การเข้ามาของ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ถือเป็นโจทย์ท้าทายมนุษยชาติ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความหวาดวิตกต่อนานาประเทศ ไม่ต่างกับไทยหวั่นว่า ในอนาคต "เอไอ" จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ และสุดท้ายมนุษย์ก็จะตกงาน แต่หากเรารู้จักใช้ประโยชน์จาก "เอไอ" เตรียมพร้อม ตั้งรับ และเตรียมรับมือ บางทีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว
ตรงข้ามกลับเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการศึกษา "รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" จับเข่าคุย "ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย" ราชบัณฑิต อดีต ผอ.สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ซึ่งวางแผนรับมือด้วยการปฏิรูปการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ทำหลักสูตรเฉพาะทาง จัดตั้ง "สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (School of Integrated Innovation, Chulalongkorn University)" ผลิตนักศึกษาที่พร้อมจะออกไปเป็น CEO หรือทำธุรกิจ
โดยระหว่างที่เรียนจะต้องทำโปรเจ็กต์โครงการความรอบรู้เท่าทันกับความเปลี่ยน แปลงของเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมทั้ง "เอไอ" ถือเป็นการทดลองครั้งสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"โลกมันเปลี่ยนเร็ว สิ่งที่เรียนมาเมื่อสมัยก่อน หรือสมัยที่ผมเรียนวิศวะ จบมาแล้ว ได้ใช้แค่ร้อยละ 20 และส่วนใหญ่เป็นทฤษฎีที่ดูดีมาก อยู่ในห้องเรียน แต่ใช้งานไม่ได้ เลยคิดว่า จริง ๆ การเรียนหนังสือ ต้องไม่ใช่เรียนจากทฤษฎีในห้องเรียน และโลกแห่งความเป็นจริง" ศ.ดร.วรศักดิ์ เปิดประเด็น
หากมองย้อนกลับไประบบการศึกษาของประเทศไทย หลักสูตรการเรียนการสอนเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 และเป็นระบบที่โยงมาตั้งแต่อดีต เพราะส่วนใหญ่นักการศึกษาก็จะมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม จึงทำให้ระบบการศึกษาของไทยก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลง ประกอบกับที่เคยเป็นอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเชีย Asian Institute of Technology (AIT) ความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของโลก สอดรับกับได้รับการชักชวนจาก "ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์" อธิการบดีจุฬาฯ ขณะนั้น ต้องการที่จะเป็นต้นแบบปฏิรูประบบการศึกษา
ศ.ดร.วรศักดิ์ เล่าว่า กว่าจะมาเป็นสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (School of Integrated Innovation, Chulalongkorn University) ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีสถานะเทียบเท่า "คณะ" แต่ไม่สามารถใช้คำว่าคณะได้ จึงต้องใช้คำว่า "สถาบัน" เพื่อออกใบปริญญา
ภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ สถาบันจะต้องออกแบบหลักสูตรที่ชัดเจนเพื่ออนาคต ไม่ซ้ำ และต้องไม่เหมือนใคร มีความเป็นนานาชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่โปรแกรมสอนภาษาอังกฤษ แต่อย่างน้อยร้อยละ 70 จะต้องเป็นอาจารย์ที่มาจากต่างประเทศ รวมทั้งจะต้องมีนักเรียนจากต่างประเทศร้อยละ 30 ข้อสุดท้าย ต้องเลี้ยงตัวเองได้ โดยที่ไม่ใช้เงินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"5 ปี ที่ผ่านมา ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เมื่อสถาบันสามารถเลี้ยงตัวเองได้ อีกทั้งยังคืนเงินจำนวน 26 ล้านบาท ที่จุฬาลงกรณ์ฯ ให้ยืมมาได้ แม้ทางจุฬาฯ จะบอกว่าไม่เอาคืนก็ตาม อีกทั้งเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ ก็สามารถทำได้ทั้งหมด"
กลุ่มเด็กที่เข้ามาเรียนสถาบันแห่งนี้ เป้าหมายของเขาต้องการเป็น CEO ดังนั้นต้องสอนให้เขาคิดแบบผู้นำว่า ต้องมองเทคโนโลยีจะไปทางไหน ต้องมองอนาคต ต้องมีทักษะในการที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ดังนั้นหลักสูตรการเรียนการสอนจะเน้นเรื่องของนวัตกรรม สตาร์ตอัป การสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ เราไม่ได้สอนวิธีแบบป้อนให้เหมือนเก่า ทุกคนต้องทำโปรเจ็กต์ในคลาส ต้องไปค้นหามาอภิปรายโต้แย้งหาข้อสรุปกับอาจารย์ เพราะฉะนั้นเด็กพวกนี้เขาจะโตเร็ว
หลักสูตรนอกตำรา มองไกลอนาคต
ถามว่า เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากไหน และอะไรทำให้เขาเลือกเรียนหลักสูตรดังกล่าว ที่ถือว่าใหม่ในประเทศไทย "ศ.ดร.วรศักดิ์" บอกว่า เด็กที่เข้ามาเรียนส่วนใหญ่จะต่างจากเด็กทั่วไปอยู่แล้ว เพราะการเรียนไม่ได้มีประเพณี ประวัติศาสตร์ อีกทั้งค่าเรียนก็มีราคาสูง แต่มีการมองเห็นอนาคตและเป้าหมายอย่างชัดเจน ที่จะเขาจะเดินไป หลักสูตรนี้จึงตอบโจทย์ แต่กว่าจะพัฒนาทำให้เกิดความน่าเชื่อถือก็ถือว่าใช้เวลาพอสมควร
เนื่องด้วยหลักสูตรนี้ประเทศไทยยังไม่ได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากนัก และยังต้องสรรหาอาจารย์จากต่างประเทศที่เก่งเฉพาะทางเข้าสอน ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถมาก
ปัจจุบันมีนักศึกษาจบไปแล้ว 1 รุ่น หลายคนได้งานทำ หรือจัดตั้งบริษัทตามที่ตัวเองต้องการจนประสบความสำเร็จ ขณะที่นักศึกษาบางส่วนที่กำลังเรียนอยู่ก็มีหลายบริษัทเอกชนและอุตสาหกรรมรายใหญ่ ๆ ก็พร้อมเปิดรับให้เข้ามาเรียนรู้ ฝึกงาน มีการทาบทามนักศึกษาบางส่วนเข้าไปทำงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบการ ศึกษาที่ไม่ได้มีแค่ในห้องเรียน แต่โลกเปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้จริง
เด็กพวกนี้ลึก ๆ แล้วในอนาคตเขามีเป้าหมายจะเป็นผู้นำ (CEO) แม้เขาไม่ทำเอง ก็ต้องเรียนรู้ว่า จะสั่งคนอื่นทำอย่างไร ต้องมีความรอบรู้ และมีความสามารถในการที่จะรู้จักถามคำถามที่ถูกต้อง และสร้างคอนเนกชัน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
สำหรับแบบทดสอบของหลักสูตรจะเป็นรูปแบบการทำโปรเจ็กต์เสนอ ที่เกิดขึ้นได้จริง ผ่านการเรียนรู้ สืบค้น ทดลองทำ ใน 4 ด้านหลัก คือ สุขภาพและความงาม สมาร์ตซิตี เมืองอัจฉริยะ ความยั่งยืนของโลกดิจิทัล และ AI โดยไม่ได้มีกฎระเบียบหรือกฎเกณฑ์ใด เน้นความพอใจของนักศึกษาเป็นหลัก โดยจะมีผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ จากบริษัทอุตสาหกรรมทั้งไทยและจากต่างประเทศ ร่วมเป็นพี่เลี้ยงในแต่ละโครงการ
