เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดและไม่ทันตั้งตัวจากอุบัติเหตุไฟไหม้ จนได้รับบาดเจ็บเกิดบาดแผล นอกจากการตั้งสติให้มากที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติคือการช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนถึงโรงพยาบาล ซึ่งต้องทำอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ จึงจะช่วยลดความรุนแรงและอันตรายที่เกิดกับผู้บาดเจ็บได้
อ่านข่าว : เช็กขั้นตอนเอาตัวรอดจาก "ไฟไหม้ในรถบัส"
ดีกรีความลึกของบาดแผลไฟไหม้ แบ่งได้กี่ระดับ
บาดแผลจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกที่บริเวณผิวหนัง แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ตามความลึกของบาดแผล
- แผลลึกระดับที่ 1 (First degree burn)
- แผลลึกระดับที่ 2 (Second degree burn)
- แผลลึกระดับที่ 3 (Third degree burn)
แผลลึกระดับที่ 1 (First degree burn)
แผลไหม้ระดับแรก เป็นการบาดเจ็บอยู่เฉพาะที่ชั้นหนังกำพร้า เป็นชั้นผิวหนังส่วนตื้น แผลอาจมีลักษณะคล้ายผิวหนังไหม้จากการโดนแสงแดดจัด อาการที่พบเจ็บปวดหรือแสบร้อน บาดแผลแดง และแห้ง ไม่มีลักษณะของตุ่มน้ำให้เห็น หายเองภายใน 7 - 14 วัน โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ ยกเว้นมีการติดเชื้ออักเสบ
แผลลึกระดับที่ 2 (Second degree burn)
แผลไหม้ระดับนี้แบ่งย่อยเป็น 2 ชนิด คือ "บาดแผลชนิดตื้น" และ "บาดแผลระดับลึก"
- บาดแผลชนิดตื้น ที่เกิดการไหม้ขึ้นที่ชั้นหนังกำพร้าตลอดทั้งชั้น ทั้งชั้นผิวนอก ชั้นในสุด และหนังแท้ ส่วนที่อยู่ตื้น ๆ (ใต้หนังกำพร้า) แต่ยังมีเซลล์ที่สามารถเจริญทดแทนส่วนที่ตายได้ จึงหายได้เร็วและไม่เกิดเป็นแผลเป็น ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้อ บาดแผลมีลักษณะมีตุ่มพองใส พื้นแผลจะมีสีชมพู ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดแสบมากเพราะเส้นประสาทบริเวณผิวหนังยังเหลืออยู่ แผลจะหายได้ต้องใช้ระยะเวลา 2-3 สัปดาห์
- บาดแผลระดับลึก จะเกิดการไหม้ขึ้นที่ชั้นของหนังแท้ส่วนลึก ลักษณะบาดแผลจะตรงกันข้ามกับบาดแผลชนิดตื้นคือจะไม่ค่อยมีตุ่มพอง แผลสีเหลืองขาว แห้ง และไม่ค่อยปวด บาดแผลชนิดนี้มีโอกาสเกิดแผลเป็นได้แต่ไม่มาก หากไม่มีการติดเชื้อซ้ำ โดยแผลมักจะหายได้ภายใน 3-6 สัปดาห์ รักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่จะช่วยให้แผลไม่ติดเชื้อ
แผลลึกระดับที่ 3 (Third degree burn)
บาดแผลที่เกิดขึ้นในระดับนี้ค่อนข้างรุนแรง โดยบาดแผลไหม้ทำให้ผิวหนังทุกชั้นถูกทำลายด้วยความร้อน ผู้ป่วยมักไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดที่บาดแผล อาจกินลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือกระดูก บาดแผลจะมีลักษณะขาว ซีด เหลือง น้ำตาลไหม้ หรือดำ หนาแข็งเหมือนแผ่นหนัง แห้ง แผลชนิดนี้มักไม่หายเอง ต้องได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง จะมีการดึงรั้งของแผลทำให้ข้อยึดติด เมื่อหายแล้วจะเป็นแผลเป็น บางรายจะพบแผลเป็นที่มีลักษณะนูนมาก มักเกิดจากไฟไหม้หรือถูกของร้อนนาน ๆ หรือไฟฟ้าช็อต ถือเป็นบาดแผลที่ร้ายแรง
วิธีปฐมพยาบาล "แผลไฟไหม้"
เมื่อโดนไฟไหม้ สิ่งสำคัญคือการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องเพื่อลดความรุนแรงของแผล
- กรณีไฟไหม้ควรช่วยผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด รวมถึงกำจัดแหล่งความร้อนที่จะทำให้บาดแผลลุกลาม เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ
- ล้างบาดแผลด้วยน้ำที่อุณหภูมิปกติ เพื่อลดความร้อนและทำให้แผลเย็นลง
- กรณีมีบาดแผลถลอก มีตุ่มน้ำ สีของผิวหนังเปลี่ยนแปลง มีบาดแผลลึก หรือมีแผลไหม้เป็นบริเวณกว้าง สามารถปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาด และให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
- ไม่ควรทาหรือใช้สารอื่น ๆ ทาลงบนบาดแผล เช่น ยาสีฟัน ไข่ขาว น้ำปลา เนื่องจากอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อที่บาดแผลได้
- กรณีที่แผลไฟไหม้อยู่ในระดับรุนแรง เช่น แผลลึก แผลกว้าง หรือมีอาการเช่น เป็นไข้ หนาวสั่น หรือหมดสติ ควรรีบพบแพทย์ทันที
การดูแลรักษาบาดแผลไฟไหม้ปัจจุบันมีความก้าวหน้า และการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์จะทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น ช่วยลดความเจ็บปวดให้ผู้ป่วยได้ดี
เกร็ดน่ารู้เรื่องไฟไหม้
- บาดแผลไฟไหม้ที่เกิดในเด็กเล็ก และ ผู้สูงอายุ แม้มีขนาดไม่กว้างมาก แต่ก็อาจมีอันตรายมากกว่าคนหนุ่มสาว
- บาดแผลที่ข้อพับ อาจทำให้เกิดแผลเป็น ดึงรั้งข้อต่อให้คดงอ เหยียดไม่ได้ ป้องกันได้โดยใช้เฝือกดามข้อในบริเวณนั้นตั้งแต่แรก ควรบริหารข้อต่อนั้น ๆ สม่ำเสมอ
- ผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรกินอาหารโปรตีน เช่น เนื้อ นม ไข่ ให้มาก ๆ เพราะร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนออกไปทางบาดแผล
- เมื่อแผลหายดีแล้วต้องระวังไม่ให้ถูกแสงแดด 3-6 เดือน และใช้น้ำมันหรือครีมโลชั่นทาที่ผิวหนัง เพื่อลดอาการแห้งและคัน
สุดท้ายแล้ว "แผลไฟไหม้" นั้นเป็นสิ่งที่ควรได้รับการดูแลอย่างเร็วที่สุด และถูกต้องตั้งแต่ระยะก่อนพบแพทย์ นั้นเพื่อเป็นการลดโอกาส ในการลุกลามของบาดแผลและลดโอกาสในการติดเชื้อ นอกจากปัญหาเรื่องบาดแผล แล้ว ผู้ป่วยยังมีโอกาสเกิดปัญหาอื่น ๆ เช่น การสูญเสียน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย การติดเชื้อ และการสูดดมควันไฟ จึงต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
อ้างอิงข้อมูล : กรมการแพทย์, โรงพยาบาลพญาไทย, โรงพยาบาลวิภาวดี
อ่านข่าว : แจกเงิน 10,000 บาทเฟสแรก โอนไม่สำเร็จ 3.8 แสนคน