่าวว่า ในระดับนโยบายรัฐบาล ต้องเข้าใจต้นทางของเด็กเหล่านี้ให้มากเพราะการใช้เรื่องความมั่นคงเป็นหลัก โดยการจับและผลักดันกลับอย่างเดียว ก็ไม่เป็นผลดีเพราะเหมือนกับส่งเขากลับไปตาย และคนเหล่านี้ต่างหนีร้อนมาพึ่งเย็น ที่สำคัญคือการดูแลและคุ้มครองเด็กควรประกาศให้ชัดเจนว่า เด็กทุกคนที่เกิดและอยู่ในประเทศไทย หรือเป็นผู้ติดตาม รัฐต้องให้การปกป้องคุ้มครอง
“ศูนย์การเรียนแต่ละแห่งที่ตั้งขึ้นมา ภาครัฐควรเข้ามาส่งเสริมและกำกับดูแล ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ไม่ใช่จ้องที่จะปิดเขา ควรมีความยืดหยุ่นสูง เพื่อเป้าหมายในการดูแลคุ้มครองเด็ก อย่าลืมว่า ศูนย์เหล่านี้ทำหน้าที่ดูแลเด็กแทนรัฐด้วยซ้ำไป เพราะรัฐเองไม่มีนโยบายเชิงรุก ที่จะเข้ามาดูแลเด็กกลุ่มนี้ แต่การที่รัฐไปชี้นิ้วบอกอันนั้นผิด อันนี้ผิด ทำให้จะตายกันหมด ถ้าคุณเอากฎหมายเข้าไปจัดการกับศูนย์การเรียนทั่วประเทศ ผิดหมดเลยเพราะบางศูนย์ไม่ได้มีสถานภาพที่จะไปจดเบียน มีเด็กไม่น้อยกว่า 5-6 หมื่นคนอยู่ในศูนย์การเรียนแบบนี้” นายสมพงค์ กล่าว