"รุ่นแรกเพิ่งจบไป 100 คน เพราะเรารับปีละไม่เกิน 100 คน เป็นตัวเลขที่เราตั้งขึ้นมา เพราะเป็นขนาดที่เราสามารถทำงานกับนักศึกษาได้อย่างใกล้ชิด ถ้ามากกว่านั้น เราจะไม่รู้จักนักศึกษาเลย อาจารย์ประมาณ 20 คน กำลังพอดี"
ศ.ดร.วรศักดิ์ มองว่า หลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมีหลักสูตรการเรียนดังกล่าวนานแล้ว อย่างไรก็ตาม การสอนนักศึกษาที่เพิ่งผ่านพ้นวัยมัธยมศึกษา ต้องใช้เวลาปรับ เพราะ เด็ก ก็คือ เด็ก แต่เมื่อมีการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ได้เข้าไปทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเอง กลายเป็นผู้ที่กระตือรือร้นสูงมาก เรียกได้ว่า "มนุษย์เปลี่ยนได้ ถ้าจัดหลักสูตรให้เหมาะสม"
"ส่วนหนึ่ง คือ เราต้องทำงานกับภาคอุตสาหกรรมมากให้ขึ้น ที่เหลือเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ช่วง 2 ปีหลัง พอ (เอไอ) เข้ามา ผมประกาศว่าเด็กของเราทุกคนจะต้องมีความรอบรู้ด้าน (เอไอ) จุฬาลงกรณ์ฯ ก็เริ่มก่อนที่อื่นเลยว่า จะประกาศเป็นมหาลัยเอไอ"
การเรียน-สอนในไทย ต้องเท่าทัน AI
หลักคิดข้างต้นของระบบการศึกษา หากมองตามยุคตามสมัย "ภาษาอังกฤษ" มีความสำคัญ และยังเป็นจุดอ่อนของระบบการศึกษา จึงต้องพูดคุยเพื่อยกเครื่องครั้งใหญ่ในการจะเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทันสมัยให้เท่าทันกับประเทศอื่น
"จริง ๆ ในเรื่องของความรู้ หากเปรียบเทียบกับเด็กอินเตอร์โรงเรียนนานาชาติ กับเด็กที่จบโรงเรียนไทย ไม่ได้ต่างกันมาก แต่โรงเรียนไทยจะตกในเรื่องของภาษา พอไปแข่งขันในต่างประเทศ เราจะแพ้ตรงนี้"
เมื่อเทคโนโลยีทั่วโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการนำ AI มาใช้งาน จากการติดตามสถานการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หากยังปิดรับก็จะยิ่งน่ากลัวต่อประเทศ หรือหากมองว่าไกลตัว ทั้งที่ในความเป็นจริง ทุกคนจะต้องรอบรู้เอไอให้มากที่สุด
ต้องรู้ว่ามีความเสี่ยงอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร จะต้องใช้อย่างไร ความจริงควรเริ่มเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา แฝงเข้าไปในรายวิชาให้เป็นเหมือนกรอบความคิดของการเปิดรับ และพร้อมเปลี่ยนแปลง
เคยมีคนทำนายว่าอีกประมาณ 50-100 ปี (เอไอ) จะครองโลก "ศ.ดร.วรศักดิ์" คาดว่า 4-5 ปีต่อจากนี้ โลกจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงจาก (เอไอ) ที่เรียกว่า "AGI" (Artificial General Intelligence) จะมีปัญญาเทียบเท่า หรือเหนือกว่า มนุษย์ เพราะหากมีการพัฒนาถึงจุดหนึ่ง ก็จะสามารถเขียนโค้ดเพื่อพัฒนาตัวเองได้ โดยที่คนไม่รู้ หากเราไม่สามารถควบคุมได้ก็จะน่ากลัว
รับมือ (AI) ปรับตัวสู่โลกอนาคต
"ฉากทัศน์ทางด้านเปลี่ยนผ่านยุค AGI ของประเทศไทย" คือ บทความที่ ศ.ดร.วรศักดิ์ อธิบายให้เห็น การเปลี่ยนแปลงของ (AI) โดยมองว่า ทุกภาคส่วน ต้องเริ่มตระหนักวางแผนเตรียมรับมือ เริ่มจากด้านเศรษฐกิจที่ปัจจุบันสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาตีตลาดในไทย ส่งผลให้หลายบริษัทเริ่มเอาคนออก
และทางเลือกของบริษัทต่าง ๆ ก็มีเพียงแค่ 2 ทาง คือ "ปิด - เลย์อ๊อฟคน" และ "เอาเครื่องจักรเอไอเข้ามาทำงาน" แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็จะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้นเท่ากับ ในอนาคตมนุษย์ไม่ใช่แค่ตกงาน แต่ต้องใช้คำว่า "ไม่ต้องทำงาน" จึงมีคำถามว่า แล้วจะเอาเงินที่ไหนกินใช้ สุดท้ายก็ต้องมองย้อนกลับว่า ไใครได้ผลพวงจากเอไอ" คนนั้นก็ต้องจ่าย หรือที่เรียกว่า "UBI" หรือเบี้ยประทังชีพถ้วนหน้า จ่ายให้ทุกคนในระดับที่เขาอยู่ได้ แต่ประเทศที่จ่ายได้ จะต้องมีรายได้จาก AI ประเทศที่ไม่มีรายได้จากเอไอ จะหาเงินมาจากไหน
จึงมีแนวความคิดว่า ประเทศที่ร่ำรวยทางเอไอ มีความก้าวหน้ากว่า เพื่อผลิตสินค้าจำนวนมากมาขาย อาจจะนำเงินให้ประเทศที่ไม่มีเงิน แต่มันก็จะมีผลตามมา เพราะประเทศที่จะร่ำรวยจากเอไอ มีไม่กี่ประเทศ เช่น จีน อเมริกา ยุโรปบางประเทศ ผลกระทบอาจจะทำให้ความเป็นอธิปไตยด้านเศรษฐกิจค่อย ๆ หายไป
และหากรัฐไม่สามารถดูแลประชาชนตัวเอง รับเงินจากประเทศอื่นมาเพื่อดูแล เราไม่ได้พูดถึงเป็นครั้งคราว อันนี้เราพูดถึงตลอดไป ฉะนั้นความเป็นอธิปไตย จะค่อย ๆ เลือนรางไป และนำไปสู่สถานการณ์ "Utopia" โลกในอุดมคติที่ไม่มีพรมแดน มีลักษณะ "การปกครองประเทศอื่นโดยที่ดูแลความเป็นอยู่ให้" แต่ในอีกแง่หนึ่งทุกคนก็จะมีสถานะเท่ากัน ไม่มีการเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง
ประเด็น คือ ทุกวันนี้ คนต้องการเลื่อนขยับฐานะทางสังคม ก็จะไม่ถูกกับความเป็นมนุษย์ ความหมายในชีวิตจะเปลี่ยนไปหมด อันนี้เป็นกระทบผลระยะยาว มองอีกมุมก็เหมือนกับคอมมิวนิสต์
ศ.ดร.วรศักดิ์ เห็นว่า เป็นเรื่องน่าสนใจมากที่จะต้องสนทนาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะทำให้รัฐบาล เอกชน ประชาชน จะได้ปรับตัวถูก ถ้ามาเราจะได้พร้อม ไม่มาเราก็ไม่เสียหาย
หากมองประโยชน์ หลายคนเชื่อว่า โลกอนาคตจะมีความเหลือเฟือ อุดมสมบูรณ์ เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเอไอ จะเข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบพลังงาน สิ่งแวดล้อม อาหาร ในทางกลับกันจะอยู่ในกำมือของคนกลุ่มน้อยเท่านั้น แต่หากทำให้เกิดการกระจายตัว ความเท่าเทียมความเสมอภาคจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นไทยจะต้องพร้อมทุกทิศทางเพื่อรับมือ ปรับตัว อย่างสร้างสรรค์
"ประเทศเราไม่ได้เล็ก ถ้าดูพื้นที่กับประชากร ดังนั้นก้าวแรกที่จะตามทันเรื่องนี้ คือ เรื่องการเมืองภายใน ต้องนิ่ง ตราบใดที่รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ก็จะไม่มีเวลามาคิดเรื่องยุทธศาสตร์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่พื้นฐานของคน คือ การยกเครื่องปฎิรูปการศึกษาครั้งใหญ่"
พบกับรายการ : คุยนอกกรอบ ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส