- ไบค์เกอร์ต้องรู้ 5 เทคนิค ขี่มอเตอร์ไซค์หน้าฝน
- เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสาร "ไฟไหม้รถบัส" เรียกร้องค่าเสียหายจากใครได้บ้าง
เพราะมีข่าวขโมยรถยนต์ในประเทศไทยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้เจ้าของรถต้องหาทั้งวิธีป้องกัน ทั้งมาตรการการรับมือเมื่อถูกโจรกรรมทรัพย์สินเช่นนี้ นอกจากการป้องกันด้วยตนเอง เช่น การติด GPS การติดตัวล็อกพวงมาลัย เบรก คันเร่ง ติดกล้องวงจรปิด การทำ "ประกันรถยนต์" ยังเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเสียหาย
วิธีป้องกันรถยนต์ถูกขโมย
- ติดตั้งระบบล็อกพวงมาลัย : เป็นการป้องกันที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะทำให้โจรขโมยรถได้ยากขึ้น และยังสามารถติดตั้งระบบล็อกเบรก คันเร่ง ได้ด้วย
- ติดตั้งสัญญาณกันขโมย : สัญญาณเตือนจะดัง เมื่อมีการพยายามเปิดรถโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ติดตั้ง GPS Tracker : อุปกรณ์ติดตามตำแหน่งช่วยให้สามารถระบุตำแหน่งรถในกรณีที่ถูกขโมย
- จอดรถในสถานที่ปลอดภัย : เลือกจอดรถในสถานที่มีแสงสว่างเพียงพอและมีกล้องวงจรปิด
- ไม่ทิ้งของมีค่าในรถ : การไม่ทิ้งของมีค่าไว้ในรถช่วยลดแรงจูงใจของผู้ขโมย
รถถูกขโมย "ประกัน" รับผิดชอบไหม ?
สำหรับการทำประกันภัยรถยนต์ หากเกิดกรณีที่รถถูกขโมย ประกันภัยจะครอบคลุมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประเภทของประกันที่ผู้เอาประกันเลือกใช้
สำหรับประกันภัยชั้น 1 จะครอบคลุมกรณีการโจรกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการขโมยรถทั้งคันหรือชิ้นส่วนรถ เช่น กระจกมองข้างหรือแม็กซ์ล้อ แต่จะต้องมีการแจ้งความภายในระยะเวลาที่กำหนด (ส่วนมากคือภายใน 24 ชั่วโมง) และต้องยื่นเอกสารประกอบการขอเคลม เช่น ใบแจ้งความจากตำรวจ
คู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ในหมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ข้อ 1.ข้อตกลงคุ้มครอง ระบุไว้ว่า การสูญหายของรถยนต์ ที่จะได้รับความคุ้มครองตามหมวดนี้ ต้องเป็นการสูญหายจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ และไม่ว่าจะสูญหายไปทั้งคัน หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถยนต์สูญหาย
แต่ในกรณีที่จอดรถโดยติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ แล้วลงจากรถเดินไปธุระหรือแวะซื้อของข้างทางโดยไม่ได้ล็อกรถยนต์ พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการขาดความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์ เพราะหากใช้ความระมัดระวังตามสมควร โดยดับเครื่องยนต์และล็อกประตูรถยนต์ให้เรียบร้อย ผู้ก่อเหตุก็ไม่สามารถขโมยรถไปได้โดยง่าย เหตุที่ผู้เอาประกันประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงนี้ทำให้ประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบในความสูญหายของรถยนต์ ตาม ป.พ.พ. (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) มาตรา 879 วรรคหนึ่ง ที่มีใจความระบุว่า
มาตรา 879 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
ส่วนกรณีของประกันภัยชั้น 2+ จะครอบคลุมเฉพาะกรณีที่รถถูกขโมยทั้งคันเท่านั้น ไม่ครอบคลุมกรณีการขโมยชิ้นส่วนของรถ หรืออุปกรณ์เสริม ในขณะที่ประกันภัยชั้น 3 และ 3+ ไม่ครอบคลุมกรณีการขโมยรถเลย ไม่ว่าจะเป็นทั้งคันหรือชิ้นส่วนใด ๆ
บทลงโทษตามกฎหมายอาญาสำหรับการขโมยรถ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท
5 ขั้นตอน รถถูกขโมยในห้างฯ ต้องทำอย่างไร ?
