ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"นายจ้าง" ไม่เข้าร่วม ประชุมปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 3 "ล่ม"

สังคม
16 ก.ย. 67
16:48
931
Logo Thai PBS
"นายจ้าง" ไม่เข้าร่วม ประชุมปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 3 "ล่ม"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง วาระพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท รอบ 3 ปี 2567 ล่ม เลื่อนการพิจารณาออกไป นัดประชุมใหม่ 20 ก.ย.นี้

วันนี้ (16 ก.ย.2567) การประชุมพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รอบ 3 ของปี 2567 ของคณะกรรมการค่าจ้างไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากกรรมการฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 คน ไม่เข้าร่วมประชุม โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจ ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม ขณะที่ฝ่ายลูกจ้างและภาครัฐเข้าร่วมครบ 10 คน

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน จึงแจ้งเลื่อนประชุมไปเป็นวันที่ 20 ก.ย.นี้ พร้อมเปิดเผยหลังการประชุมว่า ได้มีการนำเสนอข้อมูลการศึกษากับคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามขนาดของสถานประกอบการ โดยมีแนวทางปรับขึ้นในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป ซึ่งหากเป็นในรูปแบบนี้จะมีแรงงานไทยได้รับประโยชน์ ประมาณ 3 ล้านคน และแรงงานข้ามชาติ ประมาณ 1 ล้านคน แต่มีความเห็นของฝ่ายลูกจ้างที่อยากให้ขึ้นเท่ากันทุกขนาดสถานประกอบการ

ด้านการเสนอตัวเลขจากอนุกรรมการค่าจ้างรายจังหวัด เบื้องต้นมี 2 จังหวัดที่เสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเกิน 400 บาท คือ ภูเก็ต และ สมุทรปราการ ขณะเดียวกัน มี 20 จังหวัดที่ไม่เสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หากในครั้งหน้าหากกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมอีกจะดำเนินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หมวด 6 เรื่องคณะกรรมการค่าจ้าง มาตรา 82 วรรค 2 ระบุให้ใช้มติ 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้

พร้อมจะมีการชี้แจงประเด็นมาตรการช่วยเหลือนายจ้างไว้หลายแนวทาง ทั้งการให้ธุรกิจ SME กู้เงิน การลดดอกเบี้ยและภาษีให้นายจ้าง และการลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างเหลือ ร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 1 ปี

ส่วนความเห็นของนายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง เปิดเผยหลังการประชุมว่า ถือว่าการประชุมวันนี้ ล่ม เพราะไม่ครบองค์ประชุม แต่ได้มีการพูดคุยกันนอกรอบ เรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และมีแนวทางของสูตรและภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งหากอิงตามเศรษฐกิจจะเห็นว่าการส่งออก ซื้อขายดี เงินเฟ้อน้อย

ขณะที่ค่าครองชีพวันนี้ไปต่อไม่ได้กับค่าแรง 300 บาท โดยผู้ประกอบการวันนี้จ่ายค่าแรงวันละ 400 บาท ขึ้นไปอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่ามีบางส่วนยังไม่ถึง จากข้อมูลประกันสังคมอธิบายได้ชัดเจน ลูกจ้างที่มีค่าจ้างขั้นต่ำน้อยกว่า 400 บาทมีกี่คนไม่ใช่ความลับ มีคนบางกลุ่มบอกว่าค่าจ้างขั้นต่ำถ้าขึ้นแล้ว แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจะได้สิทธิประโยชน์ไปด้วย ในมุมมองของตนเอง มองว่า ตามหลักสิทธิมนุษยชนผู้ใช้แรงงานก็ควรจะได้ทัดเทียมกัน

ขณะที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขอให้กรรมการ ฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 คน มาใช้สิทธิของตนเอง โดยมองว่าถึงเวลาที่รัฐบาลต้องประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากขณะนี้สินค้าอุปโภค บริโภคได้ปรับราคาขึ้นแล้ว คิดว่าผู้ใช้แรงงานคงรับไม่ไหว หวังว่าเศรษฐกิจหลังจากนี้จะกลับมาดีขึ้น หลังจากได้นายกรัฐมนตรี น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร มาบริหารงาน

อ่านข่าว : เครือข่ายฯ ค้านแลนด์บริดจ์ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ต้านกฎหมาย 2 ฉบับ

“พาณิชย์” จี้แบงก์ชาติแก้ปัญหาบาทแข็ง เร่งลดดอกเบี้ยช่วย SMEs

น้ำโขง "หนองคาย" ลดลง 40 ซม. อีก 4 วันมวลน้ำถึงอุบลราชธานี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง