เพราะจุดใหญ่ ๆ คือ เรื่องข้อกฎหมายที่อาจไม่เข้มงวดพอ ขณะที่การบังคับใช้ก็เป็นปัญหาเช่นกัน
จริง ๆ แล้ว เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นวาระใหญ่ระดับโลก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติด้วย โดยเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2563 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติรับรองแผนปฏิบัติการ ซึ่งตั้งเป้าลดตัวเลขการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2573
รายงานสถานะความปลอดภัยทางถนนโลกฉบับล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจัดทำโดยองค์การอนามัยโลก ประเมินว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในปี 2564 อยู่ที่ 1,190,000 คน ลดลงจากปี 2553 เล็กน้อย หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ขณะที่ชาติสมาชิกยูเอ็นเกินครึ่งหนึ่งมีผู้เสียชีวิตลดลงในช่วงเวลานี้
แม้ตัวเลขจะดูไม่มาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จำนวนยานยนต์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า รวมทั้งมีการขยายโครงข่ายถนนอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ พร้อม ๆ กับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 1,000 ล้านคนทั่วโลก ดังนั้น ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ลดลงจึงสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนที่ได้ผลอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการไปให้ถึงเป้าหมายปี 2573
ปัจจุบัน อุบัติเหตุทางถนนยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 18-59 ปี ซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตคิดเป็น 2 ใน 3 ของทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลจากปี 2562 ชี้ว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ที่มีอายุ 5-29 ปี อันดับ 1 คือ อุบัติเหตุทางถนน ซึ่งความสูญเสียที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายมิติ ทั้งเรื่องของสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ
ถ้าดูข้อมูลแยกเป็นรายภูมิภาค แบ่งตามการจัดขอบเขตรับผิดชอบขององค์การอนามัยโลก จะเห็นว่า ภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก ซึ่งมีไทย เมียนมาและอินโดนีเซีย รวมอยู่ด้วย มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 33,000 คน คิดเป็นมากกว่า 1 ใน 4 ของยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลก
ขณะที่ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งจะมีหลายชาติอาเซียนรวมอยู่ในนี้ เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย มีตัวเลขผู้เสียชีวิตใกล้แตะ 300,000 คน ตามมาด้วยภูมิภาคแอฟริกา อเมริกา เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และยุโรป ซึ่งมีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด แค่ 60,000 คนกว่า ๆ เท่านั้น โดยยุโรปถือเป็นภูมิภาคที่มีผู้เสียชีวิตลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 36 นับจากปี 2553 อีกด้วย
อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่หาย ทั้ง ๆ ที่แต่ละประเทศรู้อยู่แล้วถึงปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทั้งเรื่องความเร็ว เมาแล้วขับ การไม่ใส่หมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไปจนถึงการไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องที่นั่งหรือเบาะนั่งนิรภัยของเด็กในรถยนต์อย่างเพียงพอ แต่ความพยายามในการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตและบาดเจ็บก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดย 9 ใน 10 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน อยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางลงไปจนถึงมีรายได้น้อย
ขณะที่ประเภทของยานพาหนะที่มักจะเกิดอุบัติเหตุจนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ รถสองล้อ และรถสามล้อ ซึ่งคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด ตามมาด้วยรถสี่ล้อ อยู่ที่ร้อยละ 25 คนเดินถนน ร้อยละ 21 รถ 10 ที่นั่งขึ้นไปและรถขนของ ร้อยละ 19 ส่วนรถจักรยานคิดเป็นร้อยละ 5
มาดูในเอเชียกันบ้าง อ้างอิงจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก จะเห็นว่า 5 ประเทศนี้มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลก โดยเนปาลสถานการณ์รุนแรงที่สุด มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 28 คนต่อจำนวนประชากร 100,000 คน ไทยตามมาติด ๆ อยู่ที่มากกว่า 25 คน เมียนมาเกือบ 20 คน ตามมาด้วยบังกลาเทศและอินเดีย
รายงานขององค์การอนามัยโลก ชี้ว่า ในช่วงระหว่างปี 2553-2564 หลายประเทศมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง เช่น อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย เมียนมา และ ไทย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะละเลยความปลอดภัยบนท้องถนนได้ เพราะทุกวันนี้เราก็ยังเห็นอุบัติเหตุใหญ่เกิดขึ้นแทบไม่เว้นวัน
วิเคราะห์ : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์
อ่านข่าวอื่น :