ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สุริยะ" เดินหน้ารถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย ยันปี 68 ได้ใช้แน่นอน

เศรษฐกิจ
10 ก.ย. 67
18:07
2,304
Logo Thai PBS
"สุริยะ" เดินหน้ารถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย ยันปี 68 ได้ใช้แน่นอน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้จะไม่ได้เปลี่ยนตำแหน่งทั้ง รมว. และ รมช.คมนาคม แต่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ยืนยันว่า จะเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายให้เป็นรูปธรรมภายในเดือน ก.ย.2568 รวมถึงผลักดันโครงการที่ยังล่าช้าให้สามารถเดินหน้าต่อได้

วันนี้ (10 ก.ย.2567) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวงคมนาคมอย่างเป็นทางการ ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ พร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม

นายสุริยะ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้เข้ารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม อย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 จนถึงปัจจุบัน ได้ครบ 1 ปีของการปฏิบัติภารกิจและดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคมให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างครบถ้วน สนับสนุนการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

ปิดตำนาน “ถนน 7 ชั่วโคตร” ต้องเสร็จ ธ.ค.67

นายสุริยะ กล่าวว่า เพื่อปิดตำนานที่ได้รับการกล่าวหาว่าเป็น “ถนน 7 ชั่วโคตร” ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เร่งรัดการก่อสร้างโครงการบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) พร้อมทั้งได้เดินหน้าแก้ไขอุปสรรคทั้งหมดให้สำเร็จลุล่วงตามแผนงานที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

ประกอบด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว โดยการก่อสร้างถนนพื้นราบบนถนนพระราม 2 ของกรมทางหลวงทั้งหมด ต้องแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.2567 เพื่อสามารถเปิดให้บริการและรองรับการจราจรได้ทันในช่วงปีใหม่ 2568

ส่วนการก่อสร้างทางยกระดับต้องแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.2568 และสามารถเปิดให้พี่น้องประชาชนได้ทดลองวิ่งใช้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง รวมไปถึงโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งในขณะนี้ภาพรวมโครงการมีความก้าวหน้าร้อยละ 80.92 คาดการณ์ว่าจะเปิดให้บริการในเดือน มิ.ย.2568

เร่งรัดการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา (M6) ที่มีปัญหาสะสมมาหลายรัฐบาล นายสุริยะ กล่าวว่า ได้เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จจนสามารถกำหนดการให้บริการประชาชนเพิ่มเติมได้ ดังนี้ จะเปิดให้บริการช่วงหินกอง (สระบุรี) – ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมาได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เพิ่มจากที่ได้เปิดให้ทดลองวิ่งจาก ปากช่อง-โคราช มาแล้วก่อนหน้านี้, จะเปิดให้บริการทั้งเส้นทาง ระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) ได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2569

ส่วนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) สามารถกำหนดแผนเปิดให้บริการประชาชนทดลองวิ่งได้ช่วงนครปฐม-กาญจนบุรี เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เทศกาลปีใหม่ 2567 และ เดินหน้าดำเนินการก่อสร้างช่วงบางใหญ่-นครปฐม ให้แล้วเสร็จทั้งเส้นทางและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม-ปากท่อ-ชะอำ (M8) กำหนดนโยบายให้เร่งศึกษา ปรับปรุงการออกแบบโครงการช่วงนครปฐม-ปากท่อ ให้สามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติและเริ่มก่อสร้างให้ได้ภายในปี 2568 รวมถึงปรับปรุงแบบ และแก้ไขปัญหาช่วงปากท่อ-ชะอำ ที่มีปัญหาสะสมมาต่อเนื่องในอดีตให้ลุล่วง และสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ภายในปี 2569

เดินหน้าโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และ จ.เชียงใหม่ อย่างเป็นรูปธรรม

กำหนดมาตรการลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยทุกหน่วยงานได้ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และยานพาหนะให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ปลอดภัย และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกวดขันวินัยจราจร และอำนวยสะดวกให้พี่น้องประชาชนตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ และพบว่า มีความสูญเสียช่วงเทศกาลลดลงอย่างมาก โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม จำนวน 48 คน ลดลงจากเทศกาลปีใหม่ 2566 ถึง 77% (ปี 2566 มีผู้เสียชีวิต 206 คน)

