วันนี้ (11 ก.ย.2567) เป็นวาระสำคัญของปีที่ต้องปักหมุดไว้บนหน้าปฏิทิน เฝ้ารอด้วยใจจดจ่อว่าหนังสือเล่มใดจะคว้าชัย กับงานประกาศผลรางวัล “ชมนาด” (Chommanard Book Prize) รางวัลหนังสืออันทรงเกียรติสำหรับนักเขียนสตรี ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกันดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 สนับสนุนนักเขียนสตรีให้ก้าวสู่การเป็นนักเขียนระดับสากล รวมทั้งช่วยทำการตลาดด้านลิขสิทธิ์ไปสู่ภาษานานาอารยประเทศทั่วโลก ส่งต่อคุณค่าความงามของวรรณกรรมไปสู่บทละครภาพยนตร์
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยว่ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกท่านเข้าสู่การประกาศผลการตัดสิน "รางวัล ชมนาด" ปีนี้เป็นการจัดขึ้นเป็นปีที่ 13 แล้ว รางวัลชมนาด (Chommanard Book Prize) คือรางวัลแห่งความสำเร็จของสตรีที่มีใจรักในงานประพันธ์ งานวรรณกรรม เป็นงานที่สร้างสรรค์ของบุคคล ที่เป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนสภาพชีวิต สังคมและคตินิยมของคนทุกยุคทุกสมัย วรรณกรรมจึงเป็นสื่อกลางที่สามารถทำให้เข้าใจคนในสังคมอื่นได้เป็นอย่างดี
นอกเหนือจากรางวัล เวทีการประกวดวรรณกรรมนี้ ยังได้สร้าง “นักเขียน” คุณภาพ ที่สามารถต่อยอดไปสู่ งานละคร งานภาพยนตร์ สร้างสรรค์ “อาชีพ” ที่ยืนหยัดในก้าวต่อๆ ไป
พร้อมมุ่งมั่นส่งเสริม สนับสนุน ให้โอกาสสตรีในสังคม ได้มีความภาคภูมิใจในผลงาน และพร้อมที่จะเป็นนักเขียนระดับนานาชาติ หรือระดับสากล
นางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวรายงานภาพรวมของชมนาดในปีนี้โดยถูกเรียกว่าเป็นปีของ “คนรุ่นใหม่” นวนิยายมีเนื้อหาแหวกขนบ พร้อมทั้งมีความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนกับปีก่อน ๆ ในขณะเดียวกันก็ยังสะท้อนสังคมปัจจุบันที่มีความขัดแย้งทั้งในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ เหล่านี้ทำให้คณะกรรมการทั้ง 5 ท่าน ได้เห็นถึงพลังของผู้หญิงในงานเขียน ซึ่งผสมผสานทั้งความละเอียดอ่อนและความทรงพลังในเวลาเดียวกัน
รางวัลชนะเลิศ
- ต้นไม้ของแวมไพร์ โดย คุณปริมพัชร์ ไวทยวงศ์สกุล
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
- ลำนำจ้าวสังเวียน โดย คุณวิชุดา ราชพิทักษ์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
- มงกุฎหนามกุหลาบ โดย คุณจันทรรัตน์ สวัสดิ์จิตร
"ต้นไม้ของแวมไพร์ นวนิยายแนวแฟนตาซี"
สำหรับนวนิยายเรื่อง ต้นไม้ของแวมไพร์ ของปริมพัชร์ เป็นนวนิยายแนวแฟนตาซีนำเสนอเรื่องราวของแวมไพร์สาวนิรนาม ผู้มีชีวิตอันเป็นนิรันดร์เชื่อมโยงเนื้อเรื่องกับแนวคิดเชิงพุทธปรัชญาที่ลุ่มลึกได้อย่างแยบยลแวมไพร์สาวเธอแตกต่างจากแวมไพร์ทั่วไปที่ไม่ได้ดูดเลือดเป็นอาหารสหายคู่ใจของเธอคือภูตต้นไม้สาวที่บอกว่าเธอมีชีวิตเป็นนิรันดร์เช่นกัน
เธอเดินทางดั้นด้นไปในโลกกว้างเพียงลำพังเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตและบรรเทาความเบื่อหน่ายการผจญภัยหลากหลายรูปแบบทำให้ผ่านประสบการณ์ที่มีทั้งความรักและการพลัดพราก ความหลง กามราคะ ความเคียดแค้น การต่อสู้และการสูญเสีย การเกิดและการดับ
ในที่สุดเธอจึงได้ตระหนักรู้ว่าแม้จะเดินทางไปนับพันปีจนสุดขอบโลกหากยังได้เดินทางเข้าไปในตัวตนภายในและยังคงการยึดมั่นในรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัสซึ่งล้วนเป็นสิ่งปรุงแต่ง ความเป็นอมตะก็ไร้ความหมาย
เข้ารอบสุดท้ายรางวัลชมนาด 8 เรื่อง
โดยปีนี้มีนักเขียนส่งผลงานเข้าประกวด 28 เรื่อง สำหรับ ปี 2567 และผ่านเข้ารอบสุดท้าย 8 เรื่อง
- เตี่ยของเมฆ โดย คุณขนิษฐา วชิราพรพฤฒ
- ใกล้หมึกเปื้อนโลหิต โดย คุณฐาปนีย์ วงศาโรจน์
- มงกุฎหนามกุหลาบ โดย คุณจันทรรัตน์ สวัสดิ์จิตร
- แดงฉาน โดย คุณเพ็ญพิชชา ประหยัดทรัพย์
- ต้นไม้ของแวมไพร์ โดย คุณปริมพัชร์ ไวทยวงศ์สกุล
- Heaven ฝากไว้ที่ปลายฟ้า โดย คุณเพทาย จิรคงพิพัฒน์
- ลำนำจ้าวสังเวียน โดย คุณวิชุดา ราชพิทักษ์
- Suicide อัตวินิบาตกรรมก่อนใบไม้ร่วง โดย คุณเสาวรี เอียมละออ
อ่านข่าว :
เริ่มแล้วการแข่งขัน WorldSkills ครั้งที่ 47 ที่ฝรั่งเศส
"คืนสุดท้ายของนักสร้างสารคดี" เรื่องสั้นชนะเลิศ รางวัลพานแว่นฟ้า 2567