ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ใครเสี่ยงบ้าง แนะสังเกตอาการ "มะเร็งต่อมน้ำเหลือง"

สังคม
18 ก.ย. 67
14:05
4,183
Logo Thai PBS
ใครเสี่ยงบ้าง แนะสังเกตอาการ "มะเร็งต่อมน้ำเหลือง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แพทย์ เผย "มะเร็งต่อมน้ำเหลือง" พบได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอวัยวะ แนะหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย เพราะตรวจพบเร็ว รักษาหายขาดได้

วันนี้ (18 ก.ย.2567) นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลือง พบได้บ่อยลำดับที่ 5 ในคนไทย พบได้ในทุกช่วงอายุแล้วแต่ชนิดประมาณ 3,000 - 4,000 คนต่อปี เนื่องจากเป็นมะเร็งที่เกิดกับต่อมน้ำเหลืองจึงเกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย ตั้งแต่รักแร้ คอ ขาหนีบ ตามข้อพับ ในช่องอก และในช่องท้อง นอกจากนี้เซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีอยู่ทุกอวัยวะสามารถเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง เป็นต้น

โดยทั่วไปมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่มีการพยากรณ์โรคดีชนิดหนึ่ง หากได้รับการรักษารวดเร็วผู้ป่วยมากกว่าครึ่งหนึ่ง สามารถหายขาดได้และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งนี้อาจขึ้นกับชนิดและระยะของโรค

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เกิดจากอะไร

เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า "ต่อมน้ำเหลือง" มีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 - 1 เซนติเมตร พบได้ทั่วทั้งร่างกายปริมาณหลายร้อยต่อม ภายในมีเม็ดเลือดขาวปริมาณมาก ทำหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกัน คอยต่อสู้และปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของ "มะเร็งต่อมน้ำเหลือง" เกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมฟอยด์ (lymphoid) โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่

  • การติดเชื้อไวรัส เช่น เอชไอวี (HIV) ไวรัสตับอักเสบ ซี (HCV) และ EBV (Epstein-Barr Virus) เป็นต้น
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
  • ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากการได้รับยา
  • สารเคมีที่มีสารก่อมะเร็งอยู่ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช
  • พันธุกรรม

สัญญาณเตือน

อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งเป็น คลำได้ต่อมน้ำเหลืองโตหรือเป็นก้อนบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ ใต้รักแร้ ขาหนีบ

  • อาการเฉพาะที่ที่เกิดจากต่อมน้ำเหลืองโตในบริเวณนั้น ๆ เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ปวดแน่นท้อง ท้องอืด ปวดศีรษะ
  • อาการทางระบบ หรือ B-symptom เช่น อาการไข้ที่ไม่ทราบสาเหตุเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเบื่ออาหารผิดปกติ

ดังนั้นการป้องกันของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จึงทำได้โดยการหมั่นสังเกตตัวเอง ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากเจ็บป่วยให้รีบไปรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

พญ.ศศินิภา ตรีทิเพนทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์โรคเลือด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma) ผู้ป่วยมักมีต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอและช่องอก รักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง โอกาสหายขาดสูง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin lymphoma) พบมากและแบ่งย่อยออกได้อีกประมาณ 30 ชนิด แต่แบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เป็น 2 แบบ คือ

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง (Aggressive lymphoma) การแบ่งตัวและแพร่กระจายเกิดอย่างรวดเร็ว มีอาการรุนแรง ดังนั้นจึงตอบสนองกับยาเคมีบำบัดซึ่งออกฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวอยู่ค่อนข้างดี กลุ่มนี้ต้องรักษาทันทีหากไม่รักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตใน 6 เดือน ถึง 2 ปี แต่หากได้รับการรักษาทันท่วงที มีโอกาสหายขาดจากโรคได้มากแม้จะอยู่ในระยะไหนก็ตาม

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent lymphoma) การแบ่งตัวและแพร่กระจายค่อนข้างช้า อาการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง กลุ่มนี้มักไม่ค่อยหายขาดด้วยเคมีบำบัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงรักษาเมื่อมีข้อบ่งชี้และติดตามอาการเป็นระยะ

วิธีการตรวจวินิจฉัย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

วิธีการตรวจวินิจฉัย จำเป็นที่จะต้องตัดชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลือง เพื่อไปตรวจทางพยาธิวิทยาและย้อมสีชิ้นเนื้อเพิ่มเติม โดยการดูเซลล์ที่ผิดปกติภายใต้กล้องจุลทรรศน์ นอกจากนี้แล้ว แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ทั้งช่องอกและช่องท้อง รวมถึงการเจาะไขกระดูกตรวจ เพื่อบ่งบอกระยะของโรค (ระยะ 1 - 4)

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ปัจจุบัน ให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ร่วมกับยามุ่งเป้าที่เริ่มมีการศึกษาวิจัยและนำมาใช้มากขึ้นในปัจจุบัน ฉายแสงในบางกรณี และการปลูกถ่ายไขกระดูกในกรณีที่กลับเป็นซ้ำ นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาใหม่สำหรับโรคที่กลับเป็นซ้ำด้วยการใช้เซลล์บำบัด (CAR-T cell) ซึ่งยังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยในประเทศไทย

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา สิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด คือการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ง่าย และรุนแรงกว่าโดยทั่วไป เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง แนะนำให้รับประทานอาหารทำใหม่ สุกสะอาดให้ครบห้าหมู่ เลือกรับประทานผลไม้เปลือกหนา เช่น เงาะ มังคุด แก้วมังกร และส้ม เป็นต้น

หลีกเลี่ยงสถานที่ชุมชนที่แออัด เสี่ยงต่อการรับเชื้อ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายตามเหมาะสม แต่หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทก เพราะในช่วงที่ได้ยา อาจมีเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดออกง่ายได้ หากมีไข้ให้รีบไปโรงพยาบาล

ความเกี่ยวข้องมะเร็งต่อมน้ำเหลืองกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งทางโลหิตวิทยาควรรับการฉีดวัคซีนโควิด -19 เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีภูมิต้านทานต่ำหากติดเชื้อไวรัส จะทำให้มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงโดยสามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่แรกวินิจฉัยระหว่างรับการรักษาหรือ เมื่อรักษาครบแล้ว โดยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้

ทั้งนี้ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย และรีบปรึกษาทันที เมื่อพบความผิดปกติ เนื่องจากการรับการรักษาตั้งแต่มะเร็งอยู่ในระยะต้น ๆ จะส่งผลให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาเมื่อมะเร็งเริ่มลุกลาม

อ่านข่าว : ใครเกิดทันบ้าง? ย้อนอดีตรู้จัก "เพจเจอร์" เครื่องมือสื่อสารยุค 90

ไขรหัสลับในกระแสเลือด จำเป็นไหมที่ต้องรู้จักกรุ๊ปเลือดตัวเอง ?

"พินัยกรรม" สำคัญอย่างไร เลือกทำแบบไหนดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง