ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เส้นทางชีวิต "พล.อ.พิศาล" บนความยุติธรรม คดีสลายชุมนุมตากใบ

การเมือง
4 ต.ค. 67
18:06
8,683
Logo Thai PBS
เส้นทางชีวิต "พล.อ.พิศาล" บนความยุติธรรม คดีสลายชุมนุมตากใบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ปรากฏตัวในศาลตามกำหนดนัด หลังก่อนหน้านี้ (12 ก.ย.2567) ศาลได้ออกหมายเรียก เนื่องจาก พล.อ.พิศาล เป็น สส.มีเอกสิทธิคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ กระทั่งเมื่อวันที่ 2 ต.ต.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งออกหมายจับ ในคดีการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 78 ราย เนื่องจากคดีนี้มีการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมกันมายาวนาน 20 ปี ก่อนที่อายุความจะสิ้นสุด วันที่ 25 ต.ค.นี้

"เหตุมีพฤติกรรมหลบหนี ให้ตำรวจศาล ฝ่ายปกครอง และ ตำรวจ จับกุมจำเลยมาศาลก่อนหมดอายุความ ศาลพิเคราะห์แล้ว วันที่ 12 ก.ย.2567 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ไม่มาศาล แม้ในวันนัดจะมีการประชุมสภา แต่ไม่ปรากฏว่าเข้าร่วมการประชุมด้วย ไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือได้ว่ามีพฤติกรรมหลบหนี ให้ออกหมายจับ และให้นำตัว พล.อ.พิศาล มาดำเนินคดีภายในอายุความ"

หากย้อนเหตุการณ์ นับแต่วันสลายการชุมนุม อ.ตากใบ จ.นราธิวาส วันที่ 25 ต.ค.2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ จำนวน 78 คน หลังจากตำรวจคุมตัวเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านโคกกูแว ต.พร่อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จำนวน 6 คน หลังเข้าแจ้งความว่า ถูกกลุ่มติดอาวุธปล้นปืนที่รัฐแจกจ่ายให้รวม 6 กระบอก

โดยตำรวจ เชื่อว่า ทั้งหมดแจ้งความเท็จ ในขณะที่ชาวบ้านได้รวมตัวเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว ชรบ.ทั้งหมด มีเกิดเหตุวุ่นวาย ยากต่อการควบคุม และ นำไปสู่การสลายชุมนุม โดยมีการระบุว่า ผู้สั่งการ คือ พล.ท.พิศาล รัตนวงคีรี แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น

คดีนี้ครอบครัวผู้สูญเสียได้ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในการสั่งสลายการชุมนุม ทั้งการชันสูตรพลิกศพและสาเหตุการตายผิดธรรมชาติ ระหว่างทางมีหลายเรื่องราวเกิดขึ้น แม้ในยุครัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จะได้เยียวยาให้กับครอบครัวผู้สูญเสียไปแล้วรายละ 7 ล้านบาท แต่คดีอาญาก็ยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567 ผู้เสียหาย 48 ครอบครัว ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ รวม 9 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นฯ

ต่อมาศาลจังหวัดนราธิวาส รับฟ้อง และ ออกหมายจับจำเลย 6 คน และ ออกหมายเรียก 1 คน รวม 7 คน เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 ในข้อหาฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันฆ่าผู้อื่น และ กักขังหน่วงเหนี่ยว จากการสลายการชุมนุม 7 คน และจากการลำเลียงใส่รถบรรทุกไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี จนขาดอากาศหายใจ 78 คน รวม 84 คน

โดยหนึ่งในจำเลยคดีดังกล่าวคือ "บิ๊กอ๊อด" หรือ พล.อ.พิศาล ที่ศาลได้ออกหมายเรียก แต่ไม่เดินทางมาตามกำหนดนัด ในขณะที่มีข้อมูลว่า พล.อ.พิศาล ไม่เคยเข้าร่วมการประชุมสภา และได้ยื่นหนังสือลาประชุมต่อสภาฯ โดยอ้างเหตุผลว่าป่วย และเดินทางไปรักษาตัวต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค. – 30 ต.ค.2567 ซึ่ง นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ ได้เซ็นหนังสืออนุมัติให้ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พล.อ.พิศาล อาจจะเดินทางกลับ หลังคดีหมดอายุความ ในอีก 21 วันข้างหน้า

หากยังจำกันได้ ในยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ชื่อของ พล.อ.พิศาล เคยอยู่ในโผว่าที่ รมว.กลาโหม แต่สุดท้ายเก้าอี้กระทรวงปืนใหญ่ ก็หล่นใส่ "สุทิน คลังแสง" และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ "แพทองธาร ชินวัตร" ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2567 ชื่อของ พล.อ.พิศาล ก็ยังถูกกล่าวถึงว่า อาจเป็นแคนดิเดต รมว.กลาโหม เช่นกัน

แต่ที่สุดก็จางหายไปพร้อม ๆ กับคำสั่งฟ้องของศาลจังหวัดนราธิวาส ในคดีตากใบที่ผุดขึ้นมาแทนที่ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า มีอาการป่วย และเดินทางไปรักษาตัวอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

หากพลิกประวัติ "บิ๊กอ๊อด" พล.อ.พิศาล เป็นชาว จ.เชียงใหม่ จบจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 9 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 20 และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ผ่านหลักสูตรทรหดทั้ง กระโดดร่ม, จู่โจม, สงครามทุ่นระเบิด ในช่วงที่รับราชการเติบโตมาตามลำดับ

ก่อนจะเข้าเติบโตในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อปี 2523 ในตําแหน่ง ฝอ.3 ร.5 พัน 4 ผู้ช่วยหัวหน้ากองการกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 4, รองผู้บังคับ กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 5 กองทัพภาคที่ 4, ผู้บังคับกองพันที่ 4 กรมทหารราบที่ 5 กองทัพภาคที่ 4, รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 5 กองทัพภาคที่ 4, รองผู้บังคับจังหวัดทหารบก จ.สุราษฎร์ธานี

ต่อมาได้รับตําแหน่งฝ่ายเสนาธิการประจําปลัดกระทรวงกลาโหม ในปี 2538 และตำแหน่งผู้ช่วยคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ขึ้นตรงกับ "พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร" ผบ.ทบ.ในขณะนั้น และขยับเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อปี 2547 ดูแลงานในพื้นที่ภาคใต้มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในยุครัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" ที่มีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

หลังเกษียณราชการแล้ว "บิ๊กอ๊อด" พล.อ.พิศาล ได้เข้าสู่เส้นทางการเมือง เริ่มจากเป็นที่ปรึกษา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย และ ที่ปรึกษา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ปี 2566 พล.อ.พิศาล ได้เข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัว เป็น สส.ระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 27 จากโควตาทั้งหมด 29 คน ของ สส.ปาร์ตี้ลิสต์

ในปีนี้ (2567) พล.อ.พิศาล ในฐานะจำเลยที่ 1 ในคดีตากใบมีอายุครบ 74 ปี อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุสลดในเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา เคยเปิดเผยบทสัมภาษณ์ ร้าวสุดใจ "พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี" กับ 8 ปี ตากใบ และมีข้อความบางส่วนถูกถ่ายทอดลงคอลัมน์ "จุดเปลี่ยน" นสพ.มติชนรายวัน เมื่อ 26 ก.พ.2555 จากเหตุการณ์หน้า สภ.ตากใบ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ว่า เป็น "แผลในใจ" ที่ยังติดค้างและอยากอธิบายให้สาธารณชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงอีกด้าน

"ผมเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้นนะ แต่ยืนยันว่าไม่ได้สั่งให้ทหารฆ่าประชาชน เพราะเราทำแบบนั้นไม่ได้อยู่แล้ว แล้วในวันนั้น ทั้งโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม กรรมการอิสลามจังหวัด ฯลฯ ก็อยู่กับผมทั้งหมด ผมจำได้ หลังผมไปออกรายการ ผมยกมือไว้ขอโทษพี่น้องมุสลิม เพราะเราไม่อยากให้เกิดแบบนั้น"

"ผมคนเดียว ผมยอมได้ คดีในศาลตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา ผมก็ต่อสู้โดยลำพัง ผมไม่ว่า แต่กลับทำให้เราซาบซึ้งเป็นที่สุด แม้ฝ่ายรัฐจะปล่อยเราไว้ลำพัง แต่คนที่ช่วยเรากลับเป็นพี่น้องในพื้นที่ ทั้งพยานบุคคลอะไรต่าง ๆ อิหม่าม โต๊ะครู พ่อแม่ผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะสื่อในพื้นที่ที่ถ่ายภาพการลำเลียงชาวบ้านทับกันไปลงข่าว ทุกคนช่วยผม ไม่เช่นนั้นผมติดคุกไปแล้ว"

และอีกตอนหนึ่งว่า ... ไม่มีใครอยากให้ใครตาย ผมออกมา อนาคตหมดเลย เหลืออีก 8 ปีจะเกษียณ ไม่เหลืออนาคตอะไรเลย ไม่ได้ฝันอะไรมากมายไปกว่านี้ เป็นร้อยตรี มีเท่าไหร่ เกษียณมาก็อยู่เท่านั้น ที่อยู่ทุกวันนี้ จะร้อยตรี หรือพลเอกก็เหมือนกัน ไม่ได้ยึดติดตรงนั้นเลย

ในคดีเดียวกันจำเลยไม่ได้มีเพียง พล.อ.พิศาล แต่ยังมีตำรวจและพลเรือน ที่จะต้องเดินทางขึ้นศาลก่อนที่คดีจะหมดอายุความอีก 6 คน ทั้งหมดร่วงโรยไปตามกาลเวลา ประกอบด้วย พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 ปัจจุบันอายุ 76 ปี, พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีต ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ปัจจุบัน อายุ 73 ปี

พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีต ผบก.ตำรวจภูธร ภาค 9 ปัจจุบัน อายุ 77 ปี, พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ปัจจุบัน อายุ 70 ปี, นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันอายุ 78 ปี และ นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันอายุ 78 ปี

คดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องจับกุมตัวมาขึ้นศาล ก่อนวันที่ 25 ต.ค.2567 ถ้าไม่ได้ตัว คดีจะสิ้นสุด 

เช่นเดียวกับคดีที่ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี ตั้งแต่ปี 2547 ที่ยังไม่เคยมีการสั่งฟ้อง แต่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 สำนวนการชันสูตรพลิกศพ ผู้ชุมนุมที่เสียชีวิต 78 ราย ที่ลำเลียงใส่รถบรรทุกทหาร 25 คัน โดยตั้งข้อหา ผู้ควบคุม และพลขับ รวม 8 คน คือ พล.อ.เฉลิมชัย วึรุฬเพชร, ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส, นายวิษณุ เลิศสงคราม, ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร, นายปิติ ญาณแก้ว, พ.จ.ต.รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ, พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ, ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์

ตามขั้นของกฎหมายตำรวจจะต้องตามตัวมาส่งฟ้องต่อศาลให้ได้ภายในวันที่ 25 ต.ค.2567 ก่อนที่คดีจะหมดอายุความ เช่นเดียวกัน

แม้กาลเวลาจะกลืนทุกสรรพสิ่ง แต่สำหรับชาวบ้านผู้สูญเสียและพยายามทวงคืนความยุติธรรม แม้ต้องใช้เวลาอันยาวนานถึง 20 ปี แต่แผลลึกที่อยู่ในใจไม่เคยลืม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง