ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ใครเห็นบ้าง "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" พาดยาวค้างท้องฟ้า

Logo Thai PBS
ใครเห็นบ้าง "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" พาดยาวค้างท้องฟ้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ใครเห็นบ้าง? A3 "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" โคจรใกล้โลกยังมีโอกาสมองเห็นได้จนถึงสิ้นเดือนต.ค.นี้ แนะเห็นเส้นจาง ๆ พาดยาวค้างอยู่บนท้องฟ้าช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก

โลกออนไลน์พากันแชร์ภาพและคลิป ดาวหาง "จื่อจินซาน-แอตลัส " ใกล้โลก 13 ต.ค.พลาดรอ 80,660 ปี โคจรใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี โดยพบว่าหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย สามารถมองเห็นได้ชัดเจน

เพจเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ช่วงนี้ถ้าใครเห็นเส้นจาง ๆ พาดยาวค้างอยู่บนท้องฟ้าช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก นั่นคือ "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส"

ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ค้นพบครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ.2566 โดยนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวจื่อจินซาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS ประเทศแอฟริกาใต้ นักดาราศาสตร์ทั่วโลกได้เฝ้าติดตามสังเกตการณ์ และพบว่าความสว่างปรากฏมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนต่อมาได้กลายเป็นดาวหางอันโดดเด่นแห่งปี พ.ศ.2567

ขณะนี้ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส กำลังโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ แต่จะยังคงสังเกตการณ์ได้จนถึงช่วงประมาณปลายเดือนต.ค.นี่ เนื่องจากดาวหางจะปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานขึ้น ทำให้มีเวลาสังเกตการณ์มากขึ้น

ยังมีเวลาชมถึงสิ้นต.ค.นี้ พลาดรอ 8 หมื่นปี 

ผู้สนใจชมดาวหาง ดาวหางจะปรากฏให้เห็นในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก ทางขวาของดาวศุกร์ (ดาวที่ปรากฏสว่างที่สุดในช่วงนี้ทางทิศตะวันตก) ชมได้ทั่วประเทศ หากท้องฟ้าใสไร้เมฆ และอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงรบกวนน้อย

สำหรับภาพนี้ ถ่ายเมื่อช่วงหัวค่ำ 14 ต.ค.ที่ผ่านมาโดยทีม NARIT ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา

เข่นเดียวกับเพจสมาคมดาราศาสตร์ไทย ระบุว่า ดาวหาง A3 โฉบข้ามดวงอาทิตย์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 

ฟ้าไทยเห็นได้ตลอดทั้งสัปดาห์  45 นาทีหลังอาทิตย์ตก ทางฟ้าตะวันตก

ขณะที่โลกออนไลน์ ต่างรายงานภาพถ่ายดาวหางที่พบ เช่น ถ่ายจากหน้าต่างเครื่องบิน รวมทั้งอีกหลายจังหวัดที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เช่น ต.วังชะพลู อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร นครราชสีมา เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด 

มองท้องฟ้าทางทิศตะวันตก-ช่วงหัวค่ำ

ข้อมูลจาก วรเชษฐ์ บุญปลอด จากสมาคมดาราศาสตร์ ระบุว่า ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ A3  ซึ่งโคจรใกล้โลก จากแผนที่แสดงตำแหน่งดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัสเทียบกับดาวฤกษ์ระหว่างวันที่ 12–31 ต.ค.นี้ เวลาประมาณ 45 นาที หลังดวงอาทิตย์ตก สามารถใช้ดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวต่าง ๆ และดาวศุกร์ที่อยู่ทางซ้ายมือช่วยในการระบุตำแหน่งของดาวหาง

อุปสรรคที่น่ากังวล คือขณะนี้เป็นปลายฤดูฝน อาจมีเมฆมากและฝนตกหลายวัน จึงควรตรวจสอบพยากรณ์อากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม และแผนที่อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกอบด้วย

  • เวลาเริ่มและสิ้นสุดแสงสนธยาสำหรับ กทม. และจังหวัดต่าง ๆ ตรวจสอบได้ที่เวลาเกิดแสงสนธยาและเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก
  • โชติมาตรเมื่อรวมการกระเจิงของแสงเป็นผลจากการคำนวณทางทฤษฎี ความสว่างจริงอาจแตกต่างจากความคาดหมาย 

13 ต.ค.นี้ใกล้โลก-พลาดรอชมอีก 80,660 ปี


ทั้งนี้ดาวหางจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดเมื่อ วันที่ 13 ต.ค.นี้ ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร ช่วงดังกล่าวดาวหางจะมีความสว่างปรากฏบนท้องฟ้ามากที่สุด คาดว่าจะสว่างกว่าดาวศุกร์และอาจชมได้ด้วยตาเปล่า ก่อนที่ดาวหางจะโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ และจะโคจรกลับมาอีกครั้งในอีก 80,660 ปีข้างหน้า

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง