วันนี้ (11 ต.ค.2567) สภาพพื้นที่บริเวณป่าสัก ซ.1 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ น้ำจะเอ่อล้นคูระบายน้ำ และท่วมถนนสายนี้ "วิสุทธิ์ ศิริกิจวัฒนา" เจ้าของบ้านชั้นเดียว ใน ซ.ป่าสัก 1 เล่าว่าน้ำจะไหลเข้าท่วมบ้านทุกครั้งที่เกิดฝนตก จนต้องตัดสินใจย้ายออก ภายในบ้านยังมีดินโคลนที่ไหลมากับน้ำ เขาจะแวะเวียนเข้ามาดูแลบ้านทุกครั้งที่ฝนตก เพื่อทำความสะอาด ผูกข้าวของไว้ ไม่ให้ไหลไปกับน้ำ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่อาศัย
ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านป่าสัก ซ.1 ตัดสินใจรวมตัวร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ให้เข้าแก้ปัญหา โดยส่วนหนึ่งเชื่อว่า ปัญหาน้ำท่วมอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างเทศบาลตำบลเชิงทะเล กับ อบต.เชิงทะเล โดยมีถนนกั้น แต่การทำงานไม่สอดคล้องกัน
ด้าน บุญเลิศ สืบประสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน ที่รับผิดชอบพื้นที่ให้ข้อมูลว่า บริเวณป่าสัก ซ.1 เดิมเคยมีพื้นที่รับน้ำธรรมชาติเกือบ 100 ไร่ แต่ช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 มีการพัฒนาพื้นที่และเปลี่ยนมือ กลายเป็นที่ดินเอกชนทั้งหมด ประกอบกับลำราง ถูกปรับ พัฒนาเป็นถนนฝั่งท่อระบายน้ำ จึงเกิดปัญหาขึ้น
ลักษิกา กลานซ์ 1 ในเจ้าของโครงการบ้านในป่าสัก ซ.1 บอกเล่าว่าลูกบ้านและตนเองก็ตกเป็นผู้ประสบภัย ได้รับความเสียหายไม่ต่างกัน การเข้ามาพัฒนาที่ดินเป็นไปตามข้อกฎหมาย ไม่มีการก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ และยังอุทิศที่ดินบางส่วนเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์เป็นทางระบายน้ำ
ขณะที่ มาโนช พันธ์ฉลาด นายก อบต.เชิงทะเล ชี้แจงว่าปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เพราะสภาพพื้นที่เดิมเป็นที่ลุ่มรับน้ำจากทุกทิศทาง ทั้งจาก ต.เทพกระษัตรี ต.ศรีสุทนทร และ ต.เชิงทะเล ก่อนระบายลงทะเล ผ่านคลองเสน่ห์โพธิ์ เมื่อมีการพัฒนาที่ดิน จึงไม่มีที่รับน้ำ ตอนนี้ทำได้เพียงติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ บรรเทาปัญหาตามสถานการณ์เท่านั้น
ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ทาง อบต.เตรียมแผนปรับปรุงวางท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ตลอดระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร เพื่อเร่งระบายน้ำ ซึ่งจะเริ่มขออนุมัติงบประมาณ 25 ล้านบาท จาก สภา อบต.ในเดือน พ.ย.นี้ ระหว่างนี้ ดำเนินการขออุทิศที่ดิน หรือความยินยอมจากเจ้าของที่ดิน รวม 4-5 รายก่อน
ขณะที่ข้อมูลจากคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต สำรวจการ ขยายตัวของเมือง หรือสิ่งปลูกสร้างใน จ.ภูเก็ต พบว่า ปี 2565 จาก 10,916 ไร่ ในระยะเวลา 2 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 13,306 ไร่ หรือกว่า 3,000 ไร่ โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด มีการขยายตัวของเมืองตามสภาพเศรษฐกิจที่เติบโต โดยเฉพาะพื้นที่ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง
เสนอดึงเอกชนร่วมตั้งระบบเตือนภัยพิบัติ จ.ภูเก็ต
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรอบด้าน ทั้งน้ำท่วม น้ำหลาก และดินถล่มที่ จ.ภูเก็ต ที่มีแนวโน้มถี่ขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่หลายฝ่ายเห็นตรงกัน ว่าจะช่วยยับยั้งและลดความสูญเสียได้ คือ ระบบแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งภาควิชาการ พยายามจะดึงภาคเอกชน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดขึ้นจริง
แผนที่จุดเสี่ยงเกิดดินถล่มใน จ.ภูเก็ต จัดทำโดยคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มีตั้งแต่ระดับสีเขียวไปจนถึงสีแดง แสดงถึงความเสี่ยงน้อยไปมาก ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด
จตุรงค์ คงแก้ว นักวิชาการคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ถอดบทเรียนหลังเกิดเหตุดินถล่มหลายจุด อย่างเมื่อปลายเดือน ส.ค. ที่ ต.กะรน เมืองภูเก็ต ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 13 คน และบาดเจ็บอีกส่วนหนึ่ง ชาวบ้านต้องการให้มีระบบเตือนภัยในพื้นที่เพื่อลดความสูญเสีย เพราะที่ผ่านมา ต้องใช้การสังเกตเท่านั้น เนื่องจากระบบเตือนภัยพิบัติในพื้นที่มีปัญหา และ ไม่สามารถใช้งานระยะยาวได้
นักวิชาการคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เล่าว่า ข้อมูลสำคัญ ที่เป็นตัวแปรในการวิเคราะห์ความเสี่ยงและแจ้งเตือนภัยได้ คือ ข้อมูลปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ ทั่วเกาะภูเก็ต มีเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน เพียงแค่ 2 จุด จึงไม่สามารถแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ได้ จึงเสนอให้ดึงภาคเอกชน และประชาชนที่อยู่ในจุดเสี่ยง ร่วมสนับสนุนติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน เพื่อส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ นำมาวิเคราะห์ร่วมกับความชื้นในดินของแต่ละพื้นที่ ซึ่งทางคณะฯ เก็บข้อมูลไว้แล้ว และแสดงผลผ่านแอปพลิเคชัน
อ่านข่าวอื่น :
"ทนายษิทรา" หอบหลักฐานแจ้งเอาผิด 6 ผู้บริหารบริษัทดัง
กฎกระทรวงเปลี่ยนเวลาแข่งวัวลาน เป็น 6 โมงเย็น มีผลบังคับวันนี้