นับถอยหลังเดือนตุลาคม และก่อนสิ้นปี 2567 ในอีก 2 เดือน ปีนี้เหนือท้องฟ้าประเทศไทย มี ปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นให้คนที่ชื่นชอบเรื่องดาราศาสตร์ได้ติดตามมากมาย หลายปรากฎการณ์ถือเป็นครั้งแรกของหลายคนที่ได้เห็น และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" ดาวหางที่หากใครพลาดชม อาจไม่ต้องรอ เพราะอีก 80,660 ปี ข้างหน้าจึงจะมีโอกาสได้พบเห็นกันอีกครั้ง
10 เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส
1.ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส มีชื่อในบัญชีดาวหาง คือ C/2023 A3 หรือ (Tsuchinshan-ATLAS)
2. ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ถูกค้นพบครั้งแรกโดยระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS ย่อมาจาก Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System ในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อ 22 ก.พ. แต่ต่อมากลับพบว่า นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวจื่อจินซาน ในประเทศจีน ได้ค้นพบดาวหางดวงนี้ก่อนหน้าแล้ว ตั้งแต่ 9 ม.ค.
เหตุผลนี้ ชื่อของหอดูดาว จื่อจินซาน และ แอตลัส จึงกลายเป็นชื่อของ ดาวหาง
3. ช่วงแรกจะปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด (ปลายเดือน ก.ย. ถึง วันที่ 6-7 ต.ค.) หลังจากนั้นดาวหางจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ กลับมาให้เห็นอีกครั้งบนท้องฟ้า เวลาหัวค่ำตั้งแต่ (ตั้งแต่วันที่ 11-12 ต.ค. เป็นต้นไป)
4. นักดาราศาสตร์ คาดการณ์ในช่วงแรกว่า ดาวหางจะมีค่าความสว่างปรากฏถึงประมาณ -4 (ตัวเลขน้อยสว่างมาก ตัวเลขมากสว่างน้อย) ซึ่งจะทำให้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในสภาพท้องฟ้ามืดสนิท ขณะที่ นักวิจัยด้านดาวหาง Joseph Marcus ชี้ว่า ดาวหางดวงนี้ อาจมีค่าความสว่างปรากฏได้สูงมากถึง แมกนิจูด -6.9 ในวันที่ 9 ต.ค. ซึ่งมีความสว่างมากกว่าดาวศุกร์ในช่วงที่สว่างที่สุดในรอบปี
5. วันที่ 28 ก.ย.2024 เป็นช่วงที่ดาวหาง จื่อจินซาน-แอตลัส โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ระยะห่างประมาณ 58.6 ล้านกิโลเมตร (ประมาณระยะห่างจาก ดวงอาทิตย์ ถึง ดาวพุธ)
ขณะดาวหางกำลังโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จะได้รับรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์จนทำให้ปลดปล่อยฝุ่น และแก๊ส ออกมามาก เกิดเป็นหางที่พุ่งยาวไปในอวกาศได้ไกลหลายล้านกิโลเมตร
6. ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2567 เป็นต้นมา ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ได้โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จนปรากฏให้เห็นในภาพถ่ายจากยานโซโห ยานสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) และ NASA
ภาพจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
บริเวณ "ส่วนหัว" ของดาวหางคือ ชั้นโคมา ชั้นฝุ่นแก๊สที่ฟุ้งออกมาจากนิวเคลียส (ก้อนน้ำแข็งสกปรกตรงใจกลางดาวหาง) ที่เห็นในภาพนี้นั้นมันกำลังแผ่ออกมากว้างราว 209,000 กิโลเมตร (ใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดี ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยที่เกือบ 140,000 กิโลเมตร)
นอกจากนี้ หางของดาวหางดวงนี้ยังเหยียดยาวถึง 29 ล้านกิโลเมตร ทำให้ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายจากยานโซโหหลายวัน
7. เว็บไซต์ COBS ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลการสังเกตการณ์จากนักดาราศาสตร์สมัครเล่นทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า จากช่วงกลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ดาวหางมีค่าความสว่างที่เพิ่มขึ้นสูงเกือบ 10 เท่า โดยข้อมูลจากการสังเกตการณ์จริงเมื่อวันที่ (21 ก.ย.) พบว่าดาวหางมีค่าความสว่างปรากฏที่แมกนิจูด 3.6 ซึ่งเป็นค่าความสว่างที่มนุษย์มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
8. ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 13 ต.ค. ที่ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางจะมีความสว่างปรากฏบนท้องฟ้ามากที่สุด และเป็น วันที่เหมาะสมแก่การสังเกตการณ์ที่สุด ก่อนที่จะโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ
9. นักดาราศาสตร์คำนวณพบว่าดาวหางดวงนี้โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบใช้เวลา 80,660 ปี
10. วันเสาร์ที่ 19 ต.ค. ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส กำลังโคจรออกห่างจากโลกไป พร้อมความสว่างปรากฏที่ค่อย ๆ ลดลง แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะได้เห็น เพราะยังคงสังเกตการณ์ได้จนถึงช่วงประมาณปลายเดือน ต.ค.
"ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" ต้องดูทิศไหน
สิ่งที่สำคัญของการตามหา "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" เพื่อบันทึกภาพ เก็บไว้ในความทรงจำ นอกจากฟ้าจะต้องใส รวมถึงอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงรบกวนน้อย แล้ว เราจำเป็นต้องหาตำแหน่ง ดาวหางดวงนี้ให้เจอก่อน
แม้ตอนนี้ดาวหางดวงนี้จะได้ผ่านช่วงเวลาที่ดีสุดไปแล้วในการรับชม นั้นคือวันที่ 13 ต.ค. แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะได้เห็น ใครสนใจชมดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก "ช่วงหัวค่ำ" ทางขวาของดาวศุกร์ หรือ ดาวที่ปรากฏสว่างที่สุดทางทิศตะวันตก ชมได้ทั่วประเทศ หากท้องฟ้าใสไร้เมฆ และอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงรบกวนน้อย
แต่อุปสรรคที่พบ คือขณะนี้เป็นปลายฤดูฝน ในหลายพื้นที่อาจมีเมฆมากและฝนตกหลายวัน หากตั้งใจจะสังเกตจริง ๆ จึงควรมีการตรวจสอบพยากรณ์อากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม และแผนที่อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกอบด้วย จะได้ไม่เสียเวลาเปล่า ๆ
มีข้อมูลจาก สมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้เผยแพร่ภาพของท้องฟ้าที่สามารถดูตำแหน่งดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส เทียบกับดาวฤกษ์ ระหว่างวันที่ 12-31 ต.ค.2567 ประมาณ 45 นาทีหลังดวงอาทิตย์ตก ซึ่งสามารถใช้ดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวต่าง ๆ และดาวศุกร์ที่อยู่ทางซ้ายมือช่วยในการระบุตำแหน่งของดาวหาง
ภาพจาก : สมาคมดาราศาสตร์ไทย แผนที่แสดงตำแหน่งดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัสเทียบกับดาวฤกษ์ระหว่างวันที่ 12–31 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 45 นาที หลังดวงอาทิตย์ตก
รู้จัก "ดาวหาง" คืออะไร เกิดขึ้นจากอะไร
หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก และอาจเป็นเรื่องใหม่ของใครหลาย ๆ คน มาทำความรู้จักกับ "ดาวหาง" ให้มากยิ่งขึ้น คืออะไร มาจากไหน เรื่องนี้ ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้อธิบายไว้ ดังนี้
"ดาวหาง" มีส่วนประกอบสำคัญที่สุด นั้นคือ นิวเคลียส ซึ่งเป็นก้อนแข็งมีโครงสร้างแบบที่เรียกว่า "ก้อนหิมะสกปรก" มีองค์ประกอบหลักเป็น หิน น้ำแข็ง ฝุ่น และ แก๊สเยือกแข็งอีกบางชนิด เช่นคาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนีย มีเทน
เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ความร้อนจากดวงอาทิตย์ทำให้น้ำแข็งระเหิดออกเป็นไอ และพ่นออกเป็นลำจากนิวเคลียสตามจุดที่เป็นช่องเปิดบนพื้นผิว
ไอน้ำที่พ่นออกมาได้หอบเอาฝุ่นที่ปะปนอยู่ออกมาด้วย แก๊สและฝุ่นที่พ่นออกมาก่อตัวเป็นชั้นเมฆเบาบางห่อหุ้มก้อนน้ำแข็งอยู่ เรียกว่า โคมา ยิ่งดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น อัตราการคายแก๊สและฝุ่นก็เพิ่มขึ้น โคมาของดาวหางก็จะใหญ่ขึ้นมาก
