เมื่อสัตว์เลื้อยคลานและแมลงมีพิษอย่าง ตะขาบ แมงป่อง งู มักมาพร้อมน้ำท่วม การเตรียมวิธีป้องกันและเตรียมความพร้อมจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อป้องกันตัวเองและครอบครัวจากสัตว์มีพิษ
ตะขาบ
สัตว์ขาปล้องชนิดหนึ่ง ที่เห็นทีไรก็ขนลุก มีลักษณะเด่นคือลำตัวแบ่งเป็นปล้อง มีขาจำนวนมาก และมีเขี้ยวพิษอยู่ที่ปล้องแรกของลำตัว ในเวลากลางวันจะซ่อนตัวอยู่ที่เย็นๆ ใต้ก้อนหิน ออกหาอาหารในเวลากลางคืน ชอบกินแมลง และสัตว์ขาข้อตัวเล็ก ๆ เป็นอาหาร
พิษของตะขาบ
พิษตะขาบทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน คัน และอาจมีไข้ต่ำ ๆ ได้ ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับขนาดของตะขาบและปริมาณพิษที่ฉีดเข้าสู่ร่างกาย สำหรับผู้ที่แพ้พิษของตะขาบ อาจมีอาการรุนแรง เช่น บวมที่ใบหน้า หนังตา และริมฝีปาก ผื่นขึ้นทั่วร่างกาย หายใจติดขัด อาการหน้ามืด เสียชีวิต
เมื่อถูกตะขาบกัดควรทำอย่างไร?
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ เพื่อชะล้างพิษออกจากบาดแผล
- ประคบเย็น เพื่อลดอาการปวด บวม
- รับประทานยาแก้ปวด
- อย่าใช้ปากดูดพิษ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องปากได้
- สังเกตอาการ หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจหอบ คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกันการถูกตะขาบกัด
- รักษาความสะอาดบ้านเรือน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของตะขาบ เช่น ใบไม้ร่วง ซากพืช ซากสัตว์
- อย่าให้มีสัตว์อื่น ๆ ในบ้าน เพราะตะขาบจะเข้ามาหากิน จิ้งจก หนู แมงมุม และแมลงตัวเล็ก ๆ เป็นอาหาร
- อย่าปล่อยให้บ้านชื้นแฉะ เพราะตะขาบชอบอาศัยอยู่ในจุดที่ชื้น โดยเฉพาะบริเวณชั้นใต้ดิน ตู้เสื้อผ้า และพื้นที่ซักล้างที่เปียกชื้นบ่อย
- อย่าปล่อยให้มีช่องโหว่ รอยแตก และรูรั่วในบ้าน เพราะช่องทางเหล่านี้คือทางเข้าของตะขาบ
- ตรวจสอบก่อนนอน เขย่าผ้าห่ม หมอน หมอนข้าง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีตะขาบซ่อนอยู่
- สวมรองเท้าเมื่อเดินในที่มืด เพื่อป้องกันการเหยียบย่ำตะขาบโดยไม่ตั้งใจ
- ระวังเมื่อหยิบจับสิ่งของ เช่น ไม้กระดาน ก้อนหิน หรือสิ่งของที่วางทิ้งไว้ในที่มืด
- ใช้ยาฆ่าแมลง หากพบตะขาบจำนวนมาก อาจใช้ยาฆ่าแมลงที่ได้มาตรฐานกำจัด แต่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด
กลัวโดนกัด แต่ก็ไม่อยากกำจัด
ตะขาบจะไม่อพยพเข้าบ้านเป็นกองทัพ แต่จะมาเพียงลำพัง หากมองเห็นมันในระยะสายตา ให้รวบรวมความกล้าแล้วกระทืบเท้าลงพื้น (ไม่ต้องกระทืบตะขาบ) เพื่อส่งสัญญาณไล่ให้หนีออกไป สำหรับคนที่กลัวตะขาบมากให้หาโหลมาคว่ำเพื่อขังมันไว้ แล้วค่อย ๆ ย้ายมันออกไปนอกบ้าน
วิธีไล่ตะขาบไม่ให้เข้าบ้าน
- ใช้สบู่ปิดไว้ตามท่อน้ำ
ตะขาบมักหลบรอดเข้ามาในบ้านทางท่อระบายน้ำต่าง ๆ วิธีไล่ตะขาบง่าย ๆ ก็คือนำสบู่ไปวางปิดไว้บนฝาท่อน้ำดังกล่าว โดยสบู่ที่มีความลื่น และมีความด่างในตัวจะช่วยไล่ตะขาบออกไปได้ - ใช้น้ำส้มควันไม้
น้ำส้มควันไม้ที่มีขายตามร้านอุปกรณ์การเกษตร หรือตามซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นอีกวิธีไล่ตะขาบที่ได้ผลดี โดยน้ำส้มควันไม้จะมีส่วนผสมของน้ำมันทาร์และยางเรซินเมื่อนำมาผสมกับน้ำแล้วฉีดพ่นในบริเวณที่คาดว่าตะขาบจะเข้ามาในบ้าน จะช่วยไล่ตะขาบหรือแมลงมีพิษต่าง ๆ ได้อย่างดี ทั้งนี้ ในการฉีดพ่นควรระวังอย่าให้เข้าตาหรือโดนร่างกายเนื่องจากมีความเป็นกรดสูง - ใช้ปูนขาว
เทปูนขาวตามจุดที่คาดว่าตะขาบจะเข้ามาในบ้าน หรือจุดที่ตะขาบซ่อนตัวอยู่ ก็จะสามารถไล่ตะขาบได้แล้ว และต้องอย่าลืมโรยปูนขาวบ่อย ๆ เพื่อให้ไล่ตะขาบได้นานขึ้น - ใช้ผงไล่ตะขาบ ก้อนไล่ตะขาบ สเปรย์ไล่ตะขาบ
ปัจจุบันมีการพัฒนาตัวช่วยในการไล่ตะขาบให้สะดวกสบายมากขึ้น มีทั้งรูปแบบผง ก้อน และสเปรย์ มีความปลอดภัยสูงเนื่องจากสกัดจากสมุนไพร โดยจะส่งกลิ่นพิเศษช่วยไล่ตะขาบออกไปจากบ้าน - หลีกเลี่ยงวิธีกำจัดตะขาบด้วยการเหยียบ หรือทุบ
เนื่องจากตะขาบที่ถูกเหยียบจะปล่อยฟีโรโมนออกมา ซึ่งจะดึงดูดตะขาบตัวอื่นให้เข้ามายังบริเวณที่ตะขาบตัวนั้นตาย
ตะขาบ สัตว์เลื่อยคลานมีพิษ ชอบอาศัยอยู่ในที่ชื้นแฉะ
งู
เป็นสัตว์เลื้อยคลาน ไม่มีขา ไม่มีเปลือกตา มีเกล็ดปกคลุมผิวหนังทั่วทั้งลำตัว ลักษณะลำตัวยาว ความยาวขึ้นอยู่กับชนิดของงู มีลักษณะปราดเปรียวและว่องไวในการเคลื่อนที่ มีลิ้นสองแฉกเพื่อใช้สำหรับรับความรู้สึกทางกลิ่น มีทัั้งแบบมีพิษและไม่มีพิษ
พิษของงู
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุว่า งูไม่มีพิษ รอยเขี้ยวบนผิวหนังจะเรียงเป็นแถว แต่หากเป็นงูพิษจะมีรอยเขี้ยว 2 จุดชัดเจน หรือมีเลือดซึมออกจากแผล และบริเวณรอบๆ รอยเขี้ยวมีสีคล้ำ หรืออาจพองเป็นถุงน้ำ ซึ่งพิษของงูจะส่งผลต่อร่างกาย แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
ประเภทที่ 1 พิษต่อระบบประสาท (Neurotoxin)
ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา
อาการ : เริ่มจากแขนไม่มีแรง กระวนกระวาย ลิ้นเกร็ง พูดจาอ้อแอ้ ตามัว น้ำลายฟูมปาก เนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนเป็นอัมพาต หยุดหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด
ประเภทที่ 2 พิษต่อระบบการแข็งตัวของเลือด (Hematotoxin)
ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา และงูกะปะ
อาการ : เริ่มจากปวดแผลมาก มีเลือดซึมออกจากแผล เลือดออกจากอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดกำเดา เหงือก ไอ อาเจียน ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือด เกิดจากภาวะระบบไหลเวียนล้มเหลว และตายในที่สุด
ประเภทที่ 3 พิษต่อกล้ามเนื้อ (Mytotoxin)
มักจะไม่พบในภาวะน้ำท่วม เนื่องจากเป็นงูทะเล แต่ไม่ว่าจะถูกงูมีพิษประเภทใดกัด สิ่งแรกคือ ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด เพราะจะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ พลอยให้พิษงูถูกสูบฉีดแล่นเข้าสู่หัวใจได้เร็วขึ้น ซึ่งอาการของพิษงูจะเริ่มแผ่ซ่านตั้งแต่ 15 - 30 นาที หรืออาจนานถึง 9 ชั่วโมง จึงต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง
เมื่อถูกงูกัดควรทำอย่างไร?
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดไม่ควรใช้ปากดูดเลือด หรือใช้ของมีคมกรีดเปิดปากแผล
- ไม่ควรใช้สมุนไพรพอกแผล หรือประคบน้ำแข็ง
- ไม่ควรใช้ผ้า หรือเชือกรัดเหนือบริเวณที่ถูกกัด เพราะจะทำให้แขนขาส่วนปลายขาดเลือดไปเลี้ยง
- เคลื่อนไหวร่างกายส่วนที่ถูกกัดให้น้อยที่สุด
- รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
วิธีป้องกันการถูกงูกัด
- ตรวจดูเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง
- นอนบนที่นอนหรือเตียงที่สูงเหนือพื้นดิน
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่รกเวลากลางคืน และบริเวณที่อาจมีงูอาศัยอยู่ เช่น ช่องแคบ ซอกหิน ซอกปูน
- ไม่ยื่นมือเข้าไปในโพรง รู ในที่รก กอหญ้า หรือกองไม้ เพราะอาจมีงูพิษอาศัย
- พกไฟฉายส่องสว่าง หรือไม้สำหรับแกว่งไปมาให้มีเสียงดัง
- ให้สวมกางเกงขายาว และรองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้านตอนกลางคืน
วิธีไล่งูไม่ให้เข้าบ้าน
- จัดเก็บของให้เป็นระเบียบ เพื่อลดพื้นที่เสี่ยงที่งูจะเข้ามาอยู่อาศัย
- ดูแลต้นไม้และสวนหย่อม ไม่ให้หญ้ายาว ต้นไม้รก เป็นที่พรางตัวของงู
- ทำความสะอาดรอบบ้านอยู่เสมอ ตรวจสอบจุดชำรุดเสียหายเพื่อไม่ให้เป็นที่ ๆ เหมาะให้งูมาอาศัย
- ใช้ผงกำมะถันผสมน้ำ ราดบริเวณรอบบ้าน ทำอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้กำมะถันเจือจาง
- ควรปิดประตูให้เรียบร้อย เพราะเป็นหนึ่งช่องทางขนาดใหญ่ที่งูจะเข้ามาในบ้าน
- หน้าต่างเป็นช่องทางขนาดใหญ่ที่งูเข้ามาได้ ควรปิดทุกครั้งหากไม่ได้อยู่ในห้อง หรือในบ้าน
- ติดมุ้งลวดหรือตาข่ายกันแมลงสำหรับประตู หน้าต่าง และช่องลม เพื่อปิดทางงูเข้าบ้าน ก็ช่วยได้เช่นกัน
- ซ่อมแซมบ้าน ปิดรอยร้าว รู หรือโพรง ให้ดี เพราะเป็นจุดที่งูชอบเข้ามาภายในบ้าน
- ควรหมั่นดูความเรียบร้อย ว่าฝาบ่อพักสิ่งปฏิกูลชำรุดหรือไม่ อาจทำให้งู เล็ดลอดเข้าไป แล้วหาทางออกไม่ได้ จึงโผล่เข้ามาบริเวณชักโครก
วิธีป้องกันงูในชักโครก
- ติดตั้งตะแกรงตามท่อน้ำทิ้ง โดยเช็กระบบท่อระบายและระบบบ่อพักสิ่งปฏิกูล
- นำโซดาไฟ ราดในชักโครก
- ติดตั้งกล่องกันงู อีกหนึ่งวิธีป้องกันงูในชักโครกที่ทำได้ตั้งแต่ต้นคือการติดตั้งท่อกันงู ฝากันกลับ หรือกล่องกันงู ติดตั้งกับชักโครก เพื่อป้องกันไม่ให้งูเข้ามาในชักโครกได้อีกต่อไป
แมงป่อง
แมงป่องมีรูปร่างคล้ายปู มีขนาดยาว 2-10 เซนติเมตร ลำตัวประกอบด้วยส่วนหัวและอกรวมกัน ส่วนท้องลักษณะยาวและแบ่งเป็นปล้องๆ ส่วนปากมีลักษณะเป็นก้ามขนาดใหญ่คล้ายก้ามปูไว้สำหรับจับเหยื่อ ส่วนหางมี 5 ปล้อง ปลายหางยกขึ้น ปล้องสุดท้ายมีอวัยวะสำหรับใช้ต่อยและมีต่อมพิษอยู่ที่ส่วนปลาย