1.แจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างฯ ให้ทราบทันที พวกเขาจะช่วยตรวจสอบกล้องวงจรปิด (CCTV) ในบริเวณลานจอดรถ และตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น เวลาและสถานที่เกิดเหตุเพื่อช่วยในการสืบสวน
2.แจ้งความกับตำรวจ สถานีตำรวจในพื้นที่ที่ห้างฯ ตั้งอยู่ โดยตำรวจจะสอบสวนเหตุการณ์ ตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ เช่น ภาพจากกล้องวงจรปิด บันทึกพยานและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับการแจ้งความ ได้แก่ สำเนาสมุดทะเบียนรถ, บัตรประชาชนเจ้าของรถ, กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เมื่อแจ้งความเสร็จแล้ว ตำรวจจะออกใบแจ้งความให้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการต่อกับบริษัทประกันภัย
3.ประสานงานกับบริษัทประกันภัย โดยส่งเอกสารแจ้งความจากตำรวจ พร้อมกับเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น สำเนาสมุดทะเบียนรถ ใบเสร็จค่าเบี้ยประกัน และ บัตรประจำตัวประชาชน บริษัทประกันจะพิจารณาและสืบสวนเหตุการณ์ตามรายละเอียดที่ได้รับจากตำรวจ
4.ขอชดเชยจากห้างสรรพสินค้า ในกรณีที่รถถูกขโมยในลานจอดรถของห้างฯ ควรตรวจสอบว่าห้างฯ มีนโยบายการชดเชยในกรณีเช่นนี้หรือไม่ ปกติแล้วห้างฯ อาจจะระบุว่า "ไม่รับผิดชอบ" ต่อทรัพย์สินที่สูญหายหรือเสียหายในลานจอดรถ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่มีในหลายห้างฯ อย่างไรก็ตาม หากห้างฯ มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอหรือเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คุณอาจมีสิทธิ์เรียกร้องชดเชยได้ ซึ่งอาจต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายในการเรียกร้องค่าเสียหาย
บางห้างฯ มีข้อกำหนดว่า เมื่อเข้าใช้บริการ หมายความว่า มีการซื้อขาย มีใบเสร็จยืนยันการใช้บริการภายในห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น จึงจะเรียกว่า "ผู้ใช้บริการ" แต่เมื่อไรก็ตามที่เรานำรถเข้าจอด หรือไปฝากจอด ไม่มีการใช้บริการ หรือใช้บริการแต่ไม่มีใบเสร็จยืนยัน จะไม่ถือว่าเราเป็นผู้ใช้บริการ รวมถึงหากมีบัตรจอดก็ไม่ถือเป็นหลักฐานยืนยันการเข้าใช้บริการ
ดังนั้น หากลูกค้าได้นำรถเข้าจอดของห้างฯ และได้เข้าใช้บริการหรือซื้อสินค้าในห้างฯ เป็นหน้าที่โดยตรงที่ห้างฯ ต้องให้ความปลอดภัยทั้งต่อชีวิตลูกค้าและทรัพย์สินต่าง ๆ ของลูกค้า ซึ่งหมายรวมถึง "รถยนต์" ที่ลูกค้านำมาจอดที่ลานจอดรถของห้างด้วย
หากเกิดเหตุทำให้รถสูญหาย ทางห้างต้องจ่ายสินไหมทดแทนให้กับลูกค้าที่นำรถเข้ามาจอด ตามระบุในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ที่ระบุว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
5.การติดตามและสืบสวน ตำรวจจะเป็นผู้สืบสวนและติดตามรถที่ถูกขโมย โดยใช้ข้อมูลจากกล้องวงจรปิด พยานในที่เกิดเหตุ หรือข้อมูลทางเทคนิค เช่น การติดตามรถจากสัญญาณ GPS (หากมีการติดตั้งในรถ)
แหล่งข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ข้อมูลกรมธรรม์จากบริษัทประกันภัยหลายแห่ง
อ่านข่าวอื่น :
จับแล้วหญิงขโมยรถป้ายแดงกลางห้าง ให้การวกวน-แมวปลอดภัย
ระทึก! ขโมยรถป้ายแดงกลางห้างย่านรัชดา-นับสิบสกัดวุ่นไม่สำเร็จ