โศกนาฏกรรมที่ไม่ควรเกิด แต่เกิดขึ้นอีก มิหนำซ้ำหนักหน่วงรุนแรงกว่าเดิม จากเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาของเด็กนักเรียนจาก อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี มีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษา และครู บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ในรถที่กลายเป็นกรงนรกกักขังไร้ทางออกตอนไฟไหม้
ความจริงแทบไม่มีอะไรใหม่ เพราะรถบัส 2 ชั้น ก็เคยเกิดอุบัติเหตุและเคยมีประกาศสั่งห้ามไว้ รถยนต์ติดตั้งแก๊ส และประตูฉุกเฉินไม่ทำงานเปิดปิดไม่ได้ รวมทั้งวิสัยทัศน์ของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้าราชการไปถึงฝ่ายการเมือง ที่พรั่งพรูออกมาหลังเกิดโศกนาฏกรรม
ไม่ว่าจะต้องยกเลิกหรือต้องคัดกรองอย่างเข้มข้น เรื่องการทัศนศึกษาของเด็กนักเรียน ต้องกำกับเอาจริงเอาจังเรื่องรถบัส คนขับต้องพร้อม ไม่ดื่มสุรา หรือแม้แต่จะเยียวยาชดเชยอย่างเต็มที่
มีคำถามที่น่ารู้มากมาย เช่น เรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัย และการทำตามกฎหมาย ต้องคอยกำชับ ในเมื่อเป็นหน้าที่โดยตรง หรือหากไม่กำชับ จะละเลยหละหลวม ส่วนเรื่องจะเยียวยาชดเชยอย่างเต็มที่ก็เช่นกัน คุ้มหรือชดเชยได้จริงหรือ เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองต้องสูญเสียลูกหลานไปแล้ว จากความบกพร่องสะเพร่าของผู้ใหญ่
เด็กเหล่านี้ หากเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต จะทำเงินหาเลี้ยงครอบครัวได้มากกว่าเงินที่จะจ่ายให้ไม่รู้กี่เท่า อาจเป็นนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียง เป็นนักธุรกิจเจ้าของกิจการส่งออก หรืออาจเป็นนายตำรวจที่เสียสละมุ่งทำงานเพื่อประโยชน์โดยรวม ไม่ใช่ไปนั่งกินอาหารหรูชนไวน์ราคาแพงกับบรรดาแม่ ๆ ที่มักทำอะไรผิดกฎหมายทั้งหลาย
แปลกที่ผู้รับผิดชอบโครงการ เมื่อมีการยื่นเสนอตามขั้นตอนของโรงเรียน ควรต้องดูความพร้อมทั้งเรื่องจ้างรถ สภาพรถ คุยกับคนขับรถอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ตั้งแต่ก่อนถึงวันเดินทาง และไม่ควรเลือกรถโดยสาร 2 ชั้น ด้วยเหตุผลราคาถูกกว่าจ้างรถชั้นเดียว เพราะคนนั่งได้มากกว่า
ทำไมไม่ตรวจสอบประตูฉุกเฉิน หรืออุปกรณ์อย่างค้อนใช้ทุบ เพื่อเปิดประตูฉุกเฉิน ที่ต้องมีทุกคัน เพราะฟังจากคุณครูที่อยู่ในเหตุการณ์ หากประตูฉุกเฉินเปิดได้ เด็กจะไม่ตายเยอะขนาดนี้
ทั้งที่ไทยมีบทเรียน จากทั้งรถตู้สาธารณะที่ตายเกือบยกคันมาแล้ว จากอุบัติรับปีใหม่ 2560 ที่อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี 25 ศพ และรถโดยสารสาธารณะ 2 ชั้น ตาย 18 ศพ เมื่อเดือนมี.ค.2561 รวมทั้งอีกหลายเหตุการณ์
เฉพาะ 2 เหตุการณ์ที่อ้างถึง ตอนนั้นมีการตื่นตัวมากถึงขั้นต้องรื้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติใหม่ ห้ามมีเก้าอี้เสริม และต้องถอดเก้าอี้ตัวกลางแถวสุดท้ายออก เพื่อให้สามารถเปิดออกประตูท้ายรถได้ ต้องติดจีพีเอส ควบคุมความเร็วของรถ
สำหรับรถตู้ ขณะที่รถโดยสาร 2 ชั้น ได้เกิดคำถามจ้าละหวั่น เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้ยกเลิกรถโดยสารสาธารณะ 2 ชั้นแล้วตั้งแต่ปี 2559
กระทั่งพบว่า กรมการขนส่งทางบก แก้ไขกฎกระทรวง ในเรื่องความสูงของรถไม่เกิน 4 เมตร ในปี 2559 มีผลบังคับใช้ปี 2560 และรถโดยสาร 2 ชั้น ที่จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ยังคงใช้รถต่อไปได้ แต่มีข้อกำหนดว่า ภายปี 2563 รถโดยสารที่มีความสูง ต้องไปทดสอบความลาดเอียง 30 องศา หากผ่านจะไม่สามารถต่ออายุได้ หรือฝ่าฝืนจะมีโทษตาม พ.ร.บ.ขนส่งจราจร โทษปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเด็นคำถาม และปัญหาที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ และโศกนาฏกรรมซ้ำซาก ทั้งโดยฝีมือมนุษย์และการไม่ได้มาตรฐานหลายอย่าง รวมทั้งถนนหนทาง
อย่างไรก็ตาม ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาล น.ส.แพทอง มีเรื่องนโยบายความปลอดภัยทางถนน ระบุเอาไว้ชัดเจน กระทั่งนายนิกร จำนง อดีต รมช.คมนาคม ที่เคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องนี้มานานกว่า 30 ปี ยังออกมาชื่นชม
เท่ากับรัฐบาลให้น้ำหนักกับเรื่องนี้ชัดเจน มีผลให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ต้องดำเนินการตามที่นายกฯ ได้แถลงไว้เป็นพันธะสัญญา จะละเลยหรือปฏิเสธไม่ทำตามไม่ได้ โดยเฉพาะ 2 กระทรวงสำคัญ คือ กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรีที่มาจากตำรวจ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เจ้าของสโลแกน เรียนดีมีความสุข และทุกอย่างโปร่งใส
กับกระทรวงคมนาคมของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าของแนวคิด จะซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชน เพื่อผลักดันต่ออายุรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และเพิ่งประกาศ ทุกโครงการก่อสร้างถนนพระราม 2 ต้องแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนมิ.ย.2568
หากเพิ่มเรื่องแก้ปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนนเข้าไปด้วย เชื่อว่าจะได้เสียงคะแนนนิยมเพิ่มอีกจมหู ปัญหาแค่อยู่ที่ว่า จะทำจริงหรือเปล่า
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : "คมนาคม" สั่งเรียกตรวจรถโดยสาร 13,426 คัน ไม่ผ่านไม่ให้ใช้งาน