จากกรณีเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา เกิดน้ำหลากเข้าท่วมบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา จ.พะเยา ซึ่งมีหอพักอยู่จำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อประชาชนและนิสิตในพื้นที่อย่างมาก จากเหตุดังกล่าวทำให้มีการวิคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำหลากอย่างรวดเร็วในครั้งนี้
อ่านข่าว : การรถไฟฯ ยันโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ไม่เกี่ยวเหตุน้ำท่วม
สาเหตุน้ำป่าท่วม หน้า ม.พะเยา ฝนตก-สิ่งปลูกสร้างกีดขวาง
ปัจจัยแรก คือ ปริมาณฝน ตั้งแต่เวลา 03.00 - 05.00 น. ของวันที่ 17 ก.ย.ในระยะเวลาเพียง 2 ชม.มีฝนตก 106 มม.ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ฝนตกหนักมาก โดย รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และ ประธานกรรมการบริหารฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ MQDC เปรียบเหตุดังกล่าวว่า " เหมือนการเทน้ำจากกะละมังแบบพรวดเดียว"
ปัจจัยที่ 2 บริเวณที่ถูกน้ำท่วม (สีน้ำเงิน) เต็มไปด้วยอาคารและหอพักที่ก่อสร้างหนาแน่น และอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ อาคารที่พักเหล่านี้ยังก่อสร้างริมลำน้ำแม่กาหลวง ดังนั้นเมื่อน้ำล้นจึงหลากท่วมชุมชนทันทีและมีข้อสังเกตว่า การสร้างอาคาร และถนนในชุมชน อาจจะรุกล้ำหรือกีดขวางทางน้ำหรือทำให้ทางน้ำแคบลงหรือไม่
"เพียบ หาญป้อ" ชาวบ้านในพื้นที่ เล่าว่า เดิมพื้นที่บริเวณหน้า ม.พะเยา มีสภาพเป็นทุ่งนาเมื่อน้ำท่วมจะไม่รุนแรงมากและน้ำไม่สูง แต่หลังขยายเป็นชุมชน ลำน้ำจึงค่อย ๆ แคบลง
ขณะที่ หากพิจารณาแผนที่บริเวณ ม.พะเยา และบริเวณหอพักที่ถูกน้ำท่วม เมื่อฝนตกน้ำจากลำห้วย 2 สาย คือ หนองเม็ง-นาปอย กับ ห้วยแม่กาหลวง จะไหลมาบรรจบกัน ในพื้นที่น้ำท่วมต้นน้ำของห้วยหนองเม็ง-นาปอย มีอ่างเก็บน้ำ และฝายเล็กๆ ทำให้มีน้ำสะสมทางตอนบนของพื้นที่ และบริเวณตอนบนของห้วยแม่กาหลวง มีโครงการก่อสร้างอุโมงค์โครงการรถไฟทางคู่
นายสะอาด ไชยกุล นายกเทศมนตรีตำบลแม่กา ยอมรับว่า สาเหตุที่ทำให้น้ำไม่สามารถระบายได้ตามธรรมชาติ เพราะมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางและมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ด้านบน จึงเตรียมเชิญทุกภาคส่วนมาหารือ และอีกจุดที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ชุมชนหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา คือโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่
ตรวจสอบลักษณะกายภาพโครงการรถไฟทางคู่ฯ พะเยา
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ใน ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา จุดนี้ถูกตั้งข้อสังเกตจากคนในพื้นที่และสื่อสังคมออนไลน์ ว่ามีการสร้างถนนชั่วคราวข้ามลำห้วย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมหน้า ม.พะเยา หรือไม่
หนึ่งในผู้ที่ตั้งข้อสังเกต คือ "เพจคนอนุรักษ์" ที่อ้างหลักฐานเป็นภาพถ่ายโครงการ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 ก.ย. พบว่ามีถนนชั่วคราวที่ทำไว้ข้ามคลองขาด จึงตั้งข้อสังเกตว่า มวลน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักอาจสะสมในจุดดังกล่าวซึ่งมีสภาพไม่ต่างจาก “เขื่อนเล็ก ๆ” เมื่อถนนชั่วคราวพังลงจึงส่งผลให้มีน้ำท่วมพื้นที่หน้า ม.พะเยา ที่อยู่ห่างไม่ถึง 1 กม.หรือไม่
