วันนี้ (17 ก.ย.2567) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้รับการรายงานมาตั้งแต่ต้นปี2567 พบ มีผู้ประกอบการสำแดงการนำเข้าเศษกระดาษเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในโรงงานสำหรับผลิตเป็นกระดาษและบรรจุภัณฑ์ เป็นเท็จโดยพบว่า สินค้าที่นำเข้ามีของเสียและวัสดุอื่นเจือปนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจัดว่าเป็นขยะอันตราย เช่น ของใช้แล้วจำพวก ขวดพลาสติก โฟม ถุงพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม ผ้าอ้อมสำเร็จรูป หน้ากากอนามัย ถุงน้ำยาทางการแพทย์และสายยาง ฯลฯ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
เศษกระดาษที่สั่งซื้อเข้ามา ไม่ได้รับการคัดแยกประเภทและไม่ได้เกณฑ์มาตรฐานสิ่งเจือปนที่ยอมรับได้จากประเทศต้นทางเข้าข่ายเป็นขยะเทศบาลซึ่งเป็นสินค้าห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะเทศบาลเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2562
ดังนั้น การนำเข้าเศษกระดาษที่ปะปนขยะดังกล่าว ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยกรมฯได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและเตรียมยกระดับความเข้มข้นของมาตรการในการกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะหากปล่อยให้มีการนำเข้าขยะไม่มีการกำจัดและบริหารจัดการที่ดีก็จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวอีกว่า พบการนำเข้าเศษกระดาษที่เจือปนของเสียหรือวัสดุอื่นๆ ซึ่งมีวัสดุที่เข้าข่ายเป็น ขยะอันตราย (Hazardous Waste) และของเสียทางการแพทย์ (Medical waste) ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและได้สร้างความเสียหายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก รวมทั้งส่งผลเสีย ต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง
ดังนั้น หากยังพบว่ามีการนำเข้าเศษกระดาษโดยมีของเสียและวัสดุอื่นๆ ที่เป็นอันตรายเจือปน กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศจำเป็นต้องกำหนดมาตรการที่เข้มงวด เช่น การห้ามนำเข้าเศษกระดาษหรือการกำหนดมาตรการใบอนุญาตนำเข้าเศษกระดาษที่ต้องกลั่นกรองอย่างเข้มงวดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
โดยจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรฐานการนำเข้าเศษกระดาษที่เข้มงวดขึ้น เช่น การอนุญาตนำเข้าขยะ/กระดาษ การกำหนดปริมาณขยะต้องไม่เกินกี่เปอร์เซ็นของการนำเข้าเสรี เป็นต้น
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นปี2567 จากการรายงานของกรมควบคุมมลพิษ แจ้งมายังกระทรวงพาณิชย์พบว่า มีเอกชนไทยแสดงสำแดงเท็จขนขยะอันตรายเข้ามาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นการนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งกรมศุลกากรทำการส่งคืนขยะดังกล่าวกลับไปยังประเทศต้นทางแล้ว สำหรับบทลงโทษสำหรับเอกชนที่ทำผิดกฎหมาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับ 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้า
อ่านข่าว:
“หนานหนิง-ฉงชิ่ง” ประตูสู่จีนแผ่นดินใหญ่ โอกาสทองผลไม้ไทย
“พาณิชย์” จี้แบงก์ชาติแก้ปัญหาบาทแข็ง เร่งลดดอกเบี้ยช่วย SMEs
"จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี" นายกสมาคมฯ ทองคำ มองทอง ทะลุ เศรษฐกิจ