วันนี้ (27 ก.ย.2567) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับในการเปิดงาน “30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร” โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
พร้อมด้วย ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายสุขภาพ ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ
นายชัชชาติกล่าวว่า ในนามของกรุงเทพมหานคร ตนรู้สึกดีใจที่รัฐบาลได้มาสานต่อนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้าในกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาเรื่องสุขภาพและสาธารณสุขคือหัวใจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ หากประชาชนไม่สบาย ก็ทำให้ไม่สามารถหารายได้ เกิดเป็นวงจรที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
อาจมองว่าใน กทม. มีโรงพยาบาลชั้นดีจำนวนมาก แต่แท้จริงแล้วเรามีประชาชนรวมประชากรแฝงกว่า 10 ล้านคน ดังนั้นปัญหาเรื่องสาธารณสุขใน กทม. ไม่ได้น้อยกว่าจังหวัดอื่น อาจมากกว่าในบางมิติด้วยซ้ำ
โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่สำคัญมาก ซึ่งมี 3 ปัจจัยหลักสำคัญ ได้แก่ 1.ต้องใช้เทคโนโลยี 2.การเชื่อมโยงข้อมูล 3.มีระบบปฐมภูมิที่เข้มแข็ง โดยที่ผ่านมา กทม. ได้พัฒนาร่วมกับ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ได้แก่ ระบบส่งต่อผู้ป่วย (e-Referral) ระบบ Health Link และ Platform อื่น ๆ ทำให้วันนี้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิได้ ทั้งที่ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชมชนอบอุ่น หน่วยนวัตกรรมที่ติดสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่
ขณะนี้ใน กทม. มีศูนย์ปฐมภูมิที่ติดป้ายสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่กว่า 1,500 แห่ง และหากมีความจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล ก็จะมีการส่งตัวผู้ป่วยตามขั้นตอนต่อไป
“นี่คือหัวใจที่จะสร้างความมั่นคง ความสะดวก และประสิทธิภาพในการให้บริการกับประชาชน และตนเชื่อว่าการที่ประชาชนมีสุขภาพดี จะมีกำลังในการพัฒนาประเทศและเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันสร้างเมืองนี้ให้ดีต่อไป” นายชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับบริการสุขภาพ ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มุ่งให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายฯ ได้เริ่มตั้งแต่ต้น ปี 2567 ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เดือนมกราคม ที่นำร่องใน 4 จังหวัด ระยะที่ 2 เดือนมีนาคมดำเนินการเพิ่มเติมในอีก 8 จังหวัด ระยะที่ 3 เดือนพฤษภาคม ขยายในพื้นที่ 33 จังหวัด และวันนี้กรุงเทพมหานครเป็น จังหวัดที่ 46 และจะให้ครอบคลุมทั้งประเทศในปีนี้
วันนี้ประชาชนใน กทม. ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่จังหวัดใด ก็สามารถใช้บัตรประชาชนเข้ารับบริการสุขภาพระบบปฐมภูมิได้ตามนโยบายได้ ทั้งที่หน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยบริการนวัตกรรม ที่มีตราสัญลักษณ์ 30 บาท รักษาทุกที่ปรากฏอยู่
อ่านข่าว :"เขื่อนกิ่วคอหมา-กิ่วลม" เติม "แม่น้ำวัง" ท่วมเมืองลำปาง กระจายท่วม 5 อำเภอ
ตัวเลขพุ่ง 214 ผู้เสียหายคดี "แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์" ทองไม่ตรงปก
แจก 10,000 บาท 2 วันโอนไม่ผ่าน 1.9 แสนคน เปิด 2 สาเหตุไม่ได้เงิน