พลันที่ "ภูมิธรรม เวชยชัย" รมว.กลาโหม ก็เป็นที่จับตามองทันที หลังจากย้ายจาก กระทรวงปากท้อง อย่าง ก.พาณิชย์ ไปนั่งดูแลกระทรวงกลาโหม ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ "ภูมิธรรม" หรือ "พี่อ้วน" ตามคำเรียกของบรรดานักข่าวหรือ อดีต "สหายใหญ่" อดีตนักศึกษาที่เข้าป่าจากเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 และเคยร่วมขับเคลื่อนงานร่วมกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่เคยอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐไทย และในขณะนี้มานั่งในกระทรวงกลาโหม
นายภูมิธรรม เวชยชัย รมว.กลาโหม
เป็น "คนเดือนตุลาฯ" เข้าป่ามา แต่ได้มาอยู่ที่ ก.กลาโหม
ภูมิธรรม : เป็นคำถามเครียดเลย (หัวเราะ) ผมว่ามัน ไม่มีอะไร เพราะว่ามันคือความเป็นจริงของชีวิตของคน ผมเป็นคนที่เกิดขึ้นในยุคที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง ดังนั้นการเกิดขึ้นครั้งนั้นมันเป็นอุบัติเหตุทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับคนไทยทั้งระบบ ทั้งประเทศ และทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดที่รุนแรง มีการเข่นฆ่ากันขึ้น ซึ่งไม่ควรจะเป็น ผมคิดว่าคนเรามีความเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่ความเห็นที่แตกต่างไม่ควรนำไปสู่การทำลายกัน
ผมคิดว่าคนเรามีความเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่ความเห็นที่แตกต่างไม่ควรนำไปสู่การทำลายกัน
พร้อมกับเล่าว่า ครั้งนั้นที่ตนเองเข้าไปด้วยเหตุผลเหล่านี้ และมันผ่านมา 50 ปีแล้ว ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นเรา ได้เข้ามาด้วยกระบวนการของชาติที่อยากเห็นความร่วมมือกัน และยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งการเข้ามาขณะนี้ ไม่ใช่อยู่ ๆ ผมออกมาจากป่าเดี๋ยวนี้แล้วก็เข้ามาถ้าเป็นแบบนั้นก็จะมีแผล แต่ผ่านมา 50 ปี ตนเองก็เข้ามาสู่กระบวนการปกติของประเทศ ทั้งนี้ใน 50 ปีที่ผ่านมา ผมได้เข้ามาอยู่ในระบบการเมืองเปิด เข้ามาร่วมงานต่าง ๆ และคิดว่าสิ่งที่เราได้ทำมามันเป็นประวัติศาสตร์ที่มีส่วนร่วม
นายภูมิธรรม เวชยชัย รมว.กลาโหม เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง
นายภูมิธรรม ยังระบุว่า วันนี้ไม่ควรไปนั่งคิดเรื่องอดีต อดีตเป็นเพียงแค่สิ่งที่ควรจะเป็นสำนึก หรือ บทเรียนของเราในการที่จะทำให้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคต พร้อมกับยืนยันว่า ผมเข้ามาด้วยความบริสุทธิ์ใจ และด้วยวิถีของประชาธิปไตย และการมาที่นี่ก็ตั้งใจมาทำงาน พยายามจะให้ทุกคนได้เห็น และเชื่อว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นเครื่องวัดและทำให้คนได้รู้จักผมอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันหากเราเข้ามาร่วมมือกับกองทัพ เพื่อแก้ไขปัญหาได้คิดว่าไม่มีใครมีปัญหาอะไร
นายภูมิธรรม ยังระบุว่า ตนเองยังได้ไปพบกับทหารผ่านศึกเป็นภารกิจแรก คิดว่า ควรจะไปในจุดที่ได้รับผลกระทบ ถึงแม้จะไม่ใช่เหตุการณ์ตอนนั้นหรือใช่ก็ตาม ก็ควรจะได้มาพูดคุยกัน และทำให้เกิดความเข้าใจกัน ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี
นอกจากนี้ยังได้พบ พล.อ.ชัชวาลย์ ขำเกษม ประธานที่ปรึกษาสมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการต้อนรับที่ดี และบอกว่า ไม่ติดใจในอดีต จึงรู้สึกว่า เรื่องของวันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็เห็นตรงกัน และได้บอกไปว่าวันนี้ต้องมาช่วยกันทำงาน และคิดว่าไม่ว่าผมเป็นอย่างไร มีสภาพแบบไหน การทำงานร่วมกัน จะเป็นเครื่องพิสูจน์
ได้เข้ามาแล้ว อยากเห็นและอยากทำอะไรในกองทัพ
ภูมิธรรม : ระบุว่าคิดว่ากองทัพเป็นสถาบันที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารปกครองและประเทศด้วยความมั่นคง หากถามว่า ที่ผ่านมากองทัพทำหน้าที่ได้ดีไหม ตนคิดว่าเรื่องของการป้องกัน ความมั่นคงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่มีที่ติ แต่ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการแยกบทบาทของกองทัพเด็ดขาดในฐานะที่เป็นทหารมืออาชีพ กับบทบาททางการเมืองที่ยังเป็นข้อถกเถียงของคน
สิ่งที่เราอยากเห็น คือ กองทัพ เป็นทหารอาชีพ อยากเห็นกองทัพเติบโตในวิถีที่ทำให้เกิดความมั่นใจ และมั่นคงให้กับประเทศ ที่ตนเองเข้ามาได้ให้ยึดตามนโยบายของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ในการทำงาน
นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของภารกิจที่ควรทำที่จะทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพ สอดรับกับยุคสมัย ก็คือ ปัจจุบันเรามีกองกำลังที่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และชั้นผู้น้อย เต็มไปหมด แต่หากเราเข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลง การมีกองทัพไม่จำเป็นต้องมีกองกำลังที่มากหรือใหญ่เกินไป แต่ต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ และอาวุธที่มีลักษณะใช้ ดิจิทัล หรืออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น คิดว่า วันนี้กองทัพต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีศักยภาพ สูงขึ้น การลดกำลังพลให้เหมาะสมกับขนาดของกองทัพ ที่สามารถเติบโตเข้มแข็งได้ สามารถรักษาความมั่นคงได้เป็นเรื่องที่อยากทำ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รมว.กลาโหม เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง
เรื่องที่ 2 การดูแลทหารชั้นผู้น้อยและทหารผ่านศึก เป็นเรื่องที่อยากทำเพราะว่า เราต้องให้กำลังใจกับคนที่เขาเสียสละออกหน้าไปปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดความมั่นคงของประเทศ ที่อาจประสบความสูญเสียเกิดขึ้น โดยหน้าที่ของเรา คือ อยู่แนวหลังต้องทำให้เขารู้สึกมั่นใจว่า เวลาเขาออกไปทำหน้าที่ของประเทศ แล้วต้องเผชิญกับอันตรายก็พร้อมที่จะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องห่วงข้างหลัง
พร้อมกันนี้ยังมีเรื่องของทหารเกณฑ์ที่พูดกันว่าจะเปลี่ยนทหารเกณฑ์ให้เป็นแบบสมัครใจ อันนี้พูดไปแล้วมันก็ถูกโจมตีว่าพูดไปไม่ยอมทำตามนโยบาย ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ การพูดถึงเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของการที่พยายามจะใช้ความตั้งใจและความหวังมาแก้ไขให้มันเกิดระบบที่ดีขึ้น ซึ่งการทำให้ทหารเกณฑ์เป็นทหารสมัครใจมันก็ต้องเกิดขึ้นจากความรู้สึกโน้มน้าวให้เขารู้สึกว่าทหารมีดีอะไร ทำไมถึงต้องอยากมาอยู่ ไม่ใช่อยู่ ๆ ไปบอกเขาแล้วเขาอยากจะมา
จะได้เห็นการเป็นทหารแบบสมัครใจในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่
ภูมิธรรม : คาดหวังว่าจะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด แต่ว่าสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งต้องเข้าใจความเป็นจริงว่าการที่มีอะไรที่ยึดถือ ปฏิบัติกันมานาน การจะเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลาและความเข้าใจ
ดังนั้นนโยบายเรื่องการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจของพรรคเพื่อไทย จึงต้องใช้คำว่า "เปลี่ยนผ่าน" พรรคเพื่อไทยใช้คำว่าเปลี่ยนผ่าน ก็คือ เราอยากจะเปลี่ยนตามความคาดหวัง แต่ต้องมีช่วงให้ผ่านไปโดยมีช่วงที่มี ความพร้อมหลายๆด้านให้เกิดขึ้น จึงใช้คำว่าเปลี่ยนผ่าน
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้ามา ก.กลาโหม เพราะเป็นตัวแทนของคุณทักษิณ
ภูมิธรรม : ผมยืนยันว่า ผมเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยโดยหัวหน้าพรรคที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯเป็นผู้คัดเลือกทีมเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน
คำว่า "รัฐประหาร" คำนี้ควรหมดไปหรือไม่
ภูมิธรรม : หากพูดในเชิงอุดมคติไม่ควร คิดว่า ไม่ควรมีรัฐประหาร เพราะการรัฐประหาร ส่วนหนึ่งมันใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่คิดว่ามันไปไม่ได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่า ที่ว่าเพราะไปไม่ได้จึงรัฐประหาร พอรัฐประหารยิ่งไปไม่ได้หนักขึ้นอีก และสิ่งที่อยากเห็น คือปล่อยให้การเมืองและวิถีชีวิตการทำงานของพลเรือนมีพัฒนาการที่ต่อเนื่องต่อไป
ส่วนทหารเราเป็นมืออาชีพทำหน้าที่ความมั่นคง มีอะไรที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการทำงานก็เสนอแนะมาให้รัฐบาลได้ คิดว่าถ้าไปตามฟังก์ชันแบบนี้การรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้ายังผสมปนเปกันไม่มีความชัดเจน การรัฐประหารก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ
อ่านข่าว : "ภูมิธรรม" ไร้กังวลคุมกลาโหม จำไม่ได้ภาพสหายใหญ่ 50 ปีก่อน
โปรดเกล้าฯ ครม.แพทองธาร ไม่พลิกโผ "ภูมิธรรม" รองนายกฯ ควบ กห.
"พล.อ.สมเจตน์" จุดกระแส ต้าน "สหายใหญ่" ภูมิธรรม นั่งกลาโหม