วันนี้ (7 ก.ย.2567) นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 7 แจ้งเตือน 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพมหานคร
จากการคาดการณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำฝนพบพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก จึงต้องเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่น "ยางิ" ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวมาจากประเทศฟิลิปปินส์ แม้กรณีพายุไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย แต่อาจมีอิทธิพลที่จะส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในวันนี้มีร่องมรสุมพาดผ่านตอนกลางของประเทศ
ในอีก 1-7 วันข้างหน้า วันที่ 12 ก.ย.2567 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,500 - 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขามีปริมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณ 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับทางกรมชลประทาน ได้มีการผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในอัตรา 300 ลบ.ม./วินาที
ทางกรมชลประทานมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราระหว่าง 1,500 -1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 20 - 50 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และในแม่น้ำน้อย ที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำ หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป
ชาวนครสวรรค์ริมน้ำยมยังเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ
ที่ จ.นครสวรรค์ ชาวบ้านริมแม่น้ำยม ต.ท่าไม้ อ.ชุมแสง เก็บทรัพย์สินสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูงหนีน้ำเพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วม หลังระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น
ชาวบ้านบอกว่าหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำจึงเกิดปัญหาน้ำท่วมทุกปี และปีนี้ก็ยังไม่ไว้วางใจ ประกอบกับยังมีประกาศเตือนจากหน่วยงานต่างๆ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์
ชัยนาทอพยพประชาชนท้ายเขื่อนเจ้าพระยาหวั่นน้ำท่วมสูง
สถานการณ์น้ำภาคกลาง เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปรับแผนการระบายน้ำลงท้ายเขื่อน อัตรา 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วง 1-3 วันนี้ เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้ชาวบ้าน อ.สรรพยา ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ต่างเริ่มกังวลว่า น้ำจะท่วมบ้านสูงจนอาศัยอยู่ไม่ได้ เพราะบางหลังเป็นบ้านชั้นเดียว จึงพากันออกไปสร้างเพิงพักชั่วคราวบนถนนริมคลองมหาราช
อ่างทองกระแสน้ำเชี่ยว ทำดินริมตลิ่งทรุดตัว
สถานการณ์น้ำที่ ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เจ้าหน้าที่กองช่างเทศบาลตำบลป่าโมก นำกระสอบทรายและเสาไม้ เพื่อวางเป็นแนวคันป้องกันตลิ่งทรุดตัวเพิ่มเติม หลังระดับน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น กระแสน้ำไหลเชี่ยว จนกัดเซาะดินใต้ถนนคอนกรีตทรุดตัว เป็นระยะทางกว่า 20 เมตร ซึ่งจุดนี้เกิดเหตุเช่นนี้บ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงโค้งน้ำ ชาวบ้านกังวลใจว่า หากระดับน้ำเจ้า พระยาเพิ่มสูงขึ้นอีก แนวคันที่สร้างไว้จะพังทลาย ทำให้น้ำหลากเข้าท่วมชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ
มอบของช่วยเหลือชางบ้านรอบกว๊านพะเยา
จ.พะเยา เจ้าหน้าที่มูลนิธิธรรมประชาทร นำน้ำอาหารเข้าแจกจ่ายกับชาวบ้านในพื้นที่บ้านฝั่งหมิ่น หมู่ที่ 4 ต.ดอกคำใต้ อ.ดอกคำใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ระดับน้ำสูง 30-80 เซนติเมตร เนื่องจากกว๊านพะเยายังคงระบายน้ำลงมาต่อเนื่อง และคาดว่าน้ำจะท่วมไปอีกหลายวัน
อ่างเก็บน้ำห้วยหลวงเร่งระบายน้ำ รองรับอิทธิพลพายุ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ออกหนังสือแจ้งเตือนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มติดลำน้ำในช่วง 1 สัปดาห์ จากอิทธิพลพายุยางิ ขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อุดรธานี เร่งระบายน้ำ รองรับน้ำที่จะไหลเข้าอ่างจากฝนที่ตกหนัก
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง จ.อุดรธานี ปรับเพิ่มระบายน้ำเป็นวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร หลังปริมาณน้ำในอ่างใกล้เต็มความจุ พร้อมประกาศแจ้งให้เกษตรกรในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำ ติดกับลำห้วยหลวง และลำห้วยสาขา เก็บสิ่งของมีค่าไว้ในที่สูง เพราะน้ำอาจล้นตลิ่ง
การระบายน้ำครั้งนี้ เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือจากฝนที่ตกหนักจากอิทธิพลพายุยางิ
นอกจากการระบายน้ำ ในลุ่มน้ำห้วยหลวง ยังมีอ่างเก็บน้ำอีกหลายแห่งใน จ.อุดรธานี ที่ใกล้เต็มความจุ ก็ต้องเร่งระบายเช่นกัน
ส่วนที่ประตูน้ำห้วยหลวง บ้านสามพร้าว อ.เมืองอุดรธานี จุดรวมของลำห้วยหลวง และลำห้วยสาขา นำเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 8 เครื่อง มาติดตั้งพลักดันน้ำไหลเร็วลงแม่น้ำโขงให้มากที่สุด ก่อนที่จะมีฝนตกลงมา
เฝ้าระวังน้ำโขงเพิ่มระดับจากอิทธิพลพายุ
หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เร่งระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำลงสู่แม่น้ำ จังหวัดที่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขง ก็ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม อย่างที่ จ.บึงกาฬ ปริมาณน้ำโขงช่วงไหลผ่านบ้านพันลำ ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ แม้มีแนวโน้มลดลง แต่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ออกประกาศเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขง ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 7-12 ก.ย.
ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ประมาณ 50 เซนติเมตร - 1.50 เมตร พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมแม่น้ำโขงและลำน้ำบางให้เฝ้าระวังน้ำท่วม)
อ่านข่าว :
เตือน 10 จังหวัด ภาคกลาง และ กทม. เฝ้าระวังระดับน้ำใน "แม่น้ำเจ้าพระยา"
สภาพอากาศวันนี้ "เหนือ - อีสาน - ตะวันออก - ใต้" ฝนตกหนักมาก