รถไฟฟ้า 20 บาท ใช้ได้ภายในปี 2568

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ผลักดันนโยบายรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาท ตลอดสายนำร่องรถไฟชานเมืองสายสีแดง และ MRT สายสีม่วง มาตั้งแต่เดือน ต.ค.2566 และได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน โดยในช่วงที่ผ่านมานั้นปริมาณผู้โดยสารรวมทั้ง 2 สาย เพิ่มขึ้นถึง 26.39% และในระยะต่อไปมั่นใจว่าปริมาณผู้โดยสารจะใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คาดว่าจะมีรายได้เท่ากับก่อนเริ่มนโยบายภายในปี 2568 เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ จากเดิมที่คาดว่าภายในระยะ 2 ปี 7 เดือนหลังจากเริ่มนโยบาย และหลังจากนี้โครงการรถไฟฟ้าสีอื่น ๆ จะผลักดันนโยบายรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดต้นทุนและลดระยะเวลาการเดินทาง บนอัตราค่าบริการที่มีความเหมาะสม ซึ่งจะเป็นสร้างโอกาสในการเดินทางอย่างเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม รวมถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ได้ดำเนินการเร่งรัดติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการโดยเร็วที่สุด

“นโยบายรถไฟฟ้ายืนยันดำเนินการต่อแน่นอน ตามที่ประกาศไปแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าทุกสีได้ภายในเดือน ก.ย.2568 ตามที่เคยประกาศไว้ ซึ่งต้องดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ การผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขนส่งทางราง และร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ขณะนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมตั้งคณะกรรมการดูเรื่องนี้แล้ว ”

ปิดจบ “สายสีส้ม” ตั้งเป้าเปิดปี 2570

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีปัญหาสะสมในอดีต นายสุริยะ ระบุว่า ได้เร่งผลักดันการเสนอผลการเจรจา และร่างสัญญาเสนอ ครม. ทันทีที่คดีต่าง ๆ สิ้นสุดลง ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2567 และสามารถลงนามในสัญญา 18 ก.ค.2567 โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี 2570

เร่งเปิด “รถไฟทางคู่สายใต้”

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 กำหนดนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งรัดการดำเนินการเปิดให้บริการทางคู่สายใต้ ตั้งแต่ช่วงนครปฐม-หัวหิน-ชุมพร ในเดือน มิ.ย.2567 ทำให้ระยะเวลาเดินทางลดลงประมาณ 50% เช่น การเดินทางไปหัวหิน จากเดิม 4 ชั่วโมง เหลือ 2 ชั่วโมง และเปิดให้บริการสายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ภายในเทศกาลปีใหม่ 2568

ส่วนรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ครม. ได้ให้ความเห็นชอบโครงการตั้งแต่เดือน ต.ค.2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกวดราคา คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาก่อสร้างได้ภายในปี 2567 ส่วนอีก 6 ช่วงที่เหลือ ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) พิจารณาแล้ว เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ จะได้เร่งนำเสนอ ครม. พิจารณาโดยเร็ว

ส่งเสริม Smart Pier เชื่อมรถ-ราง-เรือ

นายสุริยะ กล่าวถึงการเดินหน้าการพัฒนา Smart Pier ในแม่น้าเจ้าพระยา โดยกำหนดนโยบายเพื่อให้กรมเจ้าท่า (จท.) สามารถเปิดให้บริการ Smart Pier เพื่อให้ส่งเสริมการเชื่อมต่อ “ล้อ-ราง-เรือ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

ปี 2567 เปิดให้บริการท่าเรือพระปิ่นเกล้า และจะเปิดท่าเรือพระราม 5 ได้ภายในเดือน ต.ค.2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เปิดให้บริการไปแล้ว 9 ท่า คือ ท่ากรมเจ้าท่า ท่าช้าง ท่าสะพานพุทธ ท่านนทบุรี ท่าสาทร ท่าราชินี ท่าพายัพ ท่าบางโพ และท่าเตียน

ปี 2568 จะเปิดให้บริการอีก 5 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าปากเกร็ด ท่าพระราม 7 ท่าเกียกกาย ท่าโอเรนเต็ล และท่าเทเวศร์

โครงการพัฒนาท่าเรือ Cruise Terminal ที่เกาะสมุยอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน โดยกำหนดนโยบายให้กรมเจ้าท่า (จท.) เร่งรัดการดำเนินการพัฒนาท่าเรือ Cruise Terminal ให้ดำเนินการศึกษารายงาน PPP ท่าเรือ Cruise Terminal ที่เกาะสมุยแล้วเสร็จ และได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาตามขั้นตอนแล้ว รวมถึงเร่งรัดการศึกษารายงาน PPP ท่าเรือ Cruise ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน ให้สามารถเสนอ สคร. พิจารณาได้ภายในต้นปี 2568

ขับเคลื่อนนโยบายศูนย์กลางทางการบิน 

นโยบายศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ของรัฐบาล กำหนดเป้าหมายให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานอยู่ใน 20 อันดับของโลก (TOP 20) ภายในปี 2572 โดยให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ดำเนินการ ดังนี้

ระยะเร่งด่วน

1.เปิดให้บริการอาคาร SAT 1 เมื่อเดือน ก.ย.2566 (เพิ่ม Capacity จาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี) และเตรียมเปิดทางวิ่งเส้นที่ 3 ภายในปี 2567 (เพิ่ม Capacity จาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง)

2.เร่งแก้ไขปัญหาการให้บริการผู้โดยสารแออัดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในทุกขั้นตอน โดยปรับวิธีบริหาร และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในรูปแบบอัตโนมัติ ได้แก่ Common Use Passenger Processing System (CUPPS) Common Use Self Service (CUSS) และ Common Use Bag Drop (CUBD) มาใช้ในการเช็คอิน การโหลดสัมภาระ และการตรวจคนเข้าเมือง จนสามารถเพิ่มขีดความสามารถจากเดิม 5,500 คนต่อชั่วโมง เป็น 6,200 คนต่อชั่วโมง ส่งผลให้การให้บริการตรวจคนเข้าเมืองต่อคนเหลือไม่ถึง 20 นาที

3.ปรับปรุงห้องน้ำ พรม และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ของ 6 ท่าอากาศยานของ ทอท.

4.แก้ไขปัญหาสัมภาระล่าช้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเดิมได้รับการร้องเรียนเป็นจำนวนมากว่า รอสัมภาระเกิน 1 ชั่วโมง ปัจจุบันได้รับการแก้ไข โดยส่วนใหญ่ไม่มีเที่ยวบินที่รอสัมภาระเกิน 1 ชั่วโมง จากสถิติในเดือน ส.ค.2567 มีวันที่มีเที่ยวบินรอสัมภาระเกิน 1 ชั่วโมง เพียง 33 เที่ยวบินเท่านั้น (จากทั้งหมดประมาณ 13,800 เที่ยวบิน) ไม่ถึง 1 % โดยเฉลี่ยจะรอสัมภาระประมาณไม่เกิน 30 นาที

ระยะกลาง

1.เร่งพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (เพิ่ม Capacity จาก 60 ล้านคนต่อปี เป็น 80 ล้านคนต่อปี) โดยจะเร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2568
2.เร่งพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 (เพิ่ม Capacity จาก 30 ล้านคนต่อปีเป็น 40 ล้านคนต่อปี) โดยจะเร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2569
3.เร่งพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 (เพิ่ม Capacity จาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี) โดยจะเร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2569
4.เร่งพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 (เพิ่ม Capacity จาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 20 ล้านคนต่อปี) โดยจะเร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2569
5.เร่งพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ระยะที่ 1 (เพิ่ม Capacity จาก 3 ล้านคนต่อปี เป็น 6 ล้านคนต่อปี) โดยจะเร่งรัดให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2569

ระยะยาว

1.ดำเนินการเตรียมโครงการอาคารผู้โดยสารด้านใต้ (South Terminal) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจะเพิ่ม Capacity ได้อีก 45 ล้านคนต่อปี ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการทบทวนศึกษาแผนแม่บท คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2570
2.เร่งพัฒนาท่าอากาศยานใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานล้านนา และท่าอากาศยานอันดามัน คาดว่าจะใช้ระยะเวลาตั้งแต่การศึกษาจนถึงการเปิดให้บริการประมาณ 69–71 เดือน

เดินหน้า “แลนด์บริดจ์” โครงการเรือธงของรัฐบาล

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) หรือ แลนด์บริดจ์ นายสุริยะ ระบุว่า เป็นโครงการเรือธง (FLAGSHIP) ของรัฐบาล ที่จะเดินหน้าต่อแน่นอน ล่าสุดอยู่ในช่วงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลต่าง ๆ เบื้องต้นคาด พ.ร.บ. SEC จะเริ่มประกาศใช้ในช่วงปี 2568 และจะดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 ภายในปลายปี 2573 ต่อไป

“ยืนยันหลายครั้งกับสื่อแล้วว่า รัฐบาลออกเงินเฉพาะการเวนคืนเท่านั้น ส่วนการเวนคืนเป็นของเอกชน กรณีมีคนกังวลเรื่องการขาดทุนเอกชนจะเสี่ยง แต่จากการไปหลายประเทศ เชื่อว่าเมื่อผ่านกฎหมายเอกชนจะเข้ามาประมูลแข่งขันหลายราย เชื่อว่าจะได้ผลที่ดีจากการลงทุน”

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จากการ Roadshow ในต่างประเทศทั่วโลก มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ โดยเฉพาะ “Dubai Port World” บริษัทด้านโลจิสติกส์ชั้นนำของโลกให้ความสนใจลงทุนในโครงการเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่มาร่วมศึกษาในรายละเอียดกับประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยจะทำงานร่วมกันในลักษณะคณะทำงานในรายละเอียดต่อไป

อ่านข่าว : แห่จองหมดใน 22 วินาที เปิดขายสลากดิจิทัลระหว่างงวดเพิ่ม 2 ล้านฉบับ

ไปต่อไม่ไหว! ย้อนรอย "ห้างดังในตำนาน" ทยอยปิดตัว 

ทุนยักษ์-ห้างค้าปลีกแข่งดุเดือด ใครยังรอด? 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง