วันแรก! 26 ก.ย.ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาน้ำท่วมออนไลน์

ภัยพิบัติ
24 ก.ย. 67
17:08
12
Logo Thai PBS
วันแรก! 26 ก.ย.ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาน้ำท่วมออนไลน์
ปภ.กำชับ 57 จังหวัดทำบัญชี 338,391 ครัวเรือ รับเงินเยียวยาน้ำท่วม วงเงิน 3,045 ล้านบาท ส่วนระบบออนไลน์เริ่มวันแรก 26 ก.ย. นายกรัฐมนตรี สั่งสำรวจเยียวยาเฟส 2

วันนี้ (24 ก.ย.2567) นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยภายหลังการประชุมชี้แจงแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบวงเงิน 3,045 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ 57 จังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 338,391 ครัวเรือน 

ปภ.มอบหมายจังหวัดสำรวจจัดทำบัญชี ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ไม่ต้องรอระยะเวลาและให้ทยอยส่งข้อมูลเข้ามายัง ปภ.ให้ได้โดยเร็ว ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

อ่านข่าว ครม.เคาะลดค่าน้ำ-ค่าไฟ ก.ย.เล็ง "ทางรัฐ" จ่ายเยียวยาน้ำท่วม

ดีเดย์ 26 ก.ย.ยื่นคำร้องเยียวยาน้ำท่วม

อธิบดีปภ.กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานนั้น ให้อำเภอแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลประจำแต่ละหมู่บ้านที่ประสบภัย ทำหน้าที่สำรวจรายชื่อผู้ประสบภัยและการลงทะเบียนพร้อมเพย์ เพื่อส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบ และรับรองข้อมูลเพื่อเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.อ.) ให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งมาให้ปภ.และนำส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินโอนเงินให้ผู้ประสบภัยต่อไป

อ่านข่าว เช็กเกณฑ์ เงื่อนไขเยียวยาน้ำท่วมปี 67 จังหวัดไหนบ้างได้สิทธิ

นอกจากนี้ ปภ.กำหนดช่องทางการยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือฯ ไว้ 2 ช่องทาง ทั้งแบบ Onsite และ Online โดยแบบ Onsite ประชาชนสามารถยื่นคำร้องด้วยตนเองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย ส่วนแบบ Online จะดำเนินการยื่นคำร้องและติดตามสถานะผ่านเว็บไซต์ที่ปภ.จัดทำขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

อ่านข่าว เทียบเกณฑ์เยียวยาน้ำท่วม ปี 54 - 67

สำหรับเอกสารที่ใช้ยื่นเป็นหลักฐานในการขอรับเงินช่วยเหลือ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมด้วยหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน) สัญญาเช่าบ้านหรือหนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรณีเป็นบ้านเช่า) และหากเป็นกรณีอื่น อาทิ บ้านพักอาศัยประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน จะต้องให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมกับผู้นำชุมชน ตรวจสอบข้อเท็จจริง และลงนามร่วมกัน 2 ใน 3

ผู้ประสบอุทกภัยสามารถยื่นคำร้อง ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ตั้งแต่วันนี้ ส่วนการยื่นคำร้องผ่านระบบออนไลน์ คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.flood67.disaster.go.th ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.นี้ สำหรับประชาชนที่ยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับธนาคาร สามารถไปลงทะเบียนพร้อมเพย์ได้ทุกธนาคาร เพื่อให้สามารถรับเงินช่วยเหลือได้โดยเร็ว

อ่านข่าว เช็กเอกสารรับเงินเยียวยาน้ำท่วม-หายทำใหม่ฟรี 15 วัน

เร่งสำรวจ-จัดทำบัญชีเฟส 2   

น.ส.แพทองธาร​ ชินวัตร​ นายก​รัฐมนตรี​ ล่าวถึงการออกการเยียวยาผู้ประสบ​อุทก​ภัยรอบ​ 2 จะหารือกับศปช.วันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.) โดยพยายามให้ศปช.อนุมัติงบเยียวยาให้เร็วที่สุด คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นในช่วงสัปดาห์หน้า

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า มอบหมายให้นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เร่งทำบัญชี เป็นรายครัวเรือนไม่ใช่รายบุคคล การเร่งสำรวจน่าจะง่าย และการเยียวยาก็ให้เป็นครัวเรือน

นายกรัฐมนตรี ก็ได้กำชับกระทรวงมหาดไทย ให้ตั้งเกณฑ์สูงสุดในการเยียวยาเพื่อให้ชาวบ้านได้รับการช่วยเหลือ

ส่วนที่มอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณไปพิจารณา คือเรื่องการเยียวยาใช่หรือไม่ นายอนุทิน ระบุว่า เป็นเพียงกรอบวงเงิน แต่เรื่องการสำรวจเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย และตนก็ได้ให้แนวทางไปแล้วว่า เพราะมีประกาศเขตประสบภัยพิบัติเป็นพื้นที่อำเภอ ก็เยียวยาตามหลังคาเรือนไป

สำหรับพื้นที่ประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วม 57 จังหวัดครอบคลุม กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่อง สอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี

ขณะที่การให้ความช่วยเหลือตามมมติ ครม. แบ่งออกเป็น 3 กรณี 

  • บ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงกรณีน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท
  • บ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท
  •  กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท

โดยต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ ตามพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 30 และจะต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ที่ประสบสาธารณภัย

รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.)

อ่านข่าวอื่นๆ

ไม่พลิกโผ! เปิด 21 ชื่อประธานกมธ. สว.สีน้ำเงินกินรวบ 20 คณะ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง