แม้หลักฐานการเสียชีวิตของ นางหลิน หลิน เมื่อ 18 ม.ค. 2556 ชี้ไปที่คดีฆาตกรรม แต่ในปีนั้นมีตำรวจ 4 หน่วยงาน รับทำสำนวนการสอบสวน ก่อนเป็นคดีพิเศษ แต่ภายหลังพนักงานสอบสวนให้ความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” ทำให้นายหลิน โหย่ว หลุดพ้นกระบวนการยุติธรรม และเดินทางออกจากประเทศไทย
ครอบครัวชาวจีน ใช้เวลากว่า 3 ปีนับจากวันที่ลูกสาวเสียชีวิต เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมขอให้รื้อฟื้นคดี จนศาลจังหวัดเกาะสมุยประทับรับฟ้องคดีนักธุรกิจชาวจีนฆาตกรรมภรรยาอีกครั้งในปี 2558 โดยมีนายหลิน กั๋วเหิง พ่อของนางหลิน หลิน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาด้วยตัวเอง แต่กลับไม่พบนายหลิน โหย่ว ในวันนัดจำเลยมาให้การในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
คดีฆาตกรรมนางหลิน หลิน ถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง ในปี 2558 หลังจากครอบครัวผู้ตาย ทำจดหมายร้องเรียนส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรื่อง การดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ไม่เป็นธรรม
ครอบครัวชาวจีน เดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูกสาว หลังมั่นใจว่าคดีพลิก ไม่เป็นธรรม
เนื้อหาในข้อร้องเรียนตอนนั้น ระบุถึงความไม่เป็นธรรมที่ได้รับ เริ่มตั้งแต่พนักงานสอบสวน สภ.เกาะสมุย เจ้าของคดี แจ้งข้อกล่าวหานายหลิน โหย่ว ข้อหาฆาตกรรมนางหลิน หลิน กลับมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และก้าวก่ายสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนท้องที่
จดหมายร้องเรียน อ้างหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ทั้งสองหน่วยงานใช้งบประมาณของผู้ต้องหา นายหลิน กั๋วเหิง จึงร้องเรียนเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา
ในเวลาเดียวกัน นายหลิน โหย่ว เดินเรื่องขอโอนสำนวนการสอบสวนไปที่กองบังคับการตำรวจกองปราบปราม ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่นายหลิน กั๋วเหิง มองว่าผิดปกติ จึงทำหนังสือไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ทบทวนคำขอของนายหลิน โหย่ว
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น มีคำสั่งตั้งคณะทำงานร่วมสอบสวน โดยมีพล.ต.อ.รชต เย็นทรวง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน
จากนั้น นายหลิน โหย่ว ได้ร้องให้โอนสำนวนการสอบสวนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมี พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน เป็นพนักงานสอบสวน และสรุปสำนวน มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้นายหลิน โหย่ว ได้รับอิสรภาพตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2556
มีคำถามและข้อสงสัยจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า เหตุใดคดีฆาตกรรมที่ดูไม่มีเงื่อนงำ และมีพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าใครเป็นคนร้าย แต่กลับได้รับความสนใจจากพนักงานสอบสวนหลายหน่วยงานเข้าดำเนินคดี แม้เป็นการร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรมของแต่ละฝ่าย จนอาจเรียกได้ว่า แย่งกันทำสำนวนการสอบสวน
ปี 2546 นายหลิน โหย่ว ถูกหมายจับตำรวจสากล ข้อหาจ้างวาน สนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
นางเวโรนิก้า หลิน ภรรยาชาวสวีเดนของนายหลิน โหย่ว คนก่อนหน้านางหลิน หลิน เสียชีวิตจากการถูกมีดแทงหลายแผล ที่บ้านในเมืองสตอล์คโฮม ประเทศสวีเดน และพบศพ เพื่อนบ้านสัญชาติจีน ถูกหั่นศพฝังไว้บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุ
คดีฆาตกรรม 2 ศพ ถูกนำขึ้นในการพิจารณาคดีของศาลสูง ฐานจ้างวานฆ่า แต่คดีไม่คืบหน้า เพราะ ผู้ต้องหาหลบหนีประกันในชั้นศาล เดินทางออกนอกประเทศ ท่ามกลางการตั้งคำถามจากหลายฝ่ายถึงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งสำนักข่าวประเทศสวีเดนให้ความสนใจคดีฆาตกรรมนางหลิน หลิน ที่ประเทศไทย เนื่องจากรูปคดีคล้ายกัน ผู้ต้องสงสัยคนเดียวกัน และหลุดรอดการรับโทษไปได้เช่นเดียวกัน
“ เหตุใดผู้ต้องสงสัยคนนี้จึงหลบหนีการดำเนินคดีได้ มีอิทธิพลหรือไม่ หรือมีการเอื้อประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรม”
: สำนักข่าวประเทศสวีเดน
ส่วนการฟ้องร้องคดีแพ่ง ล่าสุดครอบครัวของนางหลิน หลิน ได้รับเงินส่วนแบ่งสินสมรสและรายได้ที่เกิดจากอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย คือ บ้านพักส่วนตัวบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี สถานที่เกิดเหตุ มูลค่าราว 60 ล้านบาท
นายหลิน โหย่ว เป็นผู้ต้องหาหมายแดงตำรวจสากล 3 ประเทศ คือสวีเดน จีน และไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมที่ศาลนครต้าเหลียน ประเทศจีน หลังจากมีข้อมูลว่านำสำนวนคดีฆาตกรรมอำพรางที่ประเทศไทยจากสำนักงานอัยการสูงสุดขึ้นประกอบการพิจารณาคดีในเดือนตุลาคม 2567
รายการเปิดปมตอน เงินซ่อนปมฆ่า ออกอากาศวันที่ 4 กันยายน 2559