กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง สำหรับ กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หลังจากสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ปื 2566 นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.กอ.รมน.
อ้างเหตุผลให้อำนาจทหารด้านความมั่นคงภายในประเทศมากเกินไป มีความซับซ้อนในโครงสร้างองค์กร สิ้นเปลืองงบประมาณ และการต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่เป็นพันธกิจหลักได้จบแล้ว แต่กลับถูกนำไปใช้คุกคาม และปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองเป็นหลัก
ครั้งนั้น นายเศรษฐาแสดงท่าทีปกป้องในการไปเยือน กอ.รมน.ครั้งแรก ยืนยันรัฐบาลไม่มีความคิดจะยุบ กอ.รมน. แม้ภารกิจการปราบปรามคอมมิวนิสต์จะผ่านไปแล้ว แต่ยังมีความจำเป็นในปัจจุบัน โดยปรับเปลี่ยนให้เน้นเรื่องการพัฒนา และทำหน้าที่ประสานทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นหลักแทน
จนมีการเปิดเผยงบประมาณของ กอ.รมน.ที่มีมหาศาล ระหว่างปีงบประมาณ 2556-2566 หรือ 10 ปีหลังสุด มีรวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาท เฉพาะงบปี 2566 ได้รับจัดสรรรวม 7,7 พันล้าน เฉพาะแผนงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ มีมากกว่า 1.4 พันล้านบาท แต่ก็ยังไม่สงบ
ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 จึงเป็นประเด็นที่ฝ่ายหวังให้ยุบ กอ.รมน.เห็นว่า เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้รัฐบาลตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทั่งถึงรัฐบาลยุคข้ามขั้ว ยืนยันไม่ยุบ กอ.รมน.
ผ่านไป 1 ปี กอ.รมน.กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อ พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน.ระบุว่าหนังสือ “ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” เป็นเอกสารต้องห้าม เกรงจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหาย ทำให้สังคมเข้าใจผิด และกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร อีกทั้งผู้เขียนไม่มีความเข้าใจเรื่องความมั่นคงเพียงพอ จึงขอความร่วมมือระงับการจำหน่าย และจะประสานทางมหาวิทยาลัยต้นสังกัด พิจารณาเรื่องจริยธรรมของผู้เขียน รวมทั้งอาจใช้เรื่องทางกระบวนการกฎหมาย
เจ้าของหนังสือเล่มนี้ คือ รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกว่า จุดเริ่มต้น มาจากหวังให้คำตอบกับคำถาม “ทหารมีไว้ทำไม” ในบทความของ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เป็นคำถามยอดนิยมแห่งยุคสมัย
ประกอบกับ รศ.พวงทอง ตั้งข้อสงสัยเรื่องกิจการความมั่นคงภายในของกองทัพ ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 จึงเริ่มค้นคว้าวิจัย และเขียนออกมาเป็นหนังสือภาษาอังกฤษก่อน ในปี 2564 ก่อนจะแก้ไขปรับปรุงจนกลายเป็นหนังสือภาษาไทย เล่มนี้
แม้เจ้าตัวจะบอกว่า เป็นงานวิจัยทางวิชาการที่ดีที่สุดของตน สานความฝันตั้งแต่เริ่มอาชีพนักวิชาการ และมองว่า จะมีประโยชน์ต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และความยุติธรรมให้กับผู้คนในสังคมไทย
สำหรับฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะ กอ.รมน. ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการต่อต้านภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ ย่อมไม่เห็นด้วย และมองแตกต่างออกไปในแง่ความมั่นคง
จึงเริ่มคุกรุ่นและขยายผลสู่วงกว้าง มีนักนักการเมืองและนักวิชาการ รวมทั้งนายทหารในแวดวงความมั่นคง ออกมาวิพากษ์เพิ่มเติม รวมทั้ง อดีตรองเลขาธิการ สมช. พล.ท.พงศกร รอดชมภู ที่เห็นว่า เป็นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เพื่อประโยชน์สาธารณะได้ หากไม่ละเมิดผู้ใด แต่สำหรับกอ.รมน. อาจขอความร่วมมือได้ แต่จะถึงขั้นฟ้องร้องหรือให้ระงับ อาจต้องใช้กฎอัยการศึกสถานเดียว
พล.ท.พงศกร พูดย้ำว่า สาระในงานเขียนของ รศ.พวงทอง เน้นไปที่ กอ.รมน. หรือ ทหารและกองทัพ ไปทำงานที่ฝ่ายพลเรือนมีหน้าที่ทำอยู่แล้ว เป็นการทำงานซ้ำซ้อน แล้วไปของบประมาณ จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่นำไปสู่คำถามที่ว่า ทหารควรจะรบเก่งหรือควรจะเก่งอย่างอื่น ที่มีเรื่องงบมาเกี่ยวข้อง
พล.ท.พงศกร เห็นว่า หากทาง กอ.รมน.เห็นว่าบิดเบือน ไม่ถูกต้อง น่าจะทำวิจัยหรือออกงานวิชาการมาสู้กับงานวิชาการของ รศ.พวงทอง เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบจะดีกว่า หรืออาจจะใช้วิธีประนีประนอม บางเรื่องพร้อมรับไว้พิจารณา แต่บางเรื่องที่ทำไม่ได้ก็ต้องบอกกันตรง ๆ จะดีกว่า คือถอยในเรื่องที่ควรถอย
ประเด็นหนึ่งที่ พล.ท.พงศกร พูดถึง คือ ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง คือ นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะโดยปกติแล้ว ระดับโฆษกของหน่วยงานออกมาแถลง โดยหลักการแล้วต้องผ่านความเห็นชอบของผู้บังคับบัญชาก่อน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำเองโดยพลการ
หากเป็นเช่นนั้น จึงเรื่องที่พึงต้องระมัดระวังและรอบคอบ เพราะอาจถูกโยงและย้อนกลับไปถึงนายกรัฐมนตรี ที่จะปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับทราบรายานดังกล่าวแล้ว รวมทั้งเปิดไฟเขียวให้
ซึ่งจะยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคน “เสื้อแดง” ยังค้างคาใจ และตามทวงเรื่องการสลายการชุมนุมและเข่นฆ่ามวลชนเมื่อปี 2553 กันอยู่ และเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้แกนนำ นปช.อย่าง น.ส.ธิดา ถาวรเศรษฐ และ นพ.เหวง โตจิราการ ในนามคณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม หรือ คปช.53 หันไปยื่นเรื่องนี้ต่อพรรคฝ่ายค้าน ตั้งแต่ยังเป็นพรรคก้าวไกล แทนที่จะเป็นพรรคเพื่อไทย ที่คนเสื้อแดงเคยเป็นแนวร่วมมากก่อน เพื่อให้เร่งรัดติดตามคดีนี้ หลังจากสะดุดอยู่นานในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เท่ากับเรื่องนี้ส่อเค้าจะบานปลาย และไปไกลกว่าที่คาดคิดไว้
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : บ้านน้ำท่วมพัง 70 % รัฐเยียวยา 2 แสน ลดค่าน้ำไฟ 30 %
คปท.จี้นายกฯ แพทองธาร ตอบปมคดีทักษิณ-นิรโทษกรรม
25-30 ก.ย.นี้ โอนเงิน 1 หมื่นบาท กลุ่มเปราะบาง-คนพิการ 14.5 ล้านคน