แมงป่องออกหากินในเวลากลางคืน มักพบในห้องน้ำ ครัว ผนังห้อง ท่อแอร์ ชอบที่เย็น กลางวันซุกอยู่ตามกองไม้ กองหิน และในดิน อยู่ได้ทั้งในทะเลทรายและป่าแถบร้อนชื้น
เป็นสัตว์มีพิษแรงที่ปลายหาง แมงป่องบางชนิดมีพิษไม่รุนแรง บางชนิดพิษรุนแรงมาก อาจทำให้ตายได้
พิษของแมงป่อง
พิษของแมงป่องออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ หลังถูกต่อยผู้ป่วยเริ่มมีอาการภายใน 4-7 นาที และมีอาการปวดมากในเวลา 30 นาที พิษจะถูกกำจัดทางปัสสาวะภายในเวลา 4.2 – 13.4 ชั่วโมง ปริมาณพิษที่ได้รับมากจะเกิดอาการมาก เช่น มีอาการปวดบวมแดง ปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณที่ถูกต่อย บางครั้งจะเป็นรอยไหม้ คัน ชา มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าเข้าสู่กระแสเลือดจะมีผลต่างๆ เช่น ง่วงซึม อัมพาตบางส่วน กล้ามเนื้อเกร็ง น้ำลายไหล ชัก ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะน้อย หัวใจเต้นเร็ว น้ำคั่งในปอด และอาจเสียชีวิตจากภาวะการหายใจล้มเหลว ระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการพิษจะเริ่มในเวลา 1.5 – 42 ชั่วโมงหลังถูกแมงป่องต่อย
เมื่อถูกแมงป่องต่อยควรทำอย่างไร?
- ทำความสะอาดแผลและผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ด้วยน้ำและสบู่อ่อน
- ประคบเย็นเพื่อลดอาการปวดบวมที่แผลและลดการแพร่กระจายของพิษ
- ยกอวัยวะข้างที่มีแผลจากแมงป่องต่อยให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ เพื่อลดอาการปวดบวมและป้องกันพิษแมงป่องแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย
- รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดหรือความรู้สึกไม่สบายตัว
- ถ้ามีอาการปวดแผลมากให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
วิธีป้องกันการถูกแมงป่องต่อย
- ปิดประตูบ้านให้สนิทในช่วงหน้าฝน
- สวมรองเท้าเดินบริเวณบ้านในตอนกลางคืน
- สวมถุงมือก่อนทำสวน ยกของ หรือเก็บกวาดกองไม้หรือกองดิน
- เขย่ารองเท้าและถุงมือก่อนสวม
- ไม่ควรล้มตัวนอนกับพื้นหากปราศจากผ้าปูหรือเสื่อรอง
วิธีไล่แมงป่องไม่ให้เข้าบ้าน
- ทำความสะอาดสวนในบ้านให้สะอาด โล่งโปร่งทุกซอกทุกมุม กำจัดแหล่งหลบซ่อนของแมงป่อง เช่น ใต้กองไม้ ใต้กองหิน และใต้เฟอร์นิเจอร์
- ปิดทุกทางเข้าออกของแมงป่อง ตามรอยแยก ตามรอยแตกตามผนัง ร่องใต้ประตู รวมถึงอย่าเปิดประตูทิ้งไว้
- ปิดท่อน้ำด้วยฝาตะแกรงที่มีช่องห่างน้อย หรืออาจใช้แผ่นไม้ แผ่นหินปิดก็ได้
- วางน้ำมันหอมระเหยกลิ่นลาเวนเดอร์หรือกลิ่นซิตรัสในจุดเสี่ยง
- กำจัดแหล่งอาหารของแมงป่อง เช่น แมลงสาบ มด และจิ้งหรีด
- ใช้น้ำยาไล่แมลง
แมงป่อง มีพิษร้ายที่ปลายหาง
ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านข่าว :
เมื่อกลายเป็นผู้ประสบภัย ต้องจัดการเรื่อง "ส้วม" อย่างไรช่วงน้ำท่วม