นอกจากนี้ยังมีผู้โพสต์ภาพและคลิปภาพ ที่อ้างว่า เป็นจุดที่ถนนชั่วคราวขาด แสดงในคอมเมนต์ของโพสต์ดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ได้โทรศัพท์สอบถามข้อเท็จจริงจากผู้ประสานงานโครงการก่อสร้างทางรถไฟฯ แต่ปลายทางปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว
อ่านข่าว : รัฐล้มเหลว? สัญญาณแจ้งเตือนภัยพิบัติ รับมืออุทกภัยล่วงหน้า
"เจ้าของหอพัก" ตั้งข้อสังเกตการก่อสร้างอาจทำให้น้ำท่วม
ขณะที่ พ.ต.ท.จารุวัฒน์ สุปินะ เจ้าของหอพักที่ถูกน้ำท่วมตั้งข้อสังเกตว่า น้ำท่วมครั้งนี้เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หรือไม่ เพราะมีการเปิดหน้าดินและขวางทางน้ำ ทำให้มีน้ำท่วมที่มาพร้อมกับดินโคลน
นักวิชาการคาดสิ่งขวางทางน้ำ อาจไม่ทำให้เกิดมวลน้ำจำนวนมาก
ขณะที่ นายสวรินทร์ ฤกษ์อยู่สุข หัวหน้าสาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ ม.พะเยา ระบุว่า น้ำป่ามาจากฝนที่ตกหนักถึง 106 มม.ในพื้นที่ต้นน้ำ 2 ลำห้วย ที่ไหลรวมกัน แล้วท่วมพื้นที่ชุมชน เพราะห้วยมีขนาดเล็กรับน้ำไม่ได้ ส่วนโคลนที่มากับน้ำ อาจเกิดจากการชะล้างจากพื้นที่ตอนบนที่เป็นพื้นที่การเกษตรและอาจเกิดจากหน้าดินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
นายสวรินทร์ ฤกษ์อยู่สุข หัวหน้าสาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ ม.พะเยา
ส่วนข้อสังเกตเรื่องการสร้างถนนชั่วคราวขวางทางน้ำ เห็นว่า อาจไม่ได้ทำให้เกิดมวลน้ำจำนวนมาก ที่ไหลเข้าท่วมได้ เพราะถนนไม่ได้สูงกว่าตลิ่ง และทำทางระบายเอาไว้แล้ว
ขณะที่ นายรัฐพล นราดิศร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ระบุว่า น้ำท่วมอาจมาจากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องฝนที่ตกหนัก รวมไปถึงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งจะตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
ตรวจสอบอีไอเอโครงการรถไฟทางคู่ฯ พะเยา
นอกจากนี้ ไทยพีบีเอส ตรวจสอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม "โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ" ที่จัดทำในปี 2560 พบว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการ เป็นการพัฒนารถไฟทางคู่
หากเทียบจากพิกัดจุดที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีส่วนกับเหตุน้ำหลากด้วยหรือไม่ พบว่า อยู่ในแนวการปรับเส้นทาง ช่วง ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง ถึง ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา จากเส้นทางเดิม คือ เส้นประสีแดง ปรับมาเป็นเส้นใหม่ คือ เส้นสีน้ำเงิน เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท รวมถึงปรับปรุง เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชน ต.แม่กา
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า โครงการจะเกี่ยวข้องกับการเปิดป่าด้วยหรือไม่ ในรายงาน EIA ระบุถึงเส้นทางรถไฟไว้ว่า บริเวณนี้จะตัดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ในเขตตำบลแม่กา และได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ ซึ่งก็คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อ่านข่าว : น้ำป่าซัดรถ-หอพักหน้า ม.พะเยา เสียหาย ไม่มีแจ้งเตือนล่วงหน้า
ด่วน! น้ำทะลักหน้า ม.พะเยา เร่งอพยพคนออกจากพื้นที่
เช็กเกณฑ์ เงื่อนไขเยียวยาน้ำท่วมปี 67 จังหวัดไหนบ้างได้สิทธิ