เมื่อรังสีและลมสุริยะจากดวงอาทิตย์พัดมาถึงดาวหาง ก็จะกวาดให้แก๊สและฝุ่นให้ปลิวไปด้านหลังจนมองเห็นเป็นหาง อันเป็นเอกลักษณ์ของดาวหาง นั้นเอง
ภาพจาก : สมาคมดาราศาสตร์ไทย
ค้นพบดาวหางใหม่ "ดาวหางแอตลัส"
ในระหว่างที่เรากำลังมองหา "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ยังได้มีการค้นพบ "ดาวหางแอตลัส" หรือ C/2024 S1 (ATLAS) ผ่านเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ณ หมู่เกาะฮาวาย จัดเป็นดาวหางในกลุ่ม Kreutz sungrazer
ดาวหางดวงนี้มุ่งหน้าเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในช่วงสิ้นเดือน ต.ค.นี้ และมีทิศทางการเคลื่อนที่สอดคล้องกับดาวหางกลุ่ม "Kreutz sungrazer" ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีวงโคจรเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก และเป็นกลุ่มเดียวกับดาวหาง Lovejoy และ Ikeya-Seki จึงมีโอกาสสูงมากที่ดาวหางจะเพิ่มความสว่างมากกว่านี้หลายเท่าตัว
ภาพจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ดาวหางแอตลัส C/2024 S1 (ATLAS)
ดาวหางแอตลัส มีความสว่างปรากฏล่าสุดอยู่ที่ประมาณแมกนิจูด 13.1 คาดว่าจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุด ในวันที่ 24 ต.ค.2567 ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 131 ล้านกิโลเมตร จากนั้นจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 28 ต.ค. 2567 ที่ระยะห่างประมาณ 1.2 ล้าน กม. ซึ่งเป็นระยะที่เฉียดใกล้มาก ในช่วงเวลานี้เองที่ดาวหางจะปรากฏสว่างมาก
ก่อนทิ้งท้ายเดือน ต.ค.2567 ยังมีดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ให้ติดตาม จากนั้นจะเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ทำให้ไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ ก่อนจะค่อย ๆ ถอยห่างออกจากโลกไป และในช่วงเวลานั้นเองที่ "ดาวหางแอตลัส" จะมาให้ลุ้นชมกันต่อ อย่าลืมติดตาม เก็บภาพความทรงจำ ปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ในปีนี้ เพราะยังมีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นอีก
อ้างอิงข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, สมาคมดาราศาสตร์ไทย
อ่านข่าว : เริ่มงานต้นปีหน้า "เป่าลี่-ชิงเป่า" นักการทูตจีนคู่ใหม่ถึงสหรัฐฯ แล้ว
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส
- ดาวหางใกล้โลก
- รู้จักดาวหาง
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
- สมาคมดาราศาสตร์ไทย
- C/2023 A3
- Tsuchinshan-ATLAS
- วิธีดูดาวหาง
- ดาวหางจื่อจินซาน
- เทคนิคหาตำแหน่งดาวหาง
- ดาวหางแอตลัส
- ดูดาว2567
- ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์
- ดาราศาสตร์2567
- ดาวหาง คืออะไร
- ข่าววันนี้
- ข่าวล่าสุด
- ข่าววันนี้ล่าสุด
- กล้องโทรทรรศน์ ATLAS
- ตำแหน่งดาวหาง