อยู่กับน้ำท่วมด้วยนวัตกรรม Flood Gate ลงทุนครั้งเดียวคุ้ม

สังคม
8 ต.ค. 67
07:15
0
Logo Thai PBS
อยู่กับน้ำท่วมด้วยนวัตกรรม Flood Gate ลงทุนครั้งเดียวคุ้ม
เหตุการณ์น้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ มีการพูดถึงระบบการป้องกันน้ำท่วม หนึ่งในนั้นก็คือโรงแรมแชงกรีลา ที่อยู่บนถนนช้างคลาน แต่กลับไม่ถูกน้ำท่วม ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะใช้นวัตกรรมนี้กับพื้นที่อื่น เพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมได้

ถูกพูดอย่างมาก สำหรับการรับมือน้ำท่วมของโรงแรมแชงกรีลา ถนนช้างคลาน อ.เมืองเชียงใหม่ ใช้กำแพงกั้นน้ำ ที่ทำจากแผ่นเหล็ก-พ่นกันสนิม มีเสาอลูมิเนียมค้ำยัน กำแพงนี้เป็นนวัตกรรม ระบบป้องกันน้ำท่วม "Flood Gate" ที่โรงแรมใช้ป้องกันน้ำท่วม ที่มีความสูงกว่า 1 เมตร

สรัญญา บุญเต็ม ผู้จัดการแผนกสื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ผู้บริหารวางระบบป้องกันน้ำท่วม ตั้งแต่เริ่มเปิดบริการ ปี 2550 เพราะถนนช้างคลานเป็นพื้นที่เคยถูกน้ำท่วม จึงนำนวัตกรรมระบบป้องกันน้ำท่วมมาใช้

"หลังจากที่ตั้ง Flood Gate ด้านในโรงแรมไม่ได้รับผลกระทบเลย สามารถให้ลูกค้าใช้สระว่ายน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวก ฟิตเนส สปา ได้เหมือนเดิม เพียงแต่มีปัญหาความไม่สะดวกสบายในการเข้าออกโรงแรม"

สรัญญา บุญเต็ม ผู้จัดการแผนกสื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์

สรัญญา บุญเต็ม ผู้จัดการแผนกสื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์

สรัญญา บุญเต็ม ผู้จัดการแผนกสื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์

นอกจากนี้ยังมีทีมดูแลความปลอดภัย ทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์น้ำทุกชั่วโมง และติดตามการแจ้งเตือนจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด และพร้อมติดตั้งกำแพงภายใน 1.30 ชั่วโมง รวมถึงวางท่อระบายน้ำรอบโรงแรม ให้น้ำไหลลงสู่บ่อเก็บน้ำของโรงแรม และมีเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง สูบน้ำ-ระบายน้ำออก

คนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงแรม บอกว่า ระบบป้องกันน้ำของโรงแรม ไม่กระทบกับพื้นที่โดยรอบ และเข้าใจว่าพอน้ำท่วม ทุกคนก็ต้องป้องกันความเสียหายของตัวเอง และมองว่าเป็นตัวอย่างของการป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ แต่อาจมีข้อจำกัดเรื่องของต้นทุน

"บังเกอร์กั้นน้ำ" วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา

กำแพงกันน้ำลักษณะนี้ เคยเห็นใช้แล้ว อีกจุดหนึ่ง คือ หน้าวัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา ที่ผ่านมาจุดนี้เรียกว่า "บังเกอร์กั้นน้ำ" ซึ่งตอนนี้ยกขึ้นแล้ว เพื่อป้องกันมวลน้ำของ แม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. ประมาณ 30 เซนติเมตร ทั้งนี้กรมศิลปากรใช้บังเกอร์นี้ ตั้งแต่หลังปี 2554 เพื่อป้องกันน้ำท่วมโบราณสถาน ซึ่งได้ผลดี

แผ่นบังเกอร์มีความสูง 1.90 เมตร กว้าง 1.20 เมตร ซ่อนอยู่ในแนวฐานเขื่อนถาวรทำจากอิฐและปูนสูงกว่า 50 เซนติเมตร ยาวตลอดแนวลำน้ำเจ้าพระยา 165 เมตร

รู้จักนวัตกรรม Boxwall Flood Barrier

ส่วนที่กรุงเทพฯ มีนวัตกรรมรับมือน้ำท่วมเหมือนกัน เริ่มใช้ในบางพื้นที่ เรียกว่า Boxwall Flood Barrier หรือ ผนังกั้นน้ำสำเร็จรูป หลัง กทม. ทดลองใช้ บริเวณท่าราชวรดิฐ เขตพระนคร พบว่ายังมีข้อจำกัดในการติดตั้ง

นายศุภมิตร ลายทอง รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. บอกว่า กทม.ได้ผนังกั้นน้ำสำเร็จรูปจากเอกชน 50 ชิ้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ละชิ้นมีความสูง 55 เซนติเมตร ราคาชิ้นละประมาณ 1,000 บาท มีอายุการใช้งาน 10 ปี

ข้อดี คือการติดตั้งและรื้อถอนได้ง่ายและรวดเร็ว แต่มีข้อจำกัด คือ พื้นที่ติดตั้งต้องเรียบ และทำมุมฉาก แล้วใช้โฟมฉีดอุดรูรั่ว จึงไม่เหมาะกับพื้นที่ขรุขระ เช่น พื้นหิน หรือ ดิน

ซึ่งพื้นลักษณะนี้ กระสอบทราย จะวางได้เข้ารูปกว่า หลบสิ่งขีดขวางได้ดีกว่า และข้อดีของกระสอบทราย คือมีราคาใบละประมาณ 10 บาท แต่ใช้งานได้เพียง 1 ปี

ขณะที่ตอนนี้ กทม. ใช้กระสอบทรายเสริมแนวคันกันน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา 32 จุด ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร ไปแล้วประมาณ 250,000 ใบ ซึ่งปีหนึ่งใช้ประมาณ 1,500,000 ใบ ในการป้องกันน้ำท่วมทั่วกรุงเทพมหานคร

อ่านข่าว :

พังตั้งแต่ 26 ก.ย "ฝายบ้านดอยน้อย" พบขยะ-ประตูสลิงขาด

รพ.สุโขทัย เร่งป้องกันน้ำท่วม หลังคลองแม่ลำพันน้ำล้นตลิ่ง

เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำ 7 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง 13-24 ต.